ปตท.เร่งดึงพันธมิตรลงทุน EECi สร้าง Ecosystem วิจัยพัฒนานวัตกรรม
EECi มีเป้าหมายพัฒนาเป็น “ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก” เพื่อยกระดับการวิจัยและพัฒนา โดยมี ปตท.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งเร่งดึงพันธมิตรเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็น “ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก” เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และสมบูรณ์ของประเทศไทย สำหรับรองรับการทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ด้วยนวัตกรรม รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
การดำเนินการระยะแรกจะมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนา EECi ให้เป็นเมืองนวัตกรรมใหม่ที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้นัวตกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.ได้พัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ตั้งอยู่ที่ ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง พื้นที่ 3,454 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่ ปตท.จะสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในระดับที่สร้างธุรกิจใหม่ตามแนวคิด Powering Thailand’s Transformation
รวมทั้งจะยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง พร้อมพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท.กล่าวว่า ปตท.เชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาและใช้ระบบ Ecosystem ในโครงสร้างพื้นฐาน
และเทคโนโลยีร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาธุรกิจใหม่ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการพัฒนาธุรกิจในระยะยาว
รายงานข่าวจาก ปตท.ระบุว่า สิทธิประโยชน์และการสนับสนุนแก่พันธมิตรร่วมพัฒนา EECi ที่สำคัญมี 8 ด้าน คือ
1.สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาวสำหรับจัดตั้งศูนย์วิจัยและการเช่าพื้นที่ในอาคารเพื่อการวิจัยและพัฒนา
2.โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้สอบร่วมกัน เช่น โรงผลิตชิ้นงานต้นแบบอุปกรณ์ เครื่องมือวิเคราะห์ทดสอบ Co-Working Space สนามทดลองและทดสอบ
3.เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3GeV
4.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน
5.อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% คงที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญ
6.ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการทำวิจัยและพัฒนา
7.วีซ่าทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ
8.พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม (Regulatory Sandbox) และเป็นแหล่งรวมนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ปตท.วางแผนพัฒนาพื้นที่ EECi@วังจันทร์วัลเลย์ ให้เป็นเมืองวิจัยนวัตกรรมในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform โดยมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ (Smart Innovation EcoSystem) มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการทำงานและการอยู่อาศัย โดยมีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่ง (Green Area & Open Space) 60% ของโครงการ ซึ่งภายในโครงการ ปตท.แบ่งโซนการพัฒนาเป็น 3 โซนหลัก ดังนี้
1.Education Zone พื้นที่ 1,185.64 ไร่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การวิจัย ในโซนนี้ ปัจจุบันได้เป็นที่ตั้งของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS)และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ซึ่งได้เปิดดำเนินการแล้ว
2.Innovation Zone บนพื้นที่ 1,468.32 ไร่สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในโซนนี้ จะเป็นที่ตั้งของกลุ่มอาคารกลุ่มนวัตกรรม EECi ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม ได้แก่ BIOPOLIS ARIPOLISSPACE INNOPOLIS และ FOOD INNOPOLIS
3.Community Zone บนพื้นที่ 123.67 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยและสันทนาการเพื่อตอบสนองความต้องการให้กับนักวิจัยและครอบครัว รวมถึงชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบและประชาชนทั่วไปในโซนนี้
นอกจากนี้ สวทช.จะพัฒนา EECi ให้เป็นเมืองนวัตกรรมใหม่ที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้นัวตกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก โดย EECi ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่
1.เกษตรสมัยใหม่และนวัตกรรม
2.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
3.แบตเตอรีประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่
4.ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
5.เทคโนโลยีการบินและอวกาศ
6.เครื่องมือแพทย์
ดังนั้น ปตท.จึงร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม ประกอบด้วย สวทช. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน)
ทั้งนี้ โครงการ 5G x UAV SANDBOX จะเปิดพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้ผู้สนใจทดสอบนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพความเร็วในการรับส่งข้อมูล เพื่อการตอบสนองที่ไวขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้นำศักยภาพ 5G ไปทดลองใช้เป็น Use cases รวมถึง Unmanned Aerial Vehicle (UAV) และการจัดการการบิน โดย ปตท.และพันธมิตรร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี