เปิด'ภูมิทัศน์'สถาปัตย์ บิ๊กเชนโลกหลังโควิด
เมื่อคลื่นวิกฤติจากเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ปรากฏขึ้น สั่นสะเทือนหายนะจากสุขภาพ ลามมาสู่เศรษฐกิจทั่วโลกรุนแรงซึมลึกอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยิ่งนานวัน ภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่องก็ค่อยถูกซัดจมไปกับคลื่นวิกฤติ
วิกฤติ เช่นเดียวกับภาคธุรกิจการออกแบบตกแต่ง (สถาปัตยกรรม) เบื้องหลังผลงานการออกแบบสร้างบ้าน แปลงเมือง เมื่อโครงการพัฒนาถูกแช่แข็ง เพราะพิษโควิด สถาปนิกก็เป็นกลุ่มแรกในภาคอสังหาฯ ที่ต้องตกงาน เมื่อลูกค้าไม่มีเงินจ่าย
ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉายภาพผลกระทบเศรษฐกิจสะดุด โครงการยักษ์ทั้งในและต่างประเทศพับลง ภาคธุรกิจสถาปนิก หรือ นักออกแบบ เป็นอาชีพแรกๆที่จะตกงาน ผลกระทบจึงเกิดขึ้นกับบริษัทสถาปนิก เพราะลูกค้าหลายรายหยุดจ่ายเงิน บริษัทสถาปนิกหลายรายเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็ก
“วิกฤติครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนของธุรกิจสถาปนิกจากธุรกิจที่มีงานล้นมือ ไม่ต้องกังวล โมเดลธุรกิจมักเติบโตจากความพิเศษเก่งเฉพาะทางของตัวเอง บางรายกำลังมีความสุขกับการออกแบบคอนโดมิเนียมอย่างเดียว บางคนเก่งเรื่องบ้านแนวราบ หรือบางคนมีลูกค้าจากต่างประเทศจำนวนมาก แต่เมื่อโควิดมาทุบเศรษฐกิจโลก งานในมือหายไปกว่า 40%บางรายถูกชะลอโครงการ”
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้วงการ "สถาปนิก"จะต้องปรับกระบวนทัศน์การทำงาน และโมเดลธุรกิจใหม่ รองรับหลากหลายรูปแบบความต้องการของลูกค้า ไม่เพียงแค่ทำบ้าน หรือคอนโด อย่างเดียว แต่จะต้องพร้อมทั้งรองรับอาคารสำนักงานให้เช่า รวมไปถึงโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาปนิกจะต้องมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้รองรับ พฤติกรรมความต้องการที่อยู่อาศัยในหลากหลายประเภท ทั้งบ้าน คอนโด โรงแรมและสำนักงาน รวมถึงรองรับกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้สูงวัย
ขณะเดียวกัน จะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความกังวลของผู้อยู่อาศัย โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และปลอดเชื้อ ส่วนที่ออกแบบใหม่ สร้างใหม่จะต้องออกแบบไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและวัสดุปลอดเชื้อที่ล้ำทันสมัย เช่น กระเบื้องลื่นไม่เกิดการฝังตัวของเชื้อโรค การแยกลิฟท์ หรือ ลิฟท์ที่สามารถทำความสะอาดในตัว
โควิดยังนำไปสู่แนวคิดสถาปนิกย้อนหลังคิดไปสู่การออกแบบในยุคเก่าก่อน ปรับใหม่ให้บ้านยุคใหม่มีพื้นที่อาบน้ำ หรือ ฆ่าเชื้อก่อนเข้าไปในอาคารหรือบ้าน สอดคล้องกับวิถีความเป็นไทยที่มีอยู่แล้วในแบบบ้านไทยโบราณ ต้องมีตุ่มไว้และจุดล้างเท้าไว้หน้าบ้าน
“บริษัทสถาปนิกทั้งเล็ก แลใหญ่ต้องปรับตัว ออกแบบงานได้หลากหลายรูปแบบ ยืดหยุ่น รองรับการปรับเปลี่ยนแบบในอาคารให้รองรับการผ่านเข้า-ออกอาคารที่ปลอดภัย ที่เคยมีในบ้านไทยโบราณ แต่สถาปนิกอาจจะได้หลงลืมไป ฉะนั้นวิธีคิดการออกแบบจึงต้องหลอมรวมความหลากหลายให้พร้อมปรับแต่ง เปลี่ยนแบบโครงสร้างอาคารให้รองรับการเข้าออกได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะมีการจัดสรรพื้นที่ปลอดเชื้อ เช่น การมีจุดห้องนั่งพัก หรือส่งของจากพนักงานส่งสินค้าในคอนโด”
ธุรกิจสถาปนิกยังมีส่วนในการเข้าไปออกแบบจัดวางบริหารจัดการอาคารให้ถูกสุขอนามัย (Facility Management) ยุคโควิดจะทำให้ทุกอาคาร และหน่วยงานต้องการสถาปนิกไปวางโครงสร้างการออกแบบจัดระบบเข้า-ออก กระบวนการป้องกันเชื้อ เช่น เมื่อคนในคอนโด ติดเชื้อ จะมีวิธีการจัดทางเข้า-ออก และมีกระบวนการฆ่าเชื้อ หรือปิดอาคารอย่างไรให้คนเกิดความเชื่อมั่น และใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย
ทำให้สมาคมสถาปนิกสยามฯ ต้องสร้างความเชื่อมั่นการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายหลังโควิด ร่วมกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด(นีโอ) และคณะผู้จัดงานสถาปนิก 64 ภายใต้ชื่องาน ASA Building and Construction Forum 2020ในหัวข้อ “Emerging Challenges, Recovering Industries” ซึ่งได้รวบรวมสินค้านวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
มณฑิรา หรยางกูร อูนากูล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) บอกว่า ยุคหลังโควิด จะเกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในหลายประเทศ พร้อมกับการเร่งการเปลี่ยนผ่าน(Transform)สู่ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยสิ่งที่สถาปนิกจะต้องมีส่วนร่วมคือการคำนึงถึง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นเครื่องมือช่วยปฏิรูปเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้คนตัวเล็กได้รับความเป็นธรรมถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญ คือ การหันย้อนกลับมามอง(Refocus)คุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม ถือเป็นทุนและทรัพยากรทางสังคมที่สร้างมูลค่าต่อยอดทางเศรษฐกิจ
”””””””””””””””””””””
ภูมิทัศน์ใหม่สถาปนิกหลังโควิด
-รับงานได้หลากหลาย บ้าน คอนโด สำนักงาน โรงพยาบาล
-ปรับไปรับออกแบบที่อยู่อาศัยอาคาร ปลอดภัย ปลอดเชื้อ
-งานด้านการบริหารโครงสร้างภายในจะนิยมมากขึ้น
-ออกแบบโดยนำเทคโนโลยีล้ำ มาช่วยลดความเสี่ยง เช่น ไร้สัมผัส
-นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้กับออกแบบ
-คำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล