ผู้นำถกจบ 'อาร์เซ็ป' 15 พ.ย.นี้
อาร์เซ็ป ยึดยุทธศาสตร์การค้าโลก ก้าวย่างสำคัญการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน
ตามที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย. โดยปีนี้จัดในรูปการประชุมออนไลน์ ซึ่งผลการประชุมที่สำคัญในครั้งนี้ และหากเป็นไปตามแผนก็จะถือว่าเป็นผลผลิตชิ้นโบว์แดงของอาเซียนนั่่นคือ การลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่ใช้เวลาเจรจามากประมาณ 7 ปี 7เดือน หลังได้ข้อสรุปที่ประเทศเมื่อปี2562ที่ผ่านมา และกว่าจะผ่านขั้นตอนทางเทคนิคทำให้พิธีการลงนามจะเกิดขึ้นในวาระที่เวียดนามเป็นประธานการประชุมในปีนี้
นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวนฟุกของเวียดนาม ยืนยันระหว่างพิธีเปิดการประชุมว่า จะมีการลงนามอาร์เซ็ป ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ เช่นเดียวกับโมฮัมเหม็ด อัสมิน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้ามาเลเซีย ที่เผยก่อนการประชุมออนไลน์ว่า หลังจากเจรจากันมาอย่างเหนื่อยยากเกือบ 8 ปี สุดท้ายแล้วจะมีการลงนามข้อตกลงอาร์เซปในวันอาทิตย์ นี้
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า อาร์เซ็ปที่นำเสนอครั้งแรกในปี 2555 โดยมีจีนเป็นแกนนำประกอบด้วยสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เหล่านักลงทุนมองว่า หากลงนามกันแล้วจะเป็นข้อตกลงการค้าใหญ่สุดของโลกในแง่จีดีพี และถูกมองว่าแม้เดิมทีอินเดียต้องร่วมลงนามด้วยแต่ถอนตัวไปเมื่อปีก่อน ด้วยกังวลว่าสินค้าจีนราคาถูกจะทะลักเข้าประเทศ แต่สามารถเข้าร่วมภายหลังได้หากเปลี่ยนใจ แต่ก็ยังทำให้อาร์เซ็ปเป็นคู่แข่งกับข้อตกลงการค้าที่สหรัฐนำแต่ตอนนี้อ่อนแรงลงแล้วอย่างความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกจิภาคพื้นแปซฟิิก (ซีพีทีพีพี)
ราจีฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แผนกเอเชียแปซิฟิก บริษัทที่ปรึกษาไอเอชเอส มาร์กิต กล่าวว่า อาร์เซ็ป ที่มีจีดีพีสมาชิกรวมกันราว 30% ของจีดีพีโลก จะเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ซึี่งเขาย้ำว่าอาร์เซ็ปจะเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่สุดของโลกวัดจากจีดีพี
การลงนามข้อตกลงฉบับนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ 10 ชาติอาเซียนพยายามลดความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ทำลายทั้งเศรษฐกิจและสร้างวิกฤติสาธารณสุขขั้นรุนแรง ไม่เพียงเท่านั้น อาร์เซ็ปยังถูกมองว่าเป็นกลไกให้จีนร่างระเบียบกำหนดกติกาการค้าในเอเชียแปซิฟิก หลังจากสหรัฐรามือไปสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
อเล็กซานเดอร์ คาปรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าจากวิทยาลัยธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า อาร์เซ็ปมีประโยชน์ต่อความต้องการเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของจีนอย่างแน่นอน แต่เมื่อนายโจ ไบเดน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี สหรัฐก็อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับเอเชียแปซิฟิกแข็งขันยิ่งขึ้น เหมือนกับที่อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามาเคยทำ
“ถ้าคิดว่ารัฐบาลไบเดนก็คือภาคต่อของรัฐบาลโอบามา แน่นอนว่าจะต้องใช้นโยบายปักหมุดเอเชีย”
ขณะที่เอเชียแปซิฟิกกำลังรอดูว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐจะคลี่คลายไปอย่างไร ภายในภูมิภาคยังเผชิญปัญหาคาใจอีกหลายเรื่อง เช่น ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ที่ปักกิ่งอ้างกรรมสิทธิ์เกือบทั้งหมดทับซ้อนกับเวียดนาม ฟิลิิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน เรื่องนี้จะเป็นวาระในการประชุมผู้นำอาเซียนด้วยแต่เนื่องจากหลายประเทศโควิด-19 ระบาดรุนแรง และจีนให้คำมั่นว่าจะให้อาเซียนเข้าถึงวัคซีนจีนเป็นรายแรกๆ อาเซียนจึงไม่น่าจะมีท่าทีต่อต้านจีน
ในทางกลับกันจุดเน้นจะไปอยู่ที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจภายในกลุ่ม เนื่องจากหลายประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลักกำลังเสียหายหนักมาก
“เส้นทางข้างหน้าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” ประธานาธิบดีเหวียน ฝูจ่องของเวียดนามกล่าว พร้อมเตือนให้ผู้นำร่วมมือกันเพื่อควบคุมการติดเชื้อและช่วยเหลือผู้คนที่กำลังได้รับความเสียหาย
ด้าน ผศ.แก้วกมล พิทักษ์ดำรงกิจ จากศูนย์พหุภาคีนิยมศึกษา วิทยาลัยการระหว่างประเทศเอส ราชารัตนัมของสิงคโปร์ กล่าวว่า อาร์เซ็ปอาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงิน หลังโควิด-19 ซึ่งอาร์เซ็ปจะช่วยให้อาเซียนฟื้นตัวเร็วขึ้น เนื่องจากข้อตกลงช่วยให้บริษัทขยายซัพพลายเชนให้หลากหลาย เพิ่มความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจในภูมิภาค
ด้านรายงานจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าวันที่ 15 พ.ย.นี้ ในช่วงการประชุมผู้นำอาร์เซ็ป ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อพิจารณาสรุปประเด็นต่างๆ ที่ยังคงค้างในการเจรจา รวมถึงเตรียมความพร้อมการลงนามความตกลงตามกำหนดโดยจะมีพิธีลงนามความตกลง ผ่านระบบการประชุมทางไกลในวันเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลการประชุมผู้นำครั้งก่อน ว่าจะเดินหน้าลงนามหรือไม่จึงจะทราบว่า สมาชิกจะสามารถลงนามตามกำหนดวันที่ 15พ.ย.นี้ได้หรือไม่เช่นกัน หากสามารถลงนามได้ ในเบื้องต้น ฝ่ายไทยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ จะเป็นผู้ลงนาม
สำหรับขั้นตอนหลังจากลงนามแล้วจะเข้าสู่ขั้นการพิจารณาของของรัฐสภา หากได้รับความเห็นชอบและให้สัตยาบันข้อตกลงฯก็จะถือว่าจบกระบวนการภายในทั้งนี้อาร์เซ็ปกำหนดว่า ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อ สมาชิกอาเซียน ครึ่งหนึ่งให้สัตยาบันและสมาชิกที่ไม่ใช่อาเซียน (Non-Asean) อีกครึ่งให้สัตยาบัน ดังนั้นกว่าจะมีผลบังคับใช้ได้จริงคาดว่าประมาณครึ่งหลังปีหน้า
รายงานข่าวแจ้งว่า ในโอกาสนี้ ผู้นำอาร์เซ็ปยกเว้นอินเดีย จะร่วมการลงนามข้อตกลงฯโดยรูปแบบจะเป็นการส่งเอกสารข้อตกลงอาร์เซ็ปให้แต่ละประเทศเวียนลงนามกันจนครบจำนวน คือ 15 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 16 ประเทศ ยกเว้นอินเดียและผู้ลงนามจะบรรลุข้อตกลงกันไปก่อน แต่จะเปิดช่องเพื่อให้อินเดียสามารถเข้าร่วมได้ในภายหลัง
แม้การบรรลุข้อตกลงแบบไม่มีอินเดียอยู่ด้วยจะทำให้ความน่าสนใจของอาร์เซ็ปลดลง เพราะทั้งด้านจำนวนประชากร และมูลค่าจีดีพีจะลดลงไปแต่โดยภาพรวมอาร์เซ็ปยังมีความน่าสนใจในการค้าและการลงทุนต่อไป และที่สำคัญที่สุดคืออาร์เซ็ปจะเป็นจุดเชื่อมโยงซับพลายเชนที่สำคัญของโลก และประเทศไทยจะยึดกลยุทธ์ซับพลายเชนที่สำคัญของโลกไว้ได้