เปิด 'ยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะกิจ' ฉบับ 'สู้โควิด'ใช้ 2 ปี 64-65

เปิด 'ยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะกิจ' ฉบับ 'สู้โควิด'ใช้ 2 ปี 64-65

เปิดรายละเอียด "ยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะกิจ" ฉบับ "สู้โควิด" เตรียมประกาศใช้ 2 ปี 64-65 ก่อนปรับปรุงฉบับใหม่ เน้นประคับประคองเศรษฐกิจระยะสั้น สร้างภูมิคุ้มกันคนตัวเล็ก สร้างงานในท้องถิ่น รับรับการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยภายใน 2 ปี

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ส่งผลต่อประเทศต่างๆทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยที่เกิดผลกระทบอย่างมากทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเหตุผลที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนและแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนก่อนกำหนด 2 ปี โดยรัฐบาลเลือกใช้วิธีการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในรูปแบบเฉพาะกิจเพื่อรองรับผลกระทบจากโรคติดเชื้อโควิด – 19 ช่วงปี 2564 - 2565  

อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติฉบับเฉพาะกิจได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา และมอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด - 19 พ.ศ. 2564 - 2565 ฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอครม.ภายในเดือนพ.ย. 2563 นี้

“แม้ว่ายุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีประเด็นการพัฒนาที่ครอบคลุมถึงการรับมือและปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่ไว้แล้ว แต่รัฐบาลยังเห็นถึงความจำเป็นในการยกร่าง “แผนแม่บทเฉพาะกิจฯ” เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายระยะต่อไปให้ชัดเจน คือ “ล้มแล้วลุกไว (Resilience)” ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ภูมิคุ้มกัน ความรู้ และคุณธรรม เพื่อให้ไทยสามารถกลับสู่ระดับการพัฒนาก่อนการระบาดโควิด-19 ยกระดับการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม”

ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯที่จะใช้ 2 ปีในช่วงที่ปะเทศไทยยังได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 และยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะกิจจึงมีเป้าประสงค์ให้ คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติ และมีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (Economic Transformation)” ซึ่งจะมีการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในระยะ 2 ปีหน้า ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) ยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) พัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) และปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศ

 โดยมีโครงการรองรับตามร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วย 1.โครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 2.โครงการประจำปีงบประมาณปี 2564 

และ3.โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณประจำปี 2565 รวม 571 โครงการ แบ่งเป็น โครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ตามแผนแม่บทเฉพาะกิจฯหรือโครงการ Top Priorities จำนวน 250 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่

160163592329

1.การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาต่างประเทศ อาทิ โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs และโครงการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ

2.การยกระดับขีดความสามารถเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) อาทิ ขยายตลาดข้าวอินทรีย์และข้าวสีในต่างประเทศ และสร้างอุตสาหกรรมการแพทย์ใหม่บนฐานการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านชีววิทยาศาสตร์

3.การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน (Human Capital) ให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ อาทิ โครงการส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) และแพลตฟอร์มการเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ หรือโรคติดต่ออันตรายแบบบูรณาการ

4.การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) อาทิ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และโครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน

สำหรับการกำหนดเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะกิจที่จะนำมาใช้ 2 ปีนั้นได้กำหนดเป้าหมาย 4 เป้าหมาย และมีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ 1.คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบาง ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยมีตัวชี้วัดคืออัตราการว่างงานในปี 2564 ต้องไม่เกิน 1.5% และในปี 2565 อัตราว่างงานไม่เกิน 1% ส่วนตัวชี้วัดเรื่องดัชนีความยากจนแบบหลายมิติของกลุ่มเป้าหมายลดลงไม่น้อยกว่า 10% และในปี 2565 ลดลงอีก 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และตัวชี้วัดเรื่องผู้เข้าระบบประกันสังคมในมาตรา 33,39 หรือ 40 ต่อแรงงานรวมต้องลดลงอยู่ในระดับ 48% ในปี 2565 

2.เป้าหมายเรื่องการสร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น มีตัวชี้วัดเรื่องอัตราการขยายตัวของการบรรจุงานใหม่ในแต่ละจังหวัดของประเทศต้องเพิ่มขึ้นปีละ 10% ทั้งในปี 2564 และปี 2565

3.เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีตัวชี้วัดคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัวประชากรในปี 2564 อยู่ที่ 236,000 บาทต่อคนต่อปี และในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 245,000 บาทต่อคนต่อปี และอัตราการขยายตัวของการจ้างงานของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นปีละ 2.5%ในช่วงปี 2564 - 2565 

และ 4.มีการวากรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงการสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยมีตัวชี้วัดได้แก่ อัตราการขยายตัวของการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขึ้นปีละ 10% ในช่วง 2 ปี สัดส่วนมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อจีดีพีในประเทศ เพิ่มขึ้นในปี 2564 1.4% ต่อจีดีพี และในปี 2565 เพิ่มขึ้นไม่น้อย 1.5% ,ดัชนีด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลต้องอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงที่สุด 40 อันดับแรก และให้มีอันดับที่ขยับดีขึ้นในปี 2565 ขณะที่ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพของภาครัฐในการทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและเป็นภาระในการในการดำเนินธุรกิจต้องปรับขึ้นไปอยู่ในอันดับ 50 กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงสุดอันดับแรกของโลก และในปี 2565 ต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 45 อันดับแรกของโลก 

160163598995