'ชาวนา' เชื่อมีกระบวนการทุบราคาข้าว
ชาวนา เชื่อมีกระบวนการทุบราคาข้าวหวังช้อนซื้อช่วงผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาด ระบุไม่ห่วงเหตุส่วนใหญ่ไม่มีข้าวอยู่ในมี ขณะที่ผู้ส่งออกรับปีนี้แนวโน้มดิ่งหนักหลังตลาดแข่งขันสูง ด้านสศก.เชื่ออีกราคาข้าวเปลือกไม่ร่วงอีกปัจจัยตลาดแย่งซื้อข้าวใหม่ “กรมการค้าต่
นายสุเทพ คงมาก ตัวแทนชาวนาในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เปิดเผยว่าราคาข้าวที่ปรับลดลงในขณะนี้ไม่ได้กระทบกับเกษตรกร เนื่องจากไม่มีข้าวอยู่ในมือ ขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะเป็นโรงสีและผู้ส่งออก โดยราคาที่ลดลง คาดว่าเพราะผู้นำเข้ารอข้าวฤดูใหม่มีกำลังจะออกสู่ตลาดในช่วง 2 เดือนข้างหน้า รวมทั้งเป็นกลไกการตลาดปกติที่ราคาจะลดลงในช่วงนี้เพราะยังมีกลุ่มผลคนที่แสวงหาผลประโยชน์จากเกษตรกร โดยสร้างกระแสราคาให้ต่ำลงเพื่อจะกดราคารับซื้อข้าวที่กำลังจะถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวช่วงสิ้นปี
อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาข้าวดังกล่าวคาดว่าจะไม่ลงไปมากกว่านี้ เมื่อพิจารณาจากราคาข้าวนาปรังที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อตันข้าวเปลือก ส่วนราคาข้าวหอมมะลิ ที่มีระยะเก็บเกี่ยวสั้น ออกสู่ตลาดช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งข้าวสดสามารถขายได้ในราคา 1.7-1.8 หมื่นบาทต่อตันข้าวเปลือก
“ผมว่าราคาข้าวจะไม่น่าจะตกต่ำ แต่คงสูงกว่านี้ไม่ได้เพราะ พื้นที่การทำนาไม่ได้ลดลง แม้ช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยคาดว่าข้าวหอมมะลิจะได้ผลผลิต ไม่เกิน 6 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงเล็กน้อยจากผลผลิตปกติที่เคยได้ 7.5 ล้านตันข้าวเปลือก ในส่วนนี้จะส่งออก ประมาณ 1.2 ล้านตันข้าวสาร"
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวจะออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีความต้องการสต็อกข้าวไว้มากกว่าปกติ หรือ panic buying ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม จากสภาพอากาศขณะนี้ที่ปริมาณน้ำมีเพียงพอทำให้ประเมินว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากและประกอบกับผลสะท้อนจาก panic buying ทำให้ขณะนี้ผู้ซื้อหลายประเทศมีสต็อกเกิน
ดังนั้น ความต้องการซื้อข้าวจึงลดลง จึงประเมินว่าการส่งออกข้าวปี2563 น่าจะไม่สดใสแม้สมาคมฯจะปรับลดเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 6-6.5ล้านตัน แต่ยอมรับว่าจากการประเมินสถานการณ์ขณะนี้ มีแนวโน้มไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะเหลือเวลาอีก 4เดือน โดยเฉลี่ยส่งออกได้เดือนละ 4 แสนตัน ขณะที่การส่งออกสะสมล่าสุด(ม.ค.-ส.ค.)ที่ 3.6 ล้านตัน จึงประเมินว่า ปีนี้อาจมีแนวโน้มการส่งออกที่ไม่ดีเท่าที่ควร
คาดส่งออกข้าวปีนี้ดิ่งต่อ
“การส่งออกที่ลดลง สะท้อนปัญหาสะสมของโครงสร้างการผลิตข้าวไทย เพราะไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูง จึงต้องกำหนดราคาสูงจึงสู้คู่แข่งไม่ได้ประกอบกับพันธุ์ข้าวไม่ตอบโจทย์ตลาด เมื่อรวมกับปัจจัยแวดล้อมตลาดโลกเชื่อว่าส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง"
สำหรับภาพรวมตลาดโลกพบว่า ปัจจุบันที่หลายประเทศมีสต็อกข้าวมาก เช่น จีนที่มีสูงถึง 120 ล้านตัน จากเดิมเป็นผู้ซื้อก็ผันมาเป็นผู้ขายและพร้อมดั้มราคาต่ำเพื่อให้ได้คำสั่งซื้อ เช่นเดียวกับอินเดียที่ผลผลิตดีจนปีนี้คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น
การส่งออกข้าวที่ลดลงกำลังเป็นเงื่อนไขกดดันราคาข้าวในประเทศให้ลดลงแต่ชาวนาจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะมีโครงการประกันรายได้ แต่อยากเห็นการแก้ปัญหาข้าวในระยะยาวเพื่อให้ทุกภาคส่วนในกระบวนการผลิตและจำหน่ายข้าวพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งการมียุทธศาสตร์ข้าวฯถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแต่ยอมรับว่าอาจมีปัญหาในทางปฎิบัติจริง
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ราคาข้าวในช่วงนี้ปรับตัวลดลงเพราะผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอข้าวใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในอีก 2 เดือนข้างหน้า และข้าวในฤดูฝนมีความชื้นสูงทำให้ได้ราคาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันคุณภาพข้าวที่ไทยผลิตได้ ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ที่ต้องการข้าวพื้นนิ่ม แต่ไทยผลิตข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวแข็งหรือข้าวขาว ไม่เป็นที่นิยม ทำให้ตลาด ชะลอตัว และหันไปซื้อข้าวพื้นนิ่มของเวียดนามมากขึ้น
นอกจากนี้ ราคาข้าวไทยยังสูงกว่ามาก แม้ไทยจะพยายามผลิตข้าวพื้นนิ่ม จำพวก กข. 43 , กข. 79 เป็นต้น แต่รสชาติยังไม่เป็นที่นิยม อีกทั้งข้าวจากเวียดนามที่เจาะตลาดข้าวพื้นนิ่มมานาน มีความเป็นได้ที่ผู้บริโภคจะติดรสชาติข้าวเวียดนามไปแล้วซึ่งมีความเหนียวนุ่มคล้ายกับข้าวหอมมะลิของไทยแต่มีราคาถูกกว่า
เกษตรปรับพันธุ์ป้อนตลาด
“การผลิตข้าวพื้นนิ่มของไทย จะมุ่งปลูกข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น จากเดิมที่ใช้เวลากว่า 120 วัน ปัจจุบันบางพันธุ์ มีอายุการเก็บเกี่ยวเพียง 90 วัน และ 75 วัน เท่านั้น ทำให้สะสมสารอาหารไม่พอ ทำให้รสชาติไม่อร่อย ทานไปแล้วไม่รู้สึกอิ่ม”
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐกับเอกชนอยู่ระหว่างการศึกษาและหาแนวทางเจาะตลาดแปรรูปสินค้ามูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น ควบคู่ไปกับการวิจัยพันธุ์ที่ให้ผลผลิตตรงกับความต้องการของตลาด
สำหรับผลผลิตในปี 2564 คาดว่าจะมีไม่เกิน 27 ล้านตันข้าวเปลือก แบ่งเป็นข้าวนาปี 2563/64 คาดว่าจะได้ไม่เกิน 25 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนข้าวนาปรัง เนื่องจากในปีนี้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีน้อย คาดว่าจะมีประมาณ 2-3 ล้านตันเท่านั้น
ด้านแนวโน้มราคา เนื่องจากผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาดไม่มาก ประกอบกับราคาข้าวที่ปรับตัวลดลงอยู่แล้ว ดังนั้นจึงคาดว่า ผลผลิตข้าวในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะอยู่ในระดับปัจจุบัน หรือไม่ลดลงไปกว่านี้อีกแล้ว ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลได้เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการประกันราคาข้าว พร้อมกับการรับจำนำในยุ้งฉางเพื่อชะลอข้าวไม่ให้ออกสู่ตลาดเร็วเกินไป ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบกับเกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง
พาณิชย์เร่งฟื้นตลาด-ผลิต
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ราคาข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่งเฉลี่ย 30-50ดอลลาร์ต่อตัน ประกอบกับไทยมีชนิดข้าวที่ไม่หลากหลายมากพอจึงแข่งขันยาก ซึ่งยังไม่รวมปัจจัยแวดล้อมจากตลาดอื่นๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ปริมาณสต็อกที่แต่ละประเทศมีอยู่
ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกข้าวของไทยที่เผชิญปัญหาการส่งออกลดลงต่อเนื่อง เพราะไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงเนื่องจากมีผลผลิตต่อไร่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง รวมถึงปัจจัยการผลิตอื่นๆก็มีราคาสูง
“ปีนี้คงต้องคาดการณ์การส่งออกใหม่จากเดิมคิดไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ซึ่งอาจจะลดลงแต่ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายเพราะตลาดส่งสัญญาณมาอย่างต่อเนื่อง เช่น อินเดียที่มีผลผลิตดีจนคาดว่าจะส่งออกมากและทำให้ราคาตลาดแข่งขันกันนักขึ้นไปอีก รวมถึงจีนที่เข้ามาเป็นคู่แข่งอีกประเทศ เพราะก่อนหน้านี้จีนมีพัฒนาการผลิตข้าวที่รวดเร็วและน่าจับตามาก”
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่กระทรวงพาณิชย์ใกล้ชิดกับผู้ประกอบการจึงกำหนดการยุทธศาตร์ข้าวฯที่ไม่เพียงแก้ปัญหาในระยะยาว แต่ยังกำหนดแนวทางแก้ปัญหาแบบครบวงจร ซึ่งจะฟื้นฟูและวางรากฐานข้าวไทยในอนาคตให้สดใสด้วย
ส่วนการดูแลตลาดข้าวในเบื้องต้น ยึดหลักฟื้นฟูตลาดเก่า แสวงหาตลาดใหม่ แม้จะเป็นช่วงโควิด แต่ปัญหาไม่สามารถเดินทางทำตลาดในต่างประเทศได้ก็ไม่ใช่อุปสรรค เพราะได้นำระบบ virtual market ที่สามารถติดต่อและพูดคุยกับลูกค้าในต่างประเทศได้เพื่อสร้างความมั่นใจให้ตลาด ให้ผู้ซื้อพร้อมที่จะซื้อข้าวจากไทยต่อไปและเพิ่มปริมาณการซื้อ ล่าสุดได้หารือกับBERNASหน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าข้าวของมาเลเซียและผู้นำเข้าที่ฮ่องกง และมีแผนจะหารือกับผู้ซื้อในต่างประเทศในตลาดอื่นๆอีกอย่างต่อเนื่อง