ฟู้ดเชนบูมแฟรนไชส์ ‘สตรีทฟู้ด’ ลงทุนต่ำปูพรมทั่วไทย
สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ การมีแหล่งรายได้เดียวคือความเสี่ยง! รวมทั้งการมองหาหรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของผู้มองหาโอกาสลงทุนมีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
“ระบบแฟรนไชส์” นับเป็นสูตรสำเร็จในการสร้างโอกาสใหม่ โดยเฉพาะ “สตรีทฟู้ด” อาหารเบสิคที่กำลังถูกยกระดับด้วยการบริหารจัดการสมัยใหม่!ให้เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนรายย่อย
บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) กล่าวว่า การขยายแฟรนไชส์ร้าน อาหารไทยตามสั่งแนวสตรีทฟู้ดภายใต้แบรนด์ “เขียง” จะเป็นเรือธงในการเจาะตลาดทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ภายใต้สโลแกน จัดจ้าน ถึงเครื่อง ถึงใจ สะท้อน รสชาติอาหารที่เชื่อวาถูกปากคนไทย ประกอบกับราคาที่เข้าถึงง่าย ตอบโจทย์สถานการณ์ที่ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน รวมทั้งสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ให้กับเซ็นกรุ๊ป ภายในสิ้นปีนี้คาดเปิดครบ 100 สาขา จากปัจจุบันเปิดบริการแล้วกว่า 80 สาขา ส่วนใหญ่เป็นการขยายสาขาแบบแฟรนไชส์
เขียง มุ่งสู่แบรนด์สตรีทฟู้ดร้านอาหารไทยตามสั่งแบบออมนิโมเดล (Omni Model) ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย! เป็นแบรนด์ร้านอาหารตามสั่งที่เปิดให้บริการทุกจังหวัดทั่วประเทศ เสมือนร้านสะดวกซื้อของอาหารตามสั่ง เป็นแบรนด์ที่นึกถึงเมื่อต้องการรับประทานอาหารตามสั่งรสชาติจัดจ้าน
ร้านเขียง มี 2 โมเดล กล่าวคือ สแตนดาร์ด และ โลว์คอสต์ เปิดตลาด 8 โลเกชั่นหลัก ได้แก่ สาขาในคอมมิวนิตี้มอลล์, ฟู้ดคอร์ท, สถานีบริการน้ำมัน, เทสโก้โลตัส, สถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที, ตึกแถว, สแตนอโลน และภายในห้างสรรพสินค้า กระจายในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มุ่งเมืองเศรษฐกิจ อาทิ เชียงใหม่ หาดใหญ่
จะเห็นว่าร้านเขียงมีรูปแบบสาขาที่หลากหลายสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ทั้งย่านธุรกิจ ชุมชน คอนโดมิเนียม ที่ทำงาน รถไฟฟ้าใต้ดิน ศูนย์การค้า โดยผู้ที่สนใจลงทุนแฟรนไชส์มีค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้า 6 แสนบาท ค่ารอยัลตี้และมาร์เก็ตติ้งฟี เดือนละ 15,000 บาท และเงินลงทุนอีก 1-2 ล้านบาท สำหรับเปิดร้านขนาดพื้นที่ 40-50 ตร.ม. รองรับ 20-30 ที่นั่ง สาขาส่วนใหญ่สร้างยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 4 แสนบาท บางสาขาในทำเลเกรดเอ สร้างยอดขาย 6-8 แสนบาทต่อเดือน มีโอกาสคืนทุนภายใน 1-3 ปี
ปี 2564 เขียง มีแผนขยายแฟรนไชส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกไม่ต่ำกว่า 100 สาขา เบื้องต้นคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงการทำสัญญากับแฟรนไชส์ 2 ราย ที่ต้องการขยายร้านเขียงประมาณ 60 สาขา ในปีหน้า พร้อมกันนี้จะเพิ่มศักยภาพเร่งสปีดการขยายสาขาด้วย “มาสเตอร์แฟรนไชส์” อีกด้วย
ด้าน ธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (Food Chain Industry) ส่งแบรนด์ อร่อยดี (Aroi Dee) ร้านอาหารไทยจานด่วนในคอนเซปต์ "รสชาติคุ้น อิ่มครบ จบทุกมื้อ" เปิดตลาด ปัจจุบันมี 20 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 20 สาขา
อร่อยดี บุกตลาดสตรีทฟู้ด ด้วยไอเดีย อาหารไทยจานเดียว รสชาติคุ้นเคย เมนูง่ายที่หลากหลาย ราคาเข้าถึงได้ อาทิ ข้าวผัดรถไฟ ข้าวผัดกะเพรา ผัดมาม่าใส่ไข่ สะท้อนนิยามของ “ร้านสะดวกทาน” เจาะกลุ่มเป้าหมาย พนักงานออฟฟิศ คนทำธุรกิจส่วนตัว อายุ 25-45 ปี ที่ชื่นชอบอาหารไทย รสชาติอร่อย มองหาร้านอยู่ในทำเลที่ตั้งที่สะดวก สามารถเลือกมาเป็นจุดแวะ เติมความอิ่มในเวลารีบเร่งได้ สำหรับการลงทุนใช้งบราว 1.3 ล้านบาท เงินทุนหมุนเวียน 350,000บาท อายุสัญญา 6 ปี
"แฟรนไชส์เป็นสูตรสำเร็จทางเลือก สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ด้วยการลงทุนที่ต่ำ ไม่ต้องใช้เงินทุนก้อนใหญ่ แต่มีผลกำไรเพิ่มขึ้น เป็นยุทธศาสตร์ของซีอาร์จีในการเคลื่อนธุรกิจรองรับผู้สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์มากขึ้น เพราะดำเนินการได้ทันที เพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ ทั้งยังมีสินเชื่อแฟรนไชส์จากสถาบันการเงินสนับสนุน”
ทำเลเป้าหมายของ “อร่อยดี” ไม่อยู่ในศูนย์การค้า แต่เน้นย่านพักอาศัย และเปิดร้านสแตนอะโลน ปีแรก บริษัทลงทุนเอง 25 สาขา แฟรนไชส์ 1สาขา ปีที่ 2-5 บริษัทเปิดเพิ่มปีละ 10 สาขา แฟรนไชส์ ปีแรก 35 สาขา ปีที่ 2-4 จำนวน 45 สาขา และปีที่ 5 จำนวน 54 สาขา รวมทั้งหมดจะเปิดให้ได้ 300 สาขาทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี ซีอาร์จี บริหารเอง 75 สาขา แฟรนไชส์ 225 สาขา