เช็คข้อดี-ข้อเสีย 'ช้อปดีมีคืน' ดีกว่าใช้ 'คนละครึ่ง' หรือไม่?
คนที่มีสิทธิทั้งในมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" และโครงการ "คนละครึ่ง" แต่ต้องเลือกใช้เพียงสิทธิเดียวเท่านั้น อาจไม่แน่ใจว่าจะใช้อันไหนดี? บ้างก็ว่ามนุษย์เงินเดือนที่ต้องเสียภาษีทุกปีควรใช้ "ช้อปดีมีคืน" ดีกว่าจริงหรือ?
มนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจยังสงสัยว่า หากเลือกรอใช้สิทธิในมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" เพื่อการ "ลดหย่อนภาษี" จะดีกว่าสมัครร่วมโครงการ "คนละครึ่ง" จริงหรือเปล่า? และมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรบ้าง? วันนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะชวนมาเช็ครายละเอียดของมาตรการนี้กันชัดๆ อีกที และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
- ข้อดีของมาตรการ "ช้อปดีมีคืน"
สำหรับข้อดีของมาตรการ ช้อปดีมีคืน อย่างแรกเลยคือ ไม่ต้องลงทะเบียนให้ยุ่งยาก เพียงแต่เวลาไปจับจ่ายซื้อของต้องไปซื้อกับร้านค้าที่จดทะเบียนภาษี VAT และสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบให้ได้ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษี โดยมาตรการนี้ให้ซื้อสินค้าและบริการ ไม่เกิน 30,000 บาท ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563
ข้อดีอีกอย่างคือ มาตรการนี้เหมาะมากกับคนที่ต้องเสียภาษีเยอะๆ ทุกปี ถ้าการจับจ่ายซื้อของต่างๆ ในชีวิตประจำวันจะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีรายปีได้ ก็นับเป็นเรื่องดี เพราะสามารถลดหย่อนภาษีในอัตราที่มากกว่า
นอกจากนี้ควรคำนึงถึงสิ่งของที่จะซื้อ โดยอาจพิจารณาเลือก 'ซื้อสินค้าจำเป็น' ที่ต้องใช้อยู่แล้ว เช่น ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว ยา/เวชภัณฑ์สุขภาพ อุปกรณ์ซ่อมบำรุงบ้าน/รถยนต์ หนังสือ ฯลฯ จะช่วยให้การช้อปปิ้งครั้งนี้ได้สิ่งของที่จำเป็นกับชีวิตจริงๆ แถมยังได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีด้วย ก็ถือว่าคุ้มค่าอยู่ไม่น้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เข้าใจให้ถูกต้อง "ลดหย่อนภาษี" ตามมาตรการนี้
ประชาชนต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนว่า การจะใช้สิทธิตามมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีนั้น ไม่ใช่ว่าซื้อสินค้าครบ 30,000 ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลแล้วจะได้คืนภาษี 30,000 บาทนะ แบบนี้คือผิด! จริงๆ แล้วเงินภาษีจะได้คืนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเงินได้สุทธิและอัตราภาษีของแต่ละคน ที่ต้องจ่ายรายปี
โดยข้อเท็จจริงการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท มีดังนี้
- เงินได้สุทธิต่อปี 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี จึงไม่ได้สิทธิคืนภาษี
- เงินได้สุทธิต่อปี 150,001-300,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิคืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 300,001-500,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 500,001-750,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 750,001-1,000,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 1,000,001-2,000,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 2,000,001-5,000,000 บาท หากช้อปเต็มจำนวน30,000บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
- เงินได้สุทธิต่อปี 5,000,001 บาทขึ้นไป หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท
ดังนั้น กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” มากที่สุด จึงเป็นกลุ่มประชาชนผู้ที่มีงินได้สุทธิต่อปีตั้งแต่ 500,001 บาทขึ้นไป โดยจะได้รับสิทธิคืนภาษีจากมาตรการช้อปดีมีคืน ได้คุ้มค่าที่สุด และอาจดีกว่าการเข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” อีกด้วย แต่ทั้งนี้หากต้องการได้เงินคืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท ก็ต้องควักเงินช้อปปิ้งให้ถึงยอด 30,000 บาทด้วย
- ข้อเสียของมาตรการ "ช้อปดีมีคืน"
ข้อเสียของมาตรการนี้อย่างแรกเลยก็คือ ไม่ครอบคลุมสินค้าทุกชนิด โดยมีการยกเว้นสินค้าบางชนิดที่ห้ามซื้อ ได้แก่ เหล้า, เบียร์, ไวน์, บุหรี่, ยาสูบ, ค่าน้ำมัน/แก๊สเชื้อเพลิง, ค่าเดินทาง (ค่ารถเมล์ แท๊กซี่ เรือ), ค่าบริการนำเที่ยว, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, ค่าที่พัก (ส่วนสินค้าที่ให้ซื้อได้ตามมาตรการนี้ ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป หนังสือ และสินค้า OTOP)
ข้อเสียอีกอย่างคือ ไม่เหมาะกับผู้ที่เสียภาษีไม่มาก หรือผู้ที่ไม่เสียภาษีรายปี (ได้รับการยกเว้นภาษี) และอาจต้องการความช่วยเหลือในค่าใช้จ่ายรายวันมากกว่า
ดังนั้นประชาชนกลุ่มนี้จึงไม่เหมาะกับมาตรการ "ช้อปดีมีคืน" แต่เหมาะกับการใช้สิทธิโครงการ "คนละครึ่ง" มากกว่า เนื่องจากผู้มีเงินได้สุทธิต่อปีไม่เกิน 300,000 บาท หากดูจากตัวเลขที่คำนวณค่าลดหย่อนสูงสุดกับภาษีที่จะได้คืนจากรัฐ จะพบว่าการลงทะเบียนรับสิทธิ์โครงการ "คนละครึ่ง" จะคุ้มมากกว่านั่นเอง