TESLA คุณค่าและระบบ Lean
ส่องธุรกิจ "Tesla" ที่ล่าสุดขึ้นแท่นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่ามากสุดในโลก เหตุใด Tesla
จึงสามารถแซงหน้าโตโยต้าที่ครองอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน? พร้อมเปิดแนวคิดระบบ Lean หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
"Tesla แซง Toyota ขึ้นแท่นผู้ผลิตรถยนต์มูลค่ามากสุดในโลก" เมื่อกลางปีที่ผ่านมามีข่าวฮือฮา เมื่อราคาหุ้นของ Tesla ในตลาด NASDAQ นครนิวยอร์ก พุ่งทะยานกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าจากตลาดหลักทรัพย์มากที่สุดในโลก แซงหน้าโตโยต้า ซึ่งครองอันดับหนึ่งมานาน มูลค่าบริษัทที่คำนวณจากราคาหุ้นคือ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ ประมาณได้ถึง 1 ใน 3 ของจีดีพีประเทศไทย โดยหลักการแล้วราคาหุ้นจากนักลงทุนมาจากการคาดการณ์ผลประกอบการธุรกิจในอนาคต ดังนั้น มูลค่าบริษัทย่อมสะท้อนถึง “คุณค่า (Value)” ขององค์กรในมุมมองของตลาดด้วย
ผมจะหยิบแง่มุมนี้มาเป็นกรณีศึกษาถึงความหมายของคุณค่ากับแนวคิดระบบ Lean ที่สามารถขยายขอบเขตเพิ่มเติมจากที่เราคุ้นเคยครับ
หลักการของ Lean 5 ข้อที่แพร่หลายอ้างอิงจากหนังสือ Lean Thinking โดย Womack & Jones คือ 1.ระบุคุณค่า (Identify Value) 2.เข้าใจกระแสคุณค่า (Value Stream) 3.สร้างการไหล (Flow) 4.ใช้ระบบดึง (Pull) และ 5.พัฒนาเข้าหาความสมบูรณ์แบบ
กิจกรรมใดที่ไม่สร้างคุณค่าตามมุมมองของลูกค้า เปรียบได้กับไขมันที่เกาะติดกระบวนการอยู่เป็นความสูญเสียที่ควรขจัดทิ้ง เพื่อให้องค์กรใช้ทรัพยากรไปกับการสร้างความพึงพอใจกับลูกค้าเท่านั้น ความสูญเสียถูกระบุให้เป็นรูปธรรมและเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ 7 Wastes จากความสูญเสียในภาคการผลิต มีการขยายไปยังความสูญเสียภาคบริการด้วย
ดังนั้น กระบวนการ Lean ในอุดมคตินั้น เกิดขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าเท่านั้น ด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้คุณภาพตามที่กำหนด เกิดการไหลอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด ส่งมอบสินค้าและบริการตามที่ลูกค้าต้องการ และกิจกรรมทั้งหมดมีความใส่ใจพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง
หลักการเช่นนี้ครอบคลุมได้ทั้งกระบวนการในมิติภาคการผลิต/ภาคบริการ และมิติกายภาพ/ข้อมูลข่าวสาร (Information) โดยทั่วไปมักพิจารณาสินค้าและบริการในปัจจุบันเป็นหลัก
คุณภาพของรถ Tesla J.D. Power องค์กรวิจัยชื่อดังในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาคุณภาพรถยนต์ (J.D. Power 2020 Initial Quality Study)1* กลางปีนี้ โดยสำรวจจากความคิดเห็นของลูกค้าที่ซื้อรถยนต์ 90 วันแรกในสหรัฐ ตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับคือจำนวนปัญหาต่อรถ 100 คัน (Problems per 100 vehicles หรือ PP100) ตัวเลขยิ่งมากแสดงว่าลูกค้ารู้สึกว่ารถยนต์ที่ตนซื้อมามีปัญหาคุณภาพมาก
ข้อมูล PP100 ของ Tesla สวนทางกับข่าวการเป็นบริษัทมูลค่าอันดับหนึ่ง คือแทนที่จะเป็นรถยนต์ที่มีปัญหาน้อย กลับมีปัญหาด้านคุณภาพมากที่สุด จากข้อมูลเปรียบเทียบค่า PP100 จากรถยนต์กว่า 30 ยี่ห้อ Tesla ได้อันดับรั้งท้ายที่ 250 โดยค่าเฉลี่ยของทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 166 ปัญหาที่พบ เช่น งานสีและการประกอบที่ไม่ได้คุณภาพ อาการสั่นของรถ
เมื่อลองพิจารณาตัวเลขเปรียบเทียบผลประกอบการธุรกิจแล้วพบว่าห่างไกลจากโตโยต้ามาก ในปี 2562 ยอดขายคือ 3.7 แสนคัน และ 10.7 ล้านคัน ต่างกันเกือบ 30 เท่า รายได้คือ 7.8 แสนล้านบาท และ 8.7 ล้านล้านบาทต่างกัน 11 เท่า 2*
เหตุใดองค์กรที่มียอดขายและรายได้ต่างกับอันดับหนึ่งเป็นสิบเท่า คุณภาพผลิตภัณฑ์ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก แต่กลับมีคุณค่ามากที่สุด หากมองด้วยมุมของมูลค่าจากตลาดหุ้น?
คุณค่าและระบบ Lean บทวิเคราะห์ให้ความเห็นว่านักลงทุนประเมินมูลค่าของ Tesla เช่นเดียวกับบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีที่คาดหวังการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตด้วยวิสัยทัศน์องค์กรและนวัตกรรม มีปัจจัยสนับสนุน เช่น ความเชื่อในทิศทางของโลกว่ารถมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังเข้ามาแทนที่เครื่องยนต์ใช้น้ำมัน เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ประกอบกับกระแสสังคมที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ธุรกิจยานยนต์ควรมีบทบาทสร้างแก๊สเรือนกระจกน้อยลง
และสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ข้อหนึ่งคือ ความเชื่อถือของนักลงทุนที่มีต่อ CEO องค์กรคือ Elon Musk จากผลงานที่ได้สั่งสมมา พร้อมกับเรื่องราวชีวิตส่วนตัวที่มีสีสัน ทำให้อยู่ในความสนใจของสาธารณชนและกระแสข่าวมาโดยตลอด ความท้าทายต่อไปในอนาคตคือการรักษาสถานะนี้ไว้ ซึ่งจะเกิดได้เมื่อองค์กรสามารถทำให้วิสัยทัศน์องค์กร และความคาดหวังของสาธารณชนเกิดขึ้นจริง
จากเรื่องราวนี้ เราอาจเรียนรู้ได้ว่าการให้ความหมาย คุณค่า (Value) ในระบบ Lean สามารถพิจารณาให้กว้างขึ้นได้ นอกเหนือจากการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ด้วยการส่งมอบสินค้าและบริการที่มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว ยังสามารถยกระดับด้วยการเป็นผู้สร้างทางออกเพื่อแก้ปัญหา (Solution) ให้กับลูกค้าทั้งปัจจุบันและอนาคต
และเมื่อขยายขึ้นมากกว่ามุมมองทางธุรกิจ โลกปัจจุบันคาดหวังการดำรงอยู่ขององค์กร เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม ดังนั้น ความเชื่อ วิสัยทัศน์ ความรับผิดชอบต่อลูกค้า ชุมชน สังคมและผู้มีส่วนได้เสียอื่นขององค์กร กลายเป็นคุณค่าขององค์กรด้วยเช่นกัน
ในด้านโตโยต้า ประธาน Akio Toyoda ประกาศทิศทางธุรกิจว่า องค์กรกำลังยกระดับจากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไปเป็น Mobility Company เป็นผู้นำความเบิกบานและความอิสระในการเดินทางมาให้กับทุกคน (Bringing the joy and freedom of movement to all)3*
วิวัฒนาการของแนวคิดระบบ Lean จากผลิตภาพและคุณภาพในโรงงาน จนขยายไปยังงานบริการรวมถึงองค์กรภาครัฐ ยังต้องหมุนวงล้อการเรียนรู้และพัฒนา หนึ่งในนั้นคือการทำความเข้าใจกับ “คุณค่า” ที่ให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียอื่นครับ
หมายเหตุ
1.https://electrek.co/2020/06/24/tesla-ranks-lowest-on-j-d-power-2020-quality-study/
2.https://www.billionmindset.com/toyota-vs-tesla-world-most-value-car-company/
3.https://global.toyota/en/sp/mobility-for-all/