ลุยปั้น 'NCAP' ภารกิจใหม่ 'คอมเซเว่น & ซินเน็ค'

ลุยปั้น 'NCAP' ภารกิจใหม่ 'คอมเซเว่น & ซินเน็ค'

'คอมเซเว่น' & 'ซินเน็ค (ประเทศไทย)' เปิดปฏิบัติการดัน 'หุ้น เน็คซ์ แคปปิตอล' เข้าซื้อขายตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 9 พ.ย.นี้ ในราคา 2.20 บาท 'สมชัย ลิมป์พัฒนสิน' มือปืนรับจ้างบริหาร โชว์พันธกิจ 3-5 ปีข้างหน้า พอร์ตสินเชื่อจะไม่มีแค่ 'มอไซค์' !

ตลอดสามปีที่ผ่านมา '2 ผู้ถือหุ้นใหญ่' ของ บมจ. เน็คซ์ แคปปิตอล หรือ NCAP ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์แบรนด์ชั้นนำ Honda, Vespa, Kawasaki และ Suzuki อย่าง บมจ.คอมเซเว่น หรือ COM7 ของ 'สุระ คณิตทวีกุล' และ บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย) หรือ SYNEX ของ 'ตระกูลมงคลสุธี' โดยทั้งสองหุ้นใหญ่ถือหุ้นสัดส่วนเท่ากันจำนวน 240,000,740 หุ้น คิดเป็น 26.67% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้น IPO) ใช้เวลาปรับทัพองค์กรใหม่ !

ภายหลัง 'กลุ่มมิตซุย ประเทศญี่ปุ่น' มีการปรับนโยบายในการประกอบธุรกิจของกลุ่มใหม่ในปี 2560 จึงได้มีการลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 25% ของทุนจดทะเบียนของบริษัท และต่อมาได้ขายหุ้นออกทั้งหมดในเดือนมี.ค. 2562 ให้กับ 2 กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คนไทย

ล่าสุด สองกลุ่มหุ้นใหญ่ COM7 & SYNEX 'สุระ คณิตทวีกุล' และ 'ตระกูลมงคลสุธี' เดินหน้าสร้างความมั่งคั่งครั้งใหม่ ด้วยการผลักดัน บมจ. เน็คซ์ แคปปิตอล หรือ NCAP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันพรุ่งนี้ (9 พ.ย. 2563) ด้วยการเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 2.20 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทจะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้กว่า 660 ล้านบาท

โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ COM7 และ SYNEX ติด 'การห้ามขายหุ้น' (Silent Period) ทั้งหมดในระยะเวลา 6 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนบริษัทในระยะยาว

อนาคตจุดเด่นธุรกิจของสองผู้ถือหุ้นใหญ่ NCAP จะเข้ามาช่วยสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตแข็งแกร่งทั้งในแง่ของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจากทั้ง COM7 และ SYNEX ถือเป็นบริษัทชั้นนำในด้านเทคโนโลยี และสินค้ายุคใหม่ และเมื่อนำจุดแข็งด้านการเงิน (ไฟแนนซ์) ของบริษัทมาผสมผสานกันจะทำให้ธุรกิจของบริษัทมีความแข็งแกร่งรอบด้านในอนาคต

ปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1.ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ (Hire Purchase) โดยบริษัทประกอบธุรกิจหลักให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับรถจักรยานยนต์ โดยปัจจุบันบริษัทมุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่แก่ผู้เช่าซื้อรายย่อยเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 98% ของมูลค่าลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรวม

2.ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มือสอง (Second Hand) ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่สามารถเรียกชำระเงินได้ตรงตามงวดการจ่ายชำระ ส่งผลให้บริษัทต้องติดตามหนี้ค้างชำระตามกฎระเบียบที่บริษัทวางไว้ และมีความจำเป็นในการขอยึดคืนรถจักรยานยนต์ซึ่งยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทตามกฎหมาย จากนั้น บริษัทจะดำเนินการนำรถจักรยานยนต์เข้าสู่ลานประมูลเพื่อทำการขายทอดตลาดต่อไป

และ 3.ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อสินค้าอื่น โดยบริษัทมีบริการสินเชื่อสำหรับสินค้าอื่นที่บริษัทเห็นว่ามีโอกาสทางธุรกิจ โดยบริษัทมีการให้สินเชื่อเช่าซื้อสำหรับเครื่องยนต์เรือในช่วงปลายปี 2560 ถึงกลางปี 2561 ให้แก่ผู้เช่าซื้อประเภทนิติบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวทางภาคใต้ เช่น ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจให้เช่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทไม่มีนโยบายในการให้สินเชื่อเช่าซื้อสำหรับเครื่องยนต์เรืออีกต่อไป เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าภาวะธุรกิจดังกล่าวเริ่มชะลอตัว

'สมชัย ลิมป์พัฒนสิน' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เน็คซ์ แคปปิตอล หรือ NCAP ถือโอกาสแจกแจงแผนธุรกิจให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า 'เรือธง' ความสำเร็จแรกของสองผู้ถือหุ้นใหญ่ NCAP คือการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น เพื่อสร้างการเติบโตครั้งใหม่ ! สะท้อนผ่านการนำเงินระดมทุนใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยาย “พอร์ตสินเชื่อ” คิดเป็น 80% ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 15% และลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบการให้บริการสินเชื่อและระบบสนับสนุนการทำงาน 5% ระยะเวลาที่ใช้โดยประมาณ ภายในปี 2564 เพื่อรองรับแผนขยายสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และมีอัตราการเติบโตที่ดีในอนาคต

ปัจจุบัน NCAP มีมูลค่าพอร์ตสินเชื่อรวม 4,000 ล้านบาท มีจำนวนบัญชีประมาณ 100,000 ราย มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศรวม 24 สาขา อีกทั้ง มีดีลเลอร์ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์เป็นพันธมิตรของบริษัทในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 600 ราย

'เรามีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในพื้นที่ภาคใต้ แต่หลังจากมีเงินขยายพอร์ตแล้ว เตรียมขยายพอร์ตสินเชื่อและการให้บริการไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยมีแผนที่จะขยายสาขาในปี 2564 จำนวน 1 แห่ง และในปี 2565 จำนวน 2 แห่ง'

1604661665100

สมชัย ลิมป์พัฒนสิน

นอกจากนี้ บริษัทลงทุนในระบบสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นั่นคือ ระบบ Mobile Application และ ระบบ Credit Scoring คาดแล้วเสร็จในปีนี้ และระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (ERP) อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดจะแล้วเสร็จตามแผนในปีหน้า จึงมั่นใจว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายพอร์ตสินเชื่อใหม่ของบริษัทให้เติบโตได้อย่าง 'ก้าวกระโดด' ในปี 2564 !

'ซีอีโอ' เล่าต่อว่า สำหรับ 'จุดแข็ง' ของ หุ้น NCAP ที่เห็นชัดเจนคือ การควบคุม 'สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้' (NPL) ในระดับดีเยี่ยม ! ซึ่งอยู่ในระดับ 2.26% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับในอุตสาหกรรม แต่ก็ถือเป็น 'จุดอ่อน' ในธุรกิจไปด้วย เนื่องจากการที่บริษัทยกการ์ดควบคุม NPL ไว้ในระดับสูงมาก ผลกระทบที่ตามมาส่งผลให้ 'โอกาส' ในการขยายพอร์ตสินเชื่อก็ทำได้ 'ยาก'

ดังนั้น หลังจากบริษัทปรับจุดสมดุลใหม่ระหว่างการรักษา NPL และ การปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นแล้ว กลยุทธ์ในการทำธุรกิจต่อไปจะขยายพอร์ตปล่อยสินเชื่อให้เติบโตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสัดส่วนพอร์ตรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ Honda ที่คาดจะเพิ่มขึ้นตามความนิยมของตลาด และการที่บริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อสนับสนุนการเติบโตให้ก้าวกระโดดในปีหน้า

เขา บอกต่อว่า ในแผนธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า (2564-2566) ในพอร์ตปล่อยสินเชื่อของ NCAP จะไม่ได้มีแค่พอร์ตปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% ด้วยธุรกิจสามารถทำได้อีกมากมาย สะท้อนผ่านบริษัทแม่อย่าง SYNEX ที่มีสินค้าผู้นำด้านเทคโนโลยี (ไอที) จำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันทั้ง COM7 และ SYNEX ก็สนับสนุนและช่วยกลั่นกรองเทคโนโลยีที่เหมาะสมในธุรกิจของ NCAP รวมทั้งการสนับสนุนด้านเงินทุนอีกด้วย

'ด้วยจุดแข็งคือพอร์ตสินเชื่อที่มีคุณภาพและการบริหารจัดการติดตามหนี้ที่พัฒนาอย่างเป็นระบบ และการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการทำงาน ทำให้ธุรกิจอยู่ในช่วงขยายการเติบโตของรายได้'

สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2560-2562) กำไรสุทธิอยู่ที่ 128.59 ล้านบาท 89.91 ล้านบาท และ 126.24 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 617.21 ล้านบาท 823.93 ล้านบาท และ 1,033.58 ล้านบาท ตามลำดับ

160466159755

ตารางผลประกอบการ NCAP 

สำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 561.89 ล้านบาท เติบโตขึ้น 18.7% จากงวดครึ่งปีแรกของปีก่อนอยู่ที่ 473.49 ล้านบาท แม้ว่าจะมีจำนวนสัญญาใหม่ที่ลดลงก็ตาม โดยเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ต่อเนื่องของสัญญาใหม่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ที่รับรู้ต่อเนื่องมายังช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ และการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น

อาทิ หนี้สูญรับคืนที่บริษัทสามารถติดตามทวงถามได้เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการปรับปรุงกระบวนการติดตามและทวงถามหนี้ที่ดีตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 เป็นต้นมา และสนับสนุนให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 70.65 ล้านบาท เติบโต 30.3% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 54.21 ล้านบาท โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิในงวด 6 เดือนปี 2563 และงวด 6 เดือนปี 2562 เท่ากับ 12.57% และ 11.45% ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นๆ และการลดลงของอัตราดอกเบี้ยจ่ายของบริษัท

'ภาพรวมรายได้ของบริษัทมีการเติบโตเพิ่มขึ้น แม้ปีนี้ต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้วอลุ่มการปล่อยสินเชื่อใหม่ลดลงเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดี ด้วยความพร้อมในการบริหารจัดการที่ดี ทำให้บริษัทยังคงความสามารถในการทำกำไรในช่วงครึ่งปีแรก มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 30% และแนวโน้ม NPL ที่สามารถคุมได้ดีขึ้นเรื่อยๆ'

ท้ายสุด 'สมชัย' ทิ้งท้ายไว้ว่า จากความเชี่ยวชาญธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มายาวนาน มีความสัมพันธ์อันดีกับตัวแทนจำหน่าย และมีความพร้อมในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี รองรับโอกาสในการขยายตลาดรวมถึงแนวโน้มความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น แม้ในท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม