'ปิดทองหลังพระ' จับมือ 5 หน่วยงาน ชูแนวพระราชดำริฟื้นประเทศฝ่าวิกฤตโควิด
"ปิดทองหลังพระ" จัดเวทีเสวนาไม่ท้อ ไม่ถอย – พระราชดำริค้ำจุนสังคม จับมือภาคีเครือข่ายผลักดันแนวพระราชดำริช่วยเหลือสังคม แก้ปัญประเทศ "ดิศนัดดา"ชี้ทุกภาคส่วนต้องสร้างความร่วมมือ-ทำงานหนัก ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สร้างความเข้มแข็งประเทศมากขึ้น
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยในงานเสวนาไม่ท้อ ไม่ถอย – พระราชดำริค้ำจุนสังคม จัดที่สยามสมาคมวันนี้ ว่าปิดทองหลังพระฯ ได้ร่วมกับ 5 หน่วยงาน คือ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อร่วมกันสืบสานและประยุกต์แนวพระราชดำริไปใช้เพื่อให้ประเทศผ่านความท้าทายด้านต่างๆ ไปได้ โดยเฉพาะการช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถยืนบนขาของตัวเอง มีอิสรภาพในชีวิต และเป็นฐานรากให้กับการพัฒนาประชาธิปไตยได้โดยแท้จริง
ม.ร.ว.ดิศนัดดากล่าวว่าในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 2 ปี ประเทศไทยถูกกระทบจากสงครามการค้า จากภัยแล้ง น้ำท่วม และจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งยังหาจุดลงตัวไม่เจอว่าวิกฤตจะสิ้นสุดเมื่อไหร่
ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว ยิ่งลำบากกว่าเดิม และคนไทยทุกคนได้รับผลกระทบอย่างไม่เคยมีมาก่อน และในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ที่เข้ามาทดแทนแรงงานคนอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะกระทบกับแรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน และส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะประชาชนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว จะยิ่งลำบากกว่าเดิม ถ้าไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ทันท่วงที
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทั้ง 6 หน่วยงาน ได้ร่วมกันสร้างระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนให้ภาคชนบท ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านโครงการและกิจกรรมที่มุ่งสืบสาน รักษา ต่อยอด จนเกิดผลเป็นที่ประจักษ์ เช่น สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ 105.83 ล้านไร่ เพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำ 6,776.71 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำ 9.44 ล้านไร่ เพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 3.23 ล้านบาท สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้เกษตรกรตามแนวทฤษฎีใหม่ 2.83 ล้านครัวเรือน รวมทั้งพัฒนากลุ่มอาชีพที่มั่นคงและกลุ่มบริหารจัดการตัวเองได้ 70,431 กลุ่ม และสร้างปราชญ์และผู้นำเพื่อร่วมขยายแนวพระราชดำริ มากกว่า 3.55 แสนราย
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของทั้ง 6 หน่วยงานนี้ ได้ช่วยบรรเทาบัญหาในชนบท ซึ่งจากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มีประชาชนไม่น้อยกว่า 3.6 ล้านคน อยู่ในสภาพตกงานและเสมือนตกงาน คือ มีงานทำแต่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ผู้ที่อพยพมาหางานทำในเมืองต้องกลับไปในชนบทไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านคน ที่ผ่านมาคนในชนบทมีความลำบากยากแค้น รอความช่วยเหลือ และขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง จึงละทิ้งชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง แต่ขณะนี้โอกาสของการทำงานในเมืองก็ลดลง ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องทำงานหนัก เพื่อให้ประเทศไทยดีกว่าเดิม ไม่ใช่แค่กลับไปเหมือนเดิม