ธุรกิจวอนทุกฝ่าย'เปิดใจเจรจาสันติวิธี'หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจพัง
สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองขณะนี้เป็นที่เฝ้าระวังของภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ ย่านพื้นที่เศรษฐกิจ-ธุรกิจการค้า ใจกลางกรุงเทพฯ และหนึ่งในทำเลยุทธศาสตร์ของการชุมนุมทางการเมือง และปรากฎชื่อ “ย่านราชประสงค์” เป็นที่นัดหมายรวมพลในทุกครั้ง!
ย่านราชประสงค์ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของมหานครกรุงเทพ เมืองหลวงของประเทศไทย เป็นพื้นที่เศรษฐกิจการค้ามาอย่างยาวนานของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยล้วนปักหมุดสร้างอาณาจักรธุรกิจตั้งแต่โรงแรมระดับหรูหรา ศูนย์รวมแหล่งชอปปิงใจกลางเมือง อาคารสำนักงาน ศูนย์ค้าปลีกค้าส่ง การพัฒนาของพื้นที่อย่างต่อเนื่องจากศักยภาพของทำเล ทำให้ “ย่านราชประสงค์” ถูกยกระดับเป็นย่านแห่งธุรกิจ ไลฟ์สไตล์ และการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย ด้วยองค์ประกอบความพร้อมของห้องพักโรงแรมระดับ 5 ดาว ในย่านมากกว่า 4,000-5,000 ห้อง พื้นที่ชอปปิงรวม 8-9 แสนตารางเมตร จาก 6,000 ร้านค้า อาคารสำนักงาน 1.7 แสนตารางเมตร อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางศิลปะวัฒนธรรมโดยรวมเทวสถานของมหาเทพศักดิ์สิทธิ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเยือนตลอดเวลา
ภายใต้ “ราชประสงค์โมเดล” เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการคมนาคมครบวงจร มีจุดตัดสู่ “ถนนสุขุมวิท” เส้นเลือดใหญ่ของกรุงเทพฯ ทั้งเชื่อมต่อไปยัง “สีลม” ย่านการเงินเศรษฐกิจของเมืองไทย ต่อเนื่อง “ประตูน้ำ” ย่านค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจ การท่องเที่ยว กิจกรรมไลฟ์สไตล์ต่างๆ อย่างครบวงจร
พร้อมโครงข่ายทางเดินลอยฟ้า “อาร์-วอล์ก” ทำให้เกิดการหมุนเวียนและการสัญจรภายในย่าน มีผู้ใช้ถึง 1 แสนคนต่อวัน โดยเชื่อมต่อ 19 อาคาร ทำให้คนสามารถเดินทางได้ไกลและเข้าถึงสถานที่ต่างๆ ในย่านได้มากขึ้น ส่งผลให้เป็นย่านที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุดในประเทศ สร้างรายได้มหาศาล! ประมาณการเม็ดเงินสะพัดในย่านแต่ละปีหลัก “แสนล้านบาท” จากปริมาณผู้คนที่เดินทางใช้ชีวิตในย่านและนักท่องเที่ยวราว 7-8 แสนคนต่อวัน เติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40-50%
ขณะที่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวปลายปี ย่านราชประสงค์มีผู้มาเยือนทะลุ 1 ล้านคนต่อวัน! นั่นเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของย่านก่อนเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
“ในเวลานี้ธุรกิจอยู่ระหว่างฟื้นตัวจากภาวะบอบช้ำอย่างหนักจากวิกฤติโควิดที่ต้องปิดห้างร้านค้าปลีกนานเกือบ 2 เดือน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบทำให้ธุรกิจโรงแรมที่พัก ภัตตาคารร้านอาหาร ซบเซาลงอย่างมาก นักท่องเที่ยววูบหายจากตลาดเหลือเพียงกลุ่มต่างชาติที่พำนักอาศัย และทำงานในไทย ขณะที่กลุ่มลูกค้าชาวไทยเวลานี้ต้องเฝ้าระวังและเกาะติดสถานการณ์ชุมนุมทำให้ไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้อย่างปกติ”
นักวิเคราะห์ในวงการค้าปลีก กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชุมนุมที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อบานปลาย อีกทั้งการชุมนุมที่เคลื่อนตัวแบบ “ดาวกระจาย” ไปยังแนวเส้นทางรถไฟฟ้า “บีทีเอส” นั่นคือ เส้นทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิต การเดินทางของคนกรุงเทพฯ จะเห็นว่าตลอดแนวเส้นทางเป็นพื้นที่การค้า การลงทุนของธุรกิจแขนงต่างๆ ต้องปิดบริการชั่วคราว หรือแม้จะไม่ปิดบริการ แต่ล้วนได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น
ก่อนหน้านี้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาวะ “ล็อกดาวน์” ปิดบริการชั่วคราว 2-3 เดือน ซึ่งเวลานี้การเคลื่อนการชุมนุมทำให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาสถานการณ์ “วันต่อวัน” โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้า และบริเวณสถานที่ชุมนุม ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ นั่นหมายถึงผลกระทบต่อพนักงาน รายได้ ยอดขาย ซึ่งในห้วงเวลานี้เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการขายโค้งสุดท้ายของปี (ไฮซีซัน) ที่ต่างคาดหวังการพลิกฟื้นยอดขายที่หายไปในช่วงล็อกดาวน์ต้นปีให้ได้กลับมามากที่สุดนับเป็นอุปสรรคและตัวแปรของผลประกอบการสิ้นปี แม้จะมีแคมเปญภาครัฐช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยแต่ “มู้ดแอนด์โทน” จะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่เป็นผล!
“การชุมนุมแบบดาวกระจายโดยมีเป้าหมายสถานีรถไฟฟ้า และหลายๆ พื้นที่ กระทบต่อการเดินทางของประชาชน ส่งผลต่อบรรยากาศการใช้ชีวิต ทำลายบรรยากาศการฟื้นตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจ กระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ชะลอตัวอยู่แล้วระมัดระวังการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพราะไม่วิตกต่อความไม่แน่นอนทางการเมืองจะมีผลต่อความมั่นคงทางอาชีพ รายได้"
อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงที่สุด คือ ความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปจากมือที่ 3 ด้วยเช่นกัน กรณี worst case หากเหตุการณ์บานปลาย มีเหตุร้ายแรง จะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจและประเทศไทย
ดังนั้น สิ่งสำคัญเวลานี้ ต้องการให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ากัน ต้องถอยคนละก้าว พร้อมเปิดใจ เปิดกว้าง ในการเจรจาอย่างสันติวิธี เพื่อร่วมกันประคับประคอง หาทางออกที่เหมาะสม ให้วิกฤติซ้อนวิกฤติคลี่คลายลงได้ด้วยดี