7 ค่ายรถลงทุน EV เฉียด 8 หมื่นล้าน 'BOI'เตรียมเปิดส่งเสริมรอบใหม่
“บีโอไอ” อนุมัติส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ ครอบคลุมรถทุกประเภทและเรือไฟฟ้า จูงใจเร่งผลิตในปี 65 ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มในไลน์การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ พร้อมอนุมัติ “ออโต้อัลลายแอนซ์” ลงทุนอีวี 3.2 พันล้านบาท
นางสาวดวงใจ อัศวจิตนจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 4 พ.ย.2563 เห็นชอบส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) รอบใหม่ โดยในรอบนี้เป็นการเปิดให้การส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภทจากเดิมมีเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าและรถโดยสารไฟฟ้า และปิดการส่งเสริมไปเมื่อปี 2561
รวมทั้งให้กระทรวงการคลังดูสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตให้เท่ากับที่เคยให้เมื่อการส่งเสริมครั้งก่อน โดยมาตรการส่งเสริมการลงทุนนี้จะจูงใจให้เกิดการลงทุนในไทยมากขึ้นและช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของการผลิตรถทั้งหมดในไทย ซึ่งการส่งเสริมการลงทุนมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่
1.กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (BEV) แต่ให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ได้ในกรณีลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากลงทุนวิจัยและพัฒนาจะได้รับสิทธิเพิ่ม แต่ในกรณีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ในปี 2565 ผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติม ผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี
รวมทั้งถ้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles (PHEV) ด้วยจะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยต้องผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น
2.กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยได้สิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตในปี 2565 ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Traction Motor และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา
3.กิจการผลิตสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตภายในปี 2565 มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอื่นเพิ่มเติม เช่น Traction Motor
4.กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตภายในปี 2565 มีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เริ่มจากขั้นตอน Module มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติม เช่น Traction Motor
“การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ทุกประเภท ผู้ลงทุนจะต้องเสนอเป็นแพคเก็จ แผนการนำเข้าเครื่องจักรและติดตั้ง แผนการผลิตระยะ 1–3 ปี แผนการผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนและแผนการพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ (ที่มีคนไทยถือหุ้นข้างมาก)”
รวมทั้งเห็นชอบปรับปรุงสิทธิประโยชน์กิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า โดยเพิ่มรายการชิ้นส่วน 4 รายการ ได้แก่ 1.High Voltage Harness 2.Reduction Gear 3.Battery Cooling System 4.Regenerative Braking System
พร้อมทั้งปรับสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยรับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ไม่มีการผลิตในไทยอัตรา 90% รวม 2 ปี รวมทั้งเห็นชอบปรับประเภทกิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือให้ครอบคลุมการผลิตเรือพลังงานไฟฟ้า โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
สำหรับการส่งเสริมการลงทุนรถไฟฟ้าช่วงปี 2560-2562 มีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 26 โครงการ มูลค่าการลงทุน 78,099 ล้านบาท โดยมี 7 โครงการที่มีการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว แบ่งเป็น
ประเภทกิจการ HEV 3 ราย ได้แก่ นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า
ประเภทกิจการ PHEV 2 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู
และประเภทกิจการ BEV 2 ราย ได้แก่ ฟอมม์ และ ทาคาโน นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 14 โครงการ โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า 10 โครงการ
นางสาวดวงใจ กล่าวว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบส่งเสริมการลงทุน 6 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 35,687 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊กและรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ลงทุน 3,247 ล้านบาท ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง จ.ระยอง ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ปีละ 5,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปีละ 1,000 คัน ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ
2.บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อม ลงทุน 5,071 ล้านบาท ตั้งที่ จ.สระแก้ว 3.บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด ผลิตไฟฟ้า ไอน้ำและน้ำปราศจากแร่ธาตุ ลงทุน 6,000 ล้านบาท ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี
4.บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ เงินลงทุน 5,400 ล้านบาท ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี 5.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ลงทุน 11,300 ล้านบาท ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จ.ระยอง 6.บริษัท บางกอก โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ผลิตไฟฟ้า ไอน้ำและน้ำปราศจากแร่ธาตุ ลงทุน 4,668 ล้านบาท ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง