ยิงปืนครั้งเดียว ได้นกสองตัว
เข้าสู่ไตรมาส 4 ปี 2563 ช่วงเวลาที่หลายคนเริ่มวางแผนทางการเงินและการจ่ายภาษีในปีถัดไป ที่จะต้องคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย การวางแผนลงทุนในสินค้าที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งอาจกลายเป็นยิงปืนครั้งเดียว ได้นกสองตัว เพราะส่งผลถึงการวางแผนเกษียณชีวิตในอนาคต
เข้าสู่ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้กันแล้วนะคะ เวลาผ่านไปเร็วแบบน่าใจหายเลยใช่มั้ยครับทุกท่าน ปีนี้มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย อาจทำให้เป้าหมายที่เราเคยวางไว้เมื่อต้นปีไม่ได้เป็นเหมือนเดิม ไม่ว่าอาจจะรายรับที่เปลี่ยนไป หรือรายจ่ายที่เปลี่ยนแปลง แต่มีสิ่งนึงที่เราจะลืมไม่ได้เลย คือเรื่องของการวางแผนภาษี โค้งสุดท้ายแบบนี้ เป็นช่วงเวลาที่เราควรมาเริ่มวางแผนกันว่าเราต้องลงทุนในสินค้าลดหย่อนภาษีตัวไหนบ้าง ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือวางแผนเพื่อให้ได้ภาษีคืน จะได้เป็นการวางแผนการเงินในสำหรับช่วงเวลาแบบนี้ด้วยครับ
อีกทั้งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนสินค้าลดหย่อนภาษีและวงเงินของสินค้าลดหย่อนภาษีหลายๆ อย่างก็มีการเปลี่ยนแปลง หรือบางอย่าง ก็ไม่ได้มีเหมือนในปีก่อนๆ แล้ว ดังนั้น วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าให้ทุกท่านได้ทราบว่าปีนี้ สินค้าลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง เพื่อทุกท่าน จะได้เริ่มต้นวางแผนสำหรับภาษีในโค้งสุดท้ายนี้ได้อย่างถูกต้องครับ
“อย่างที่ทุกท่านได้ทราบแล้วนั่นว่าในปีนี้ จะไม่มีกอง LTF สำหรับลดหย่อนภาษีดังเช่นในปีก่อนๆ ที่เคยมีมา หลายๆ ท่านอาจจะเริ่มคิดว่าอย่างนี้จะหาสินค้าอะไรมาลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2563 นี้ได้ อย่างที่ผมได้มีกล่าวไปในฉบับของเดือนที่แล้วเกี่ยวกับ SSF และ RMF แล้วนั่น ถึงรายละเอียดวงเงินในที่ทุกท่านสามารถลงทุนได้คือ ไม่มีขั้นต่ำแต่ไม่เกิน 30% ของรายได้ และรวมกันแล้ว ทั้ง SSF, RMF, ประกันบำนาญ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข. รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
อีกสิ่งนึงที่ไม่เหมือนทุกปีก็คือ สามารถนำเบี้ยประกันในหมวดสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมจาก 15,000 บาท เป็น 25,000 แต่ยังรวมอยู่ในวงเงินประกันชีวิตไม่เกิน 100,000 บาท ทำให้ใครที่สนใจในการวางแผนสุขภาพอยู่แล้วนั้นก็สามารถนำวงเงินตรงนี้ไปเป็นค่าลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีกหนึ่งตัว
และจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่าง Covid-19 ที่ทำให้ทุกคนแผนชีวิตที่เคยวางไว้ก็เปลี่ยนไป บางคนจากเคยมีงานอยู่ ก็อาจโดนลดเงินเดือน หรือต้องออกจากงานอย่างกะทันหัน บางคนอาจได้รับเงินชดเชยเป็นก้อนออกมา หรือระหว่างทำงานมีการสะสมเงินในรูปแบบ Provident Fund อย่าลืมว่า หากเราออกจากงานและมีการขายกองทุนนี้ออกมาหรือเงินก้อนที่ได้รับตอนออกจากงาน เงินตรงนี้คือรายได้ที่เราต้องนำมาคิดเพื่อคำนวณภาษีเช่นกัน
หากทำงานมาไม่เกิน 5 ปี เงินก้อนนี้จะนำมาคิดคำนวณภาษีในรูปแบบปกติ แต่หากท่านทำงานเกิน 5 ปี สามารถใช้ใบแนบในการคำนวณภาษีได้ ซึ่งวิธีการคำนวณใบแนบนั่นจะไม่เหมือนการคำนวณภาษีแบบปกติ จะมีการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างออกไปตามจำนวนเงินที่ได้รับ และ ตามจำนวนปีที่ทำงานมา ทำให้จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษีบุคคลธรรมดา (ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถ download แบบใบแนบเพื่อคำนวณภาษีเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรครับ)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ว่าเราวางแผนภาษีแล้วเราจะได้ผลประโยชน์แค่ในเรื่องภาษี หากเราลงทุนในการลดหย่อนภาษีแล้ว และเรามีการวางแผนที่ดี เราจะได้รับเด้งที่สอง ก็คือ การวางแผนเกษียณชีวิตของเราเองได้ ผมข้อยกตัวอย่างเคสให้ท่านผู้อ่านได้ลองอ่านดูซักเล็กน้อยนะครับ หากมีการลงทุนในกองทุน RMF จะนับระยะเวลาการลงทุนตามเงื่อนไข 5 ปี จากเงินก้อนแรกที่ลงทุนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า หากตอนนี้เราอายุ 50 ปี แล้วเราซื้อมาทุกปี พอเราอายุครบ 55 เราก็สามารถขายกองที่เราซื้อมาได้ทั้งหมด แม้กองที่เราซื้อมาตอนอายุ 54 ปี เราจะถือมาแค่ 1 ก็ตาม เราก็สามารถขายออกมาได้เช่น กัน
แต่หากเรายังอายุยังอยู่ในช่วง 30 ต้นๆ การลงทุนในการ SSF ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจในการวางแผนภาษีและพ่วงการวางแผนเกษียณ เพราะด้วยตัวกองทุนที่เราจะต้องถือครอง 10 ปี แบบชนวันที่ซื้อกองทุน ก็เป็นการทำให้เราได้มีเงินออมไว้ใช้ตอนเกษียณ ลองคิดภาพดูเล่นๆ นะครับ หากวันนี้ เราซื้อกองทุน แบบ DCA คือการซื้อกองทุนแบบเท่ากันทุกเดือน เดือนละ 20,000 บาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็จะกลายเป็นว่าเรามีเงินกองทุนที่เราสามารถขายออกมาได้ทุกเดือน เสมือนเงินรายเดือนที่เราจะสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆได้ ถึงแม้ว่า เราจะไม่รู้มูลค่า NAV ณ อีก 10 ปีข้างหน้า แต่อย่างน้อย ก็เป็นการวางแผนแบบนี้ก็เป็นการสร้างวินัยในการเก็บออมเพื่ออนาคต แถมยังได้เงินคืนภาษีมาในปัจจุบันเลย
ดังนั้นอยากให้ท่านผู้อ่านลองวางแผนภาษีตัวเองดูนะครับ และอย่าลืมวางแผนเกษียณสำหรับตัวเองด้วยเช่นกัน จากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ หลายๆ ท่านคงเริ่มเห็นข้อดีของการวางแผนการเงินกันมากขึ้นไม่มากก็น้อย หากท่านไม่รู้จะเริ่มต้นวางแผนการเงิน หรือวางแผนภาษีกันอย่างไร ลองปรึกษาที่ปรึกษาการเงินใกล้ๆ ตัวท่านดูนะครับ เริ่มไวมีชัยไปกว่าครึ่งครับ”