แรงงานใหม่ 'อีอีซี' ต้องปรับเปลี่ยน-ยกระดับ
"EEC" เมกะโปรเจครัฐที่พยายามผลักดันตามเป้า 4 ด้าน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เมืองใหม่และชุมชน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกส่วนที่สำคัญคือ การพัฒนาบุคลากร Upskill and Reskill ให้ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 เป็นแรงงานฝีมือมีความเชี่ยวชาญ
จากแผนพัฒนางบประมาณ 2564 ใน “โครงการแห่งอนาคต EEC 2564” ของ “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (สกพอ.) พอสรุปได้ว่าเป้าหมาย EEC คือ เน้นพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เมืองใหม่และชุมชน
เป้าหมายการลงทุน คือ ภาครัฐบวกภาคเอกชน มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาทใน 5 ปีแรกเป้าหมายเศรษฐกิจ คือ ขยายตัวเพิ่ม 2% ทำให้ GDP ของประเทศโต 5% ต่อปี ในปี พ.ศ.2564 ตามแผนการใช้งบประมาณนั้น สามารถคาดการณ์ได้ถึงโครงการสำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้วงเงินงบประมาณรายจ่าย 18,413 ล้านบาท และรวมเงินนอกงบประมาณ 740 ล้านบาท
หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการต่างๆ ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม ขณะที่รัฐวิสาหกิจประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และองค์กรส่วนท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม ยังมีหน่วยงานเจ้าภาพสำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หน่วยสนับสนุน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทางหลวง เป็นต้นที่จะดูแลให้การพัฒนาครบวงจรและสามารถยกระดับเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิต การอุตสาหกรรมของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายได้สำเร็จ
ในส่วนของ “การพัฒนาบุคลากร” เพื่อรองรับโครงการ EEC นั้น สำนักงาน สกพอ.ได้ร่วมมือกับ บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริค จำกัด มหาวิทยาลัยบรูพา และ JETRO ของญี่ปุ่น ด้วยเงินลงทุนจำนวน 100 ล้านบาท ใน “โครงการฝึกอบรมวิศวกร”
“โครงการฝึกอบรมวิศวกร” ที่ว่านี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาและเพิ่มความรู้ความสามารถและทักษะความชำนาญให้กับแรงงานที่มีทักษะสูง หรือมีศักยภาพสูง (Skilled Labour) โดยเฉพาะนักเรียนอาชีวะ นักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิศวกร เพื่อตอบสนองต่อ S-curve ตามยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับทักษะความชำนาญของวิศวกรในประเทศไทย เพื่อให้สามารถทำงานในโรงงานที่ทันสมัยและมีการใช้เทคโนโลยีระดับสูง
ความร่วมมือใน “โครงการฝึกอบรมวิศวกร” นี้ จะเป็นการมุ่งมั่นในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมในบ้านเราสามารถก้าวเข้าสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” (Industry 4.0) ได้ทันการอย่างมีคุณภาพ โดยมีศูนย์ “EEC Automation Park and EEC Human Development Center” ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยบูรพา ที่จ.ชลบุรีเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่า 30% และคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี พ.ศ. 2564 ตามเป้าหมาย
ทุกวันนี้ แรงงานที่มีทักษะความชำนาญสูง (แรงงานฝีมือ) และวิศวกร จะมีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของ “โครงการ EEC” อย่างมาก โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในเรื่องของการทำงานในระบบอัตโนมัติ ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในเบื้องต้นนี้โครงการ EEC มีความต้องการ “แรงงานฝีมือ” มากถึง 37,000 คน ภายใน 5 ปี
“โครงการฝึกอบรมวิศวกร” นี้ ยังครอบคลุมถึงการยกระดับฝีมือแรงงานและการปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานใหม่ด้วย (Upskill and Reskill) เพื่อให้แรงงานที่มีอยู่สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป
การพัฒนาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุค “Industry 4.0” หรือ “Thailand 4.0” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ สร้างมูลค่าเพิ่มอย่างเป็นระบบนั้น เราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” เพื่อนำไปสู่ “ความทันสมัย” และ “ความสามารถในการสร้างรายได้” อย่างยั่งยืน
ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมี EEC หรือไม่ก็ตาม เราก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อการพัฒนาตนเองในทุกๆ “โอกาส” ที่มี ด้วยการ “ปรับเปลี่ยน” และ “ยกระดับ” ความรู้ความชำนาญให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ครับผม!