อัพสปีดความมั่งคั่งด้วย ...การลงทุนต่างประเทศ
ไขข้อข้องใจ ลงทุนในต่างประเทศให้ประโยชน์อะไรกับความมั่งคั่งของผู้ลงทุนบ้าง? ผ่านตัวอย่างพอร์ตการลงทุนสมมติของนักลงทุน ที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง หรือรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตลาดที่เหวี่ยงขึ้นลงได้
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน วันนี้ผมจะเริ่มเขียนเรื่องของการบริหารความมั่งคั่งโดยการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยคร่าวๆ น่าจะเป็นบทความต่อเนื่องกันประมาณ 3-4 ตอนด้วยกัน แต่ว่าแต่ละตอนจะจบในตัวของมันเอง ซึ่งก็จะทำให้เนื้อหาสมบูรณ์ขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอ่านแบบต่อเนื่องกัน เนื่องจากเรื่องของการลงทุนในต่างประเทศนั้น เราคงพอมีประสบการณ์และได้รับข้อมูลข่าวสารมาต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่การเติบโตของหุ้นเทคโนโลยีในอเมริกา (หรือจากประเทศจีน) กำลังเป็นกระแสอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของเทสล่า เฟซบุ๊ค อเมซอน หรือติ๊กต็อก เป็นต้น
ผมจะเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามแรกว่า ลงทุนในต่างประเทศให้ประโยชน์อะไรกับความมั่งคั่งของเรา โดยผมขอสมมติพอร์ตการลงทุนของนักลงทุน ที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตลาดที่เหวี่ยงขึ้นลงได้ หรือสามารถยอมรับการขาดทุนในแต่ละไตรมาสหรือแต่ละปีได้ในระดับหนึ่ง โดยผมให้พอร์ตที่เหมาะสมของนักลงทุนท่านนี้ กระจายการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย 30% ตลาดหุ้นไทย 50% และลงทุนในทองคำอีก 20% และให้มีการปรับพอร์ตให้กลับมาอยู่ในน้ำหนักนี้ทุกๆ เดือน โดยจะเริ่มลงทุนด้วยเงินทุนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ตั้งแต่กลางปี 2012 และถือยาวมาจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.ปีนี้
เริ่มต้นเรามาดูผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนนี้กันครับ ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ณ สิ้นเดือน ส.ค.ปีนี้ พอร์ตการลงทุนนี้จะมีมูลค่าขึ้นมาอยู่ที่ 5 ล้านเศษๆ ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 9.7% (คำนวณจากผลตอบแทนรายวันเฉลี่ยแบบต่อปี) และมีค่ากลางที่ 14% (สะท้อนว่าพอร์ตนี้มีการกระจายตัวที่ค่อนข้างเบ้ไปทางบวก)
ความผันผวนของพอร์ตนี้ (วัดจากค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานรายวันแปลงเป็นต่อปี) อยู่ที่ 10.8% ซึ่งผมถือว่าเป็นค่าความผันผวนที่อยู่ในระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนท่านนี้รับได้ เมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงเดียวกันที่ 12.8% ก็จะเห็นว่าน้อยกว่ากันไม่มากนัก แต่ความผันผวนจากตลาดหุ้นไทยจะอยู่ที่ 19.8% ซึ่งเป็นความผันผวนที่มากเกินกว่าระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนท่านนี้อาจจะยอมรับได้
และหากมาดูตัวเลขการปรับตัวลดลงสูงสุดจากการลงทุน (maximum drawdown) ตลอดช่วงเวลาลงทุนของพอร์ตการลงทุนมีค่าเท่ากับ 41% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าสูงอยู่ (แต่ถ้าเรามาดูจากผลตอบแทนรายปี ค่าตัวเลขนี้จะลดลงมาเหลือเพียง 18.7% ซึ่งเป็นผลตอบแทนในปี 2008 ที่เกิดวิกฤติ) ในขณะที่ค่าตัวเลขแบบเดียวกันจากการลงทุน 100% ในตลาดหุ้นไทยจะสูงถึง 77.9%
นี่เป็นผลของการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีไม่ด้อยไปกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นมากนัก ในขณะที่สามารถลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้มากกว่า
คราวนี้มาลองดูว่า ถ้านักลงทุนคนนี้ลงทุนทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยลงมาเหลือ 20% และอีก 30% ไปลงทุนในตลาดแนสแด็ก (NASDAQ) เราจะพบว่าพอร์ตการลงทุน ณ สิ้นเดือน ส.ค. จะมีค่าเกือบถึง 6 ล้านสามแสนบาท!! ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี โดยผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 11.3% ค่ากลางผลตอบแทนอยู่ที่ 16.1% ซึ่งสะท้อนการกระจายตัวที่เบ้ไปทางบวกเช่นเดียวกัน
และถ้าเรามาดูในมิติของความเสี่ยงจะพบว่า ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานอยู่ที่เพียง 9.5% ซึ่งน้อยกว่า 10 อีก และค่าการปรับตัวลดลงสูงสุดจากการลงทุนจะลดลงมาเหลือเพียง 35% นั่นหมายความว่า พอร์ตสองที่มีการลงทุนในต่างประเทศนั้นเหนือกว่าพอร์ตแรก โดยสามารถพิจารณาจากทั้งตัวเลขผลตอบแทนที่สูงขึ้นเกือบ 2% ต่อปี และค่าความผันผวนที่ลดลงอีกเปอร์เซ็นต์กว่าๆ หรือค่าการปรับตัวลดลงสูงสุดจากการลงทุนที่ลดลงกว่า 6%
นอกเหนือจากค่าตัวเลขดังกล่าวหากเราจะมาดูผลตอบแทนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าตัวเลขของพอร์ตที่ลงทุนในแนสแด็กให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าทุกปี อย่างในปีล่าสุด พอร์ตแรกติดลบ 0.6% ในขณะที่พอร์ตหลังจะให้ผลตอบแทนบวกไปถึง 14.5%
ผมเชื่อว่าตัวอย่างคร่าวๆ ที่ยกมานี้ จะสามารถตอบคำถามที่ว่าลงทุนในต่างประเทศแล้วให้อะไรกับความมั่งคั่งของเรา (แม้ว่าตัวอย่างนี้จะค่อนข้างลำเอียง เพราะเลือกลงทุนในตลาดหุ้นแนสแด็กก็ตาม) ในคราวหน้าผมจะมาขยายความต่อว่า เมื่อเห็นประโยชน์แล้วเรามีทางเลือกอะไรบ้างในการลงทุนในต่างประเทศนี้
ท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านมีความสุขและโชคดีกับการลงทุนครับ