'สุพัฒนพงษ์' ดับฝันเอสเอ็มอีไม่ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง 5 หมื่นล้าน
ดับฝันเอสเอ็มอี“สุพัฒนพงษ์”เผยไม่พิจารณาตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง 5 หมื่นล้านบาทให้ แนะให้ไปปรับโครงสร้างหนี้ ย้ำสภาพคล่องในตลาดมีอยู่แล้ว นายกฯเล็งปรับเกณฑ์พิจารณางบฟื้นฟูเศรษฐกิจจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาทดึง กนจ.ร่วมพิจารณาโครงการหวังตอบโจทย์จังหวัด
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงหรือหยิบยกเรื่องการใช้วงเงิน 50,000 ล้านบาท จากวงเงินในส่วนของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปตั้งเป็นกองทุนเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่เข้าไม่ไม่ถึงเงินกู้ ขณะที่มุมมองของของตนเองต่อการแก้ปัญหาสนใจเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า เพราะสภาพคล่องในตลาดมีอยู่แล้ว จึงแปลกใจว่าทำไมต้องมีการกองทุนเสริมสภาพคล่องให้ด้วย
“การประชุมครั้งนี้ได้เร่งให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว.ไปจัดทำรายชื่อเอสเอ็มอีที่จะเข้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยเร่งให้ทำเสร็จใน 12 เดือนจากที่ สสว.เสนอมา 18เดือน ขณะที่นายกรัฐมนตรี ให้จัดแยกหมวดหมู่ประเภทเอสเอ็มอีให้ชัดเจนเพื่อฉีดยาได้ถูกที่ ได้แก่ เอสเอ็มอีกลุ่มที่เข้มแข็ง กลุ่มที่พอใช้ได้ควรปรับปรุง และกลุ่มที่ไม่สามารถเข้มแข็งขึ้นมาได้”
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บอร์ด สสว. ได้เห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งบประมาณปี 2564 ตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงินงบประมาณ 1,113 ล้านบาท สำหรับดำเนินการ 7 กิจกรรมตามแผนการดำเนินงานของ สสว.ประกอบด้วย1. ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ 2. พัฒนาวิสาหกิจรายย่อยให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ (Micro)
3. พัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อมให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ (Small) 4. สนับสนุนให้บริการคำปรึกษา องค์ความรู้และข้อมูลสำหรับการประกอบธุรกิจของ MSME 5. จัดทำแผน พัฒนาฐานข้อมูลและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนการส่งเสริม SME 6. ยกระดับการพัฒนาระบบข้อมูล SME และ 7. พัฒนาระบบการส่งเสริม SME โดยสสว. มีเป้าหมาย ให้เอสเอ็มอีและผู้ประกอบการชุมชนได้รับการยกระดับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 216,562 ราย และมีตัวชี้วัดคือ เอสเอ็มอีชุมชนได้รับการพัฒนา สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 3,887ล้านบาท
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้เป็นช่วงของโควิด-19 จึงต้องจัดลำดับการใช้จ่ายงบประมาณตามลำดับความเร่งด่วน ต้องเพิ่มรายได้ของประเทศ เพิ่มการจ้างงาน และรักษาระดับการจ้างงาน ถ้าทุกคนมองว่าจะต้องได้เงินพร้อมกันจะมีเงินที่ไหนมาเพียงพอ รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายเฉพาะกลุ่ม เท่าที่ตรวจสอบโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมดที่เสนอเข้ามา 50,000 กว่าโครงการ ต้องใช้เวลาคัดกรอง ถ้าไม่ตรงก็ต้องตัดออก และนำกลับมาใหม่รวมถึงการเอาคณะกรรมการระดับจังหวัด (กนจ.) มาช่วยกลั่นกรองโครงการด้วย
"วันนี้กำลังหาวิธีการบริหารการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความชัดเจน และต้องช้าบ้างเพราะโครงการมีเป็นจำนวนมาก แต่ก็จะทำให้โครงการตอบโจทย์มากขึ้น" นายกรัฐมนตรีกล่าว