ไม้จิ้มฟัน ยันเรือบิน ‘การบินไทย’ ขายอะไรแล้วบ้าง?

ไม้จิ้มฟัน ยันเรือบิน ‘การบินไทย’ ขายอะไรแล้วบ้าง?

ในยามธุรกิจการบินไม่ปกติ ชวนส่องแหล่งรายได้ของ "การบินไทย" ตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน ยันเรือบิน ที่บริษัทขนมาขายเพื่อหารายได้ ตั้งแต่ ก.ย.2563 ที่ผ่านมา "เจ้าจำปี" มีสินค้าอะไรบ้าง?

จากวิกฤติโควิด-19 ที่หลายธุรกิจต้องเผชิญอย่างหนักหน่วง แต่ที่ดูจะอ่วมสุดๆ รายหนึ่ง เห็นจะหนีไม่พ้น "การบินไทย" เพราะเดิมทีก็ประสบวิกฤติทางธุรกิจอยู่เดิมแล้ว โดยหากนับตั้งแต่ 14 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ การที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สายการบินแห่งชาติ ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มลาย โดยช่วงเวลาที่ผ่านมา การบินไทยได้ปรับตัวหลายด้าน เพิ่มช่องทางหารายได้ใหม่ๆ 

จนกลายเป็นที่จับตาในทุกๆ ครั้งที่การบินไทยเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเปิดห้องอาหารอร่อยล้นฟ้าฯ เปิดขายเมนูปาท่องโก๋-สังขยามันม่วง การคืนชีพให้แพยางและเสื้อชูชีพสู่กระเป๋าดีไซน์เก๋ หรือการขายทัวร์ 99 วัดแบบบินวนไม่ลงจอด 

และล่าสุดการบินไทยก็ออกแคมเปญโล๊ะสต็อกสินค้า ที่มีการนำสิ่งของที่ไว้ให้บริการบนเครื่องบินมาขาย ภายใต้แคมเปญ "ไม้จิ้มฟัน ยันเรือบิน"

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงขอชวนตามไปดูกันว่า "การบินไทย" ขายอะไรไปแล้วบ้าง?  โดยจะพาไปไล่เรียงไทม์ไลน์การรุกคืบของธุรกิจ "นอนแอโร" ของสายการบินแห่งชาติของเรากัน!

160518010925

โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ฝ่ายต่างๆ ของการบินไทยมีการปรับตัวรุกธุรกิจนอนแอโรมากขึ้น ตั้งแต่ในส่วนของ "ครัวการบินไทย" ที่ยกบรรยากาศการรับประทานอาหารบนเครื่องบินมาเสิร์ฟกันบนภาคพื้น ปรับพื้นที่สำนักงานใหญ่ วิภาวดี-รังสิต เปิดภัตตาคาร Royal Orchid Dining Experience ภายใต้แคมเปญอร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้ ตอบโจทย์ผู้คนที่คิดถึงการเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

บรรยากาศภายในภัตตาคารพยายามทำให้เหมือนกับการนั่งกินอาหารบนเครื่อง มีการปรับนำยางและแกนของล้อเครื่องมาเป็นโต๊ะ นำที่นั่งบนเครื่องมาใช้ อีกทั้งการขนทัพเมนูอาหารทั้ง Business Class และ First Class มาให้บริการ รวมถึงสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารและบริการ ก็นำมาขายด้วยเช่นกัน 

โดยการปรับตัวเพื่อหารายได้บนภาคพื้นของครัวการบินไทยนั้น หนึ่งในเมนูที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือ ปาท่องโก๋ ดิปสังขยามันม่วง ที่กระแสตอบรับล้นหลาม จนต้องเปิดเตาเพิ่มถึง 7 สาขาทั่วประเทศ อย่างเช่น สำนักงานใหญ่ที่สีลมได้เป็นเป็น Pop-up Cafeteria และยังตั้งเป้าว่าภายในไตรมาส 1 ปี 2564 จะแตกไลน์ธุรกิจ “ปาท่องโก๋” ผ่านการขายแฟรนไชส์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดแฟรนไชส์ปาท่องโก๋ราว 200 สาขาทั่วประเทศ สร้างรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างลงทุนเครื่องจักร และเตรียมกระบวนการการผลิตให้รองรับต่อการขนส่งและคงคุณภาพของปาท่องโก๋

160518231134

นอกจากนี้ในส่วนของ Thai Flight Training Academy ได้เปิดคลาสที่จะช่วยให้แฟนๆ การบินไทย ได้มีประสบการณ์บนเครื่องบิน เปิดโครงการ We miss you สานฝันให้คนที่มีความฝันอยากเป็นนักบิน ได้เข้ามาเป็นนักบินในเครื่องฝึกบินจำลอง (Flight Simulator)

รวมถึงประสบการณ์การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สัมผัสประสบการณ์งานด้านบริการ และยังมีให้เลือกการสัมผัสประสบการณ์เป็นเชฟทำอาหาร และประสบการณ์การเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญเหตุภาวะฉุกเฉิน 

โดยคลาสเหล่านี้เป็นคลาสระยะสั้น มีให้เลือกตั้ง 4 ชั่วโมง จนถึง 4 วัน ส่วนราคานั้นมีตั้งแต่หลักพันบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท 

160518250042

ขณะที่ช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ในส่วนของ THAI Shop ได้เปิดตัวกระเป๋า Re-Life Collection เป็นการดัดแปลงเสื้อชูชีพและแพยางบนเครื่องที่หมดอายุการใช้งานแล้ว มาผลิตกระเป๋าเอาใจสายแฟชั่นกับกระแสรักษ์โลก Circular Economy โดยหลังเปิดให้สั่งจองผ่านเว็บไซต์ไม่นาน ก็ SOLD OUT ไปตามระเบียบ

160518294314

ตามมาติดๆ กับแผนการขายเครื่องบินมือสอง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้การประกาศเชิญชวนร่วมกระบวนการเสนอราคาเครื่องบินมือสองที่ยังสามารถใช้การได้อยู่ รวมทั้งหมด 34 ลำ

และยังมีการจัดแคมเปญ บินรับมงคลบนฟากฟ้า เป็นการเปิดเที่ยวบินพิเศษ บินวนไม่ลงจอด 3 ชั่วโมง ผ่าน 99 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และร่วมสวดมนต์บนฟ้ากับอาจารย์คฑา ชินบัญชร ซึ่งราคาก็ไม่ใช่เบาๆ ชั้นประหยัด เริ่มต้นที่ 5,999 บาท ชั้นธุรกิจ เริ่มต้นที่ 9,999 บาท แต่หลังจากเปิดจองไม่นาน ก็เต็มไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน  

160518318392

และล่าสุดก็คือโครงการ TG Warehouse Sale ที่การบินไทยเปิดโกดังเคลียร์สต็อกขายสินค้า โดยถือฤกษ์ 11.11 เป็นวันดีเดย์เปิดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสินค้าที่นำมาขาย ก็มีตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน แก้วพลาสติก ถ้วยชาญี่ปุ่น กระดาษเย็น กระดาษเช็ดปาก รวมถึงฟอยล์สำหรับอุ่นอาหาร ผลตอบรับก็เช่นเดียวกับแคมเปญอื่นๆ สินค้าหมดอยากรวดเร็ว 

ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆ นี้ "ชาญศิลป์ ตรีนุชกร" รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยฯ กล่าวว่า​ ได้ตั้งทีมสำรวจทรัพย์สินที่มีอยู่ในสต็อกทั้งหมดเพื่อนำมาสร้างรายได้ รวมทั้งยังมียางล้อเครื่องบิน (สภาพดีและใช้งานแล้ว) แกนล้อเครื่องบิน มาดัดแปลงเป็นโต๊ะ ตู้โชว์ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน 

รวมถึงผ้าหุ้มเบาะเก้าอี้ในเครื่องบินรุ่นเก่าที่สภาพดีและในสต็อกมาตัดเป็นเสื้อคลุมสตรี นอกจากนี้มีแผนปรับอาคาร 3 สำนักงานใหญ่ เปิดเป็นสำนักงานให้เช่า ขณะนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ติดต่อขอเช่าพื้นที่แล้ว ทั้งนี้จะเริ่มเปิดเช่าพื้นที่ได้ปี 2564

ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินของโลกในไตรมาส 3 ของปี 2563 แม้ว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากการเดินทางภายในประเทศ แต่ยังคงต่ำกว่าระดับปกติอยู่มาก ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

  • เปิดรายได้ไตรมาส 3 ปี 2563

บริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการ ลดค่าใช้จ่าย เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนอย่างเข้มข้นและยังคงให้บริการขนส่งสินค้า ในบางเส้นทาง รวมทั้งจัด เที่ยวบินพิเศษ เพื่อนำคนไทยกลับบ้าน นอกจากนี้ ยังมุ่งหารายได้เพิ่มจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขนส่งผู้โดยสาร โดยการเจาะตลาดลูกค้าภาคพื้นให้มากขึ้น ขณะที่บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้เริ่มกลับมาเปิดให้บริการผู้โดยสารในเส้นทางภายในประเทศอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563

ในไตรมาส 3 ของปี 2563 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 95% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 97.8% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 34.9% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 80.0% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.49 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 91.9% สำหรับด้านการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 96.2% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 93.6% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 91.2% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยที่ 52.2%

ทั้งนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 3,727 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 41,289 ล้านบาท หรือ 91.7% สาเหตุสำคัญเนื่องจากทั้งรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 37,654 ล้านบาท (95.1%) รายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 1,718 ล้านบาท (56.2%)

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 19,375 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 28,483 ล้านบาท (59.5%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานผันแปรลดลงจากปริมาณการผลิต ปริมาณการขนส่ง และจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายคงที่ที่อยู่ในระดับสูงทำให้การลดลงของค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 15,648 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 12,806 ล้านบาท (450.6%)