โหมโรง‘หุ้นแบงก์’ รับมือวิกฤติ ปัจจัยพลิกมูลค่าแบงก์อนาคต
ภาวะเศรษฐกิจที่ทั้งโลกและไทยกำลังเผชิญ คือ การเติบโตที่ถดถอย และยังคาดการณ์ได้ยากว่าจะฟื้นเมื่อไร
เมื่อต้องผูกติดกับวัคซีนโควิด-19 ที่สามารถใช้กับมนุษย์ได้จริง ขณะที่ในไทยเองเจอปัญหาเฉพาะตัวที่เป็นระเบิดเวลา คือ หนี้ที่ทวีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้กลายเป็นความกังวลใจหลักของผู้กำกับดูแลอย่างแบงก์ชาติ
ตัวเลขดังกล่าว ณ 31 ก.ค.2563 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินครอบคลุมทั้งการเลื่อนพักชำระหนี้การลดภาระผ่อนชำระต่อเดือนด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญาการลดอัตราดอกเบี้ยรวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญาใหม่ เป็นตัวเลขทั้งสิ้น 7.2 ล้านล้านบาทคิดเป็น 12.5 ล้านบัญชี
สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือหลังสิ้นเดือน ก.ย. ซึ่งสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และต้องกลับมาชำระหนี้ตามเดิม จะส่งผลทำให้เกิดตัวเลขหนี้เพิ่มขึ้นสูงอีกแค่ไหน ยิ่งในภาวะที่ภาคการท่องเที่ยวและบริการยังไม่ฟื้น ขาดรายได้ใหญ่จากต่างชาติเข้ามา เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 รอบ 2 รอบ 3 ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศแทบเอเชีย และยังไม่ดีขึ้นในแทบยุโรป
ดังนั้นภาคการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์ จึงเป็นด่านแรกและด่านใหญ่ที่ต้องสอดส่องความแข็งแกร่งจะรองรับเศรษฐกิจที่อาจจะไม่ฟื้นตัวเร็วอย่างที่คาดการณ์ได้มากน้อยเพียงไร และเป็นที่มาทำให้ แบงก์ชาติ มีการทดสอบการดำเนินธุรกิจในภาวะวิกฤติ หรือ Stress Test ในปีนี้ถึง 2 ครั้ง เพื่อรองรับเหตุการณ์อีก 3 ปีข้างหน้าหรือถึงปี 2565
ผลทดสอบล่าสุดจะออกมาในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งสามารถชี้ชะตาว่าธนาคารพาณิชย์แข็งแรงกว่าเดิม จนสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในรอบสิ้นปี 2563 ทันทีหรือไม่ และจะส่งผลต่อทิศทางราคาหุ้นที่มูลค่าอัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E)ปรับตัวลดลงไปต่ำมาก หลังจากก่อนหน้านี้แบงก์ชาติห้ามให้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลและซื้อหุ้นคืนในตลาดหุ้น
ความเคลื่อนไหวของธนาคารใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) พึ่งระดมทุนในตราสารที่เรียกว่า “Additional Tier 1 Capital” (AT1) ในวงเงิน 7,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 2.2 แสนล้านบาท ในรูปแบบของ Global Medium Term Note facility
โดยเป็นการออกหุ้นกู้เพื่อเพิ่มเข้าใน Tier-1 ล็อตแรกที่ 750 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 24,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ทำให้มีการตีความว่าเสริมความแข็งแกร่งของแบงก์ที่ให้ผ่านผลทดสอบ ต.ค. นี้ และกลายเป็นข่ววบวกให้กลุ่มแบงก์ช่วงหนึ่งไปด้วย
หากเมื่อดูจากผลทดสอบ Stress Test ก่อนหน้านี้เดือน ก.ค. ออกมาดีตามคาดคือ มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio ) 19.2% ดีกว่าตัวเลขก่อนหน้านี้อยู่ที่ 18.7% จากเกณฑ์ขั้นต่ำแบงก์ชาติกำหนด 12% มีเงินกองทุนอยู่ที่ 2,877,000 ล้านบาท มีเงินสำรองอยู่ที่ 743,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา 144.1%
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นตามการตั้งสำรองของธนาคารช่วงไตรมาสดังกล่าวขึ้นมาอยู่ที่ 73,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 120.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 33,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรองรับหนี้เสียที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงล็อกดาวน์จากโควิด-19
จากยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ที่ 3.09% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.04% ด้วยการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เชิงป้องกัน ท่ามกลางการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ยังลดลง แม้ว่าตัวเลขไตรมาส 2 ปี 2563 ออกมาเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 4.1%
การเติบโตดังกล่าวมาจากสินเชื่อภาครัฐและซอฟท์โลน ส่วนสินเชื่อรายใหญ่เพิ่มขึ้นแค่บางกลุ่ม สวนทางกับสินเชื่อ เอสเอ็มอี ที่ปรับตัวลดลง และสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ชะลอตัวลงเช่นกัน ซึ่งสิ่งหนึ่งมาจากการปล่อยสินเชื่อที่ยากขึ้นของธนาคาร ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน บางธุรกิจได้รับผลกระทบหนักทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพราะอาจจะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตเพิ่มขึ้นได้
ขณะที่ผลการดำเนินงานของธนาคารช่วงดังกล่าวลดลงมีกำไรสุทธิ 31,000 ล้านบาท ลดลง 49% ช่วงเดียวกันปีก่อน มีรายได้ลดลงทั้งรายได้ดอกเบี้ย ตามดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นขาลง ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมลดลงเช่น
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ดังกล่าวนายแบงก์ทุกคนรู้ถึงปัญหาและมีทางแก้ไขได้ไม่มากก็น้อย เพราะต้องยอมรับว่าเกือบทุกธนาคารได้ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้ง หนี้พุ่งทะลุเพดาน กันชนไม่มีรองรับมากพอ จนต้องขายสินทรัพย์ ขายหุ้น แต่วันนี้ ธนาคารทุกแห่งมีบทเรียนมากพอที่จะรับมือวิกฤติ