จับตาหนี้! 'ระเบิดเวลา' ลูกใหม่ ทุบซ้ำธุรกิจโรงแรมภูเก็ต
โควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงแรมในสวรรค์บนดินอย่างภูเก็ตต้องดิ่งเหว จากเคยทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นภาระ "หนี้" เข้ามาแทน ยิ่งเปิดยิ่งขาดทุน ครั้นไม่เปิด ก็ไม่เงินสดหมุนเวียนเข้ามา สุดท้ายต้องกู้แบงก์มาประคองธุรกิจ
เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง “ภูเก็ต” ได้รับสมญานามเป็น “สวรรค์บนดิน” เพราะมีธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะ “ทะเล” ที่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องการมาเยือนสักครั้งในชีวิต แม้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนห้องพักของโรงแรมจะล้นตลาด แต่เมื่อเทียบกับโอกาสทำเงินจากนักเดินทาง ที่ยังมีอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่เคยมาภูเก็ต ขณะที่ห้องพักมีหลากหลายคุณภาพ ทำให้มีผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาโรงแรมตอบโจทย์นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
เมื่อผู้ประกอบการอยู่ในจุดหอมหวาน สร้างรายได้จากธุรกิจพักผ่อนหย่อนใจ(Hospitality) แต่ทันทีที่โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้เจ้าของกิจการทั้งรายเล็ก-ใหญ่ตกสวรรค์ ยิ่งกว่านั้นการล็อกดาวน์ นักท่องเที่ยวหยุดเดินทาง น่านฟ้าหยุดให้บิน ฉุดให้ผู้ประกอบการตกเหว ปัจจุบันโรงแรมในภูเก็ตเริ่มเปิดให้บริการบางส่วน แต่มาตรการรัดเข็มขัดต้องเข้มต่อ เพื่ออยู่รอด
เร็วๆนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อติวเข้มผู้ประกอบการให้ปรับตัวหวังอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติ กับหลักสูตร The Hospitality Survival จึงเป็นโอกาสดีที่ได้ฟังเสียงสะท้อนจากเจ้าของกิจการโรงแรมตัวจริงถึงสถานการณ์ที่ล่าสุด
“ธุรกิจถึงจุดต่ำสุดหรือยัง..คิดว่ายัง เพราะตราบใดที่ยังไม่มีอะไรจับต้องได้ วิกฤติยังคงอยู่” มุมมองจาก นิวัฒน์ จันทร์ตระกูล เจ้าของโรงแรม 6 แห่งในจังหวัดภูเก็ต เช่น โรงแรมเอทู รีสอร์ท โรงแรมแอคเซส รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า และโรงแรมอิมเพรส รีสอร์ท
ขณะที่การเอาตัวรอดบนเส้นทางธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมาตรการ “ลดต้นทุน” โรงแรมงัดทุกอย่างมาดำเนินการหมด จนไม่รู้จะลดจุดไหนได้อีก และเชื่อว่าทุกทางรอดผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกันทำมาหมดแล้ว นอกจากนี้ การเปิดโรงแรมท่ามกลางเมืองภูเก็ตที่ทำได้แค่ “แง้ม” ประตูรับนักท่องเที่ยว สุดท้ายต้นทุนในการบริหารจัดการหรือโอเปอเรชั่นคอสต์ยังมากกว่ารายได้ เรียกว่ายิ่งเปิดยิ่งขาดทุน “กลืนเลือด” ต่อไป
สถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการจะยืนระยะไหวแค่ไหน นิวัฒน์ ตอบทันควัน “สิ้นปี 2563” เพราะ “ระเบิดเวลา” ลูกใหม่ที่จะซ้ำเติมธุรกิจ คือมาตรการผ่อนปรนให้เลื่อนชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งจะสิ้นสุดเดือนตุลาคมนี้ นั่นหมายความว่า “ลูกหนี้” สถาบันการเงินทั้งหลายเตรียมแบกภาระต้นทุนจาก “ดอกเบี้ย”
โรงแรม A2 ของ "นิวัฒน์" ซึ่งมีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 20-25% ช่วงวิกฤติการเข้าพักต่ำมากเพียง 1-2 ห้อง
“หากสิ้นสุดมาตรการเลื่อนชำระหนี้ ผู้ประกอบการที่อยู่ได้คือไม่กู้แบงก์ มีเงินเย็นในการบริหาร แต่ก็มีภาระต้องดูแลพนักงาน ค่าใช้จ่ายต่าง ซึ่งเหนื่อยมาก” ท่ามกลางโรคโควิดยังไม่จางหาย ประโยคให้กำลังใจที่ได้ยินบ่อยหนีไม่พ้นในวิกฤติมีโอกาส ทว่า “นิวัฒน์” กลับเห็นแต่วิกฤติอยู่บนวิกฤติ เพราะยุคที่ไวรัสทำลายล้างสูงเช่นนี้ หากใครมีโครงการยื่นกู้แบงก์ ยากจะอนุมัติ ต่างจากปี 2540 ยังมีโอกาสลุ้นก่อร่างสร้างกิจการได้ “อดีตจะประสบความสำเร็จต้องมีโอกาสและเงินทุน ตอนนี้ต่อให้มีโอกาสแต่ไม่มีทุนก็เป็นไปไม่ได้”
ธรรมรวี จันทร์ตระกูล ผู้ช่วยผู้บริหารการเงิน และทายาท “นิวัฒน์” เล่าว่า ห้วงเวลานี้โอกาสทางธุรกิจมีน้อยมาก เช่น ทำตลาดออนไลน์ โรงแรมมุ่งจับนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่ผู้ประกอบการทุกรายหันมาทำแบบเดียวกันหมด อีกทั้งตลาดยังไม่ฟื้นตัว 100% ทุกอย่างเป็นความท้าทายมาก
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งการแพร่ระบาดของโรคในต่างประเทศ รัฐเปิดให้ต่างชาติเข้าไทย ฯ ซึ่งกระทบธุรกิจโดยตรง และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผล “ดี” หรือ “ลบ” ทำให้วางแผนทำงานยากขึ้น
“ทุกอย่างเหมือนระเบิดเวลา เรากู้แบงก์มาประคองธุรกิจ หากยังเลือดไหล ไม่รอดก็จะระเบิด หากมีคนมาตัดสายระเบิดทันก็รอด”
การกระจายความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการรับรู้มาตลอด แต่ 3 ปีของการลุยธุรกิจโรงแรม ทำรายได้จนใกล้จะจ่ายเงินกู้ให้แบงก์ได้หมด และมีเงินทุน “กำไร” ไปหล่อเลี้ยงบริษัท แต่โควิดทำให้ทุกอย่างกลับไปสู่จุดตั้งต้นอีกครั้ง และอาจ “ติดลบ” ด้วย มุมมองจาก เกรียงศักดิ์ กิติเกียรติศักดิ์ หนึ่งในหุ้นส่วนบริษัท เอ แอนด์ เอ ลากูน จำกัด ผู้บริหารโรงแรมสุพิชฌาย์ พูล แอคเชส ฉายภาพ
วันนี้การมีไข่ในตระกร้าหลายใบถูกนำมาใช้ เดิมโรงแรมมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 100% ต้องไปขยายไปยังคนไทย การขายห้องพักผ่านเอเย่นต์ ต้องปรับมารุกออนไลน์ ส่งทีมงานเรียนรู้การทำตลาดดิจิทัลมากขึ้นเพื่อให้อยู่รอดและรับมือความเสี่ยงในอนาคต
โรงแรมสุพิชฌาย์ ที่เคยมีนักท่องเที่ยวเข้าพักเต็ม ปัจจุบันลดราคามากกว่า 50% เพื่อดึงนักท่องเที่ยวคนไทย
“ผมเป็นคนที่ไปโรงแรมทุกวัน เคยเจอนักท่องเที่ยวคึกคัก แต่ 4 เดือนที่โควิดระบาดต้องปิดโรงแรม ปล่อยร้าง มียาม พนักงาน 1-2 คน มาทำความสะอาดห้อง สระน้ำ ดูแลสวนสลับกัน เป็นความปวดใจนะ”
เกรียงศักดิ์ มีโรงแรม 2 แห่ง และอัตราการเข้าพักสูงเฉลี่ย 90-95% มาโดยตลอด แม้อยากเห็นการกลับไปสู่จุดเดิม แต่นาทีนี้คงยาก เพราะโรคโควิดยังคงอยู่ โรงแรมปัจจุบันหาทางฟื้นตัว ยังมีโปรเจคที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และเงินทุนมาจากการกู้แบงก์ จึงต้องการเห็นมาตรการช่วยเหลือด้าน “ลดดอกเบี้ย” ช่วยผู้ประกอบการดีกว่าการพักชำระหนี้
ปัจจุบัน เกรียงศักดิ์ เปิดโรงแรมปกติทั้ง 2 แห่ง เพราะหากไม่เปิด โอกาส "รอด" อาจไม่มี และการลุกขึ้นสู้ย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย "อย่างน้อยตายในท่าต่อสู้ดีกว่า" แม้การฮึดสู้กับโควิด ศัตรูตัวฉกาจที่มองไม่เห็นจะเป็นเรื่องยาก อีกทั้งการเสี่ยงเปิดโรงแรมอีกครั้ง ยังไม่สามารถตอบได้ว่าดีกว่าการปิดหรือไม่ แต่ก็ต้องยอมดำเนินการ ขณะเดียวกันยังยอมรับว่าเมื่อเปิดกิจการแล้วมีรายได้เข้ามา สามารถครอบคลุมเพียงค่าใช้จ่ายเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ค่าการดำเนินงานหรือ Operation cost ค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น โดยยังไม่มากพอที่จะครอบคลุมกับภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีเงินทุนบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤติเช่นนี้ได้อีก 2 ปี หากเกิดเหตุซ้ำยอมรับว่าผลกระทบเป็นลูกโซ่จะฉายซ้ำอีกระลอกแน่นอน
“ผมทำธุรกิจค้าขายทองคำมา 20 ปี เพิ่งเข้ามารุกธุรกิจโรงแรม ถามว่าวิกฤติโควิดทำให้เข็ดไหม..ไม่เข็ด แต่หากใครต้องการซื้อโรงแรมก็ขาย” เขาหัวเราะทิ้งท้าย แต่เป็นเสียงหัวเราะที่ปนบาดแผลธุรกิจครั้งสำคัญ