ระวัง 'หลุมดำ' ไตรมาส 4
แม้ภาพเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น แต่สินทรัพย์หลุมหลบภัยอย่างทองคำและโลหะเงินยังสูงเป็นประวัติการณ์ ที่อาจสะท้อนภาพของเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในระยะต่อไปน่ากังวลมากขึ้นจาก 3 ปัจจัยเสี่ยง ทำให้ภาวะเศรษฐกิจ Q4 เป็นดั่งหลุมดำต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
หากพิจารณาภาพเศรษฐกิจการลงทุนในไตรมาส 3 ในภาพรวม จะเห็นว่าเป็นไปดังที่เราและนักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาด กล่าวคือ เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นหลังจากหดตัวแทบจะต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ในไตรมาส 2 ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทำให้หลายตลาดโดยเฉพาะสหรัฐและเอเชียเหนือ กลับมาสูงเกินปลายปีที่แล้วอีกครั้ง แต่การฟื้นตัวก็เริ่มจำกัดและเห็นสัญญาณย่อลงในบางตลาดในช่วงเดือนล่าสุด
ด้านผลตอบแทนพันธบัตรยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่สินทรัพย์ทางเลือกที่เป็นหลุมหลบภัยอย่างทองคำและโลหะเงินกลับยังคงอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่เงินดอลลาร์กลับอยู่ในระดับที่อ่อนที่สุดในรอบหลายปี
เรามองว่า การฟื้นตัวที่เริ่มจำกัดของตลาดเงินตลาดทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดจาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ
1.ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งยอดค้าปลีกในสหรัฐ ตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐและอังกฤษ ยอดค้าปลีกและตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ของจีน ขณะที่ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐมีจำนวนต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อย ทั้งหมดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่หากพิจารณาในเชิงโมเมนตัม จะเห็นว่าการฟื้นตัวชะลอลง บ่งชี้ว่าผลจากความต้องการที่ชะลอช่วงปิดเมือง (Pend-up demand)ลดลง
2.มาตรการการเงินการคลังยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง แต่ชะลอลง โดยผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เป็นไปตามที่ตลาดคาด โดยได้ส่งสัญญาณว่าจะยังคงดอกเบี้ยต่ำไปจนถึง 2023 เป็นอย่างน้อย ตามการเปลี่ยนนโยบายเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยอมให้เงินเฟ้อเพิ่มเกินเป้าหมาย (Overshoot)ได้ อย่างไรก็ตาม การที่ Fed ไม่ได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนบางส่วนผิดหวังและลดระดับการลงทุนลง
3.เหตุการณ์ต่างๆ ไม่แน่นอนมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้งในสหรัฐที่เริ่มมีความกังวลว่าผลการเลือกตั้งอาจสูสีกันเกินไปจนยากที่จะหาผู้ชนะ หลังจากที่คะแนนนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์กลับมาเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ทรัมป์ส่งสัญญาณว่าอาจไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหากตัวเขาเองพ่ายแพ้
ในระยะต่อไป เราเห็นว่าภาพเศรษฐกิจและการลงทุนโลกในระยะต่อไปน่ากังวลมากขึ้นจาก 3 ปัจจัยเสี่ยง อันได้แก่
1.ตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจมีสัญญาณชะลอลงจากความเสี่ยงจากการติดเชื้อรอบ 2 ในหลายประเทศทั่วโลก โดยในปัจจุบัน จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกิน 30 ล้านคนแล้ว ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ประมาณ 3 แสนคนต่อวัน โดยกลุ่มประเทศที่จำนวนผู้ป่วยใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้แก่ ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (โดยเฉพาะอินเดีย อินโดนีเซีย และในเอเชียอาคเนย์) ที่รวมแล้วเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 1 แสนคน ละตินอเมริกาที่ 6 หมื่นคน และยุโรปตะวันตกที่ 3 หมื่นคนต่อวัน
ทั้งนี้ หากอุณหภูมิเริ่มกลับมาหนาวขึ้น โอกาสที่จะมีผู้ติดเชื้อรอบใหม่ จะยิ่งมีมากขึ้น ทำให้การปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ซึ่งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง
2.นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐที่อาจจะตึงตัวมากขึ้น หากนายโจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานาธิบดี และมีแผนจะขาดดุลการคลังมากขึ้น ทำให้ต้องขึ้นภาษีนิติบุคคลจากอัตราสูงสุด 21% เป็น 28% ขึ้นภาษีบุคคลธรรมดาจาก 37% เป็น 39.6% และเก็บภาษีความมั่งคั่ง ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกคาดว่าจะตึงตัวขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนก่อนล่วงหน้า
3.เหตุการณ์ต่าง ๆ มีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่อาจนำมาสู่ความแข็งกับจีนที่รุนแรงขึ้นหากทรัมป์ได้รับเลือกตั้ง การเจรจาBrexitในอังกฤษที่รัฐบาลจอห์นสันให้ไปใช้กลยุทธ์ที่แข็งกร้าวกับสหภาพยุโรปมากขึ้น หรือแม้แต่การแก้รัฐธรรมนูญและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยก็ตาม
ในส่วนของไทย ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นทำให้ SCBS ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยลงจาก -5.9% เป็น -7.8% ต่อปี โดยมองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจจะมีมากขึ้นจาก 3 ปัจจัย อันได้แก่
(1) จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกที่กลับมามากขึ้น ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าในประเทศได้ในปีนี้ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อยู่ที่ 6.7 ล้านคน (เท่ากับ 4 เดือนแรกของปี) และทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาทต่อปี หดตัว 83%จากปีที่แล้ว
(2) การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ที่ปัจจุบันมีมูลค่ารวม 7.2 ล้านล้านบาท หรือ 12.5 ล้านบัญชี จะทำให้ลูกหนี้ส่วนหนึ่งที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ต้องกลายเป็นหนี้สูญและปิดกิจการไป ทำให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงขึ้น
(3) จากปัจจัยทั้งสองข้างต้น จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและเดินทางต้องปิดกิจการมากขึ้น ทำให้อัตราว่างงานมากขึ้น โดยSCBSคาดว่า อัตราว่างงานในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.4% หรือประมาณ 1.4 ล้านคน จาก 1.95% หรือ 7.5 แสนคน ในไตรมาสที่ 2 และจะกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 4 เป็นหลัก โดยเศรษฐกิจจะหดตัวที่ประมาณ 8%จากที่เคยคาดว่าจะหดตัวประมาณ 1%
ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ที่เป็นดั่ง “หลุมดำ” จะเป็นลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยในส่วนของไทย แม้รัฐบาลและ ธปท. จะมีมาตรการในการรวมและปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงช่วยภาคเศรษฐกิจที่ประสบปัญหา เช่น ตลาดแรงงาน ภาคการท่องเที่ยว และการบริโภครากหญ้าผ่านโครงการต่าง ๆ แต่เราเชื่อว่าปัจจัยเชิงมหภาคจะมีอิทธิพลฉุดรั้งเศรษฐกิจมากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ ลดลง
ดังนั้น นักลงทุนจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น โดยอาจเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่มีความเสี่ยงสูง และยังคงลงทุนในทองคำเพื่อประกันความเสี่ยงที่จะมีมากขึ้นในระยะต่อไป
“หลุมดำเศรษฐกิจ” กำลังรออยู่เบื้องหน้า นักลงทุนทั้งหลาย โปรดเพิ่มความระมัดระวัง