ททท.ปลุก 'ไทยเที่ยวไทย' โค้งสุดท้าย ผนึกแอร์ไลน์ดันยอดขายไฮซีซั่น
“ททท.” เร่งเครื่องโค้งท้ายปี 63 ดันรายได้ไทยเที่ยวไทย ร่วมแอร์ไลน์ขายแพ็คเกจกระตุ้นไฮซีซั่น พร้อมกางแผนควิกวินตลาดในประเทศปี 64 รุกคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง เจาะนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มกำลังจ่ายตรงจุด เข้ากับไลฟ์สไตล์และงบเที่ยวหลังวิกฤติโควิดฉุดกำลังซื้อ
นายกฤษณะ แก้วธำรงค์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เนื่องจากรัฐยังมีการเปิดประเทศอย่างจำกัดเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นกำลังสำคัญสร้างการหมุนเวียนรายได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นตั้งแต่เดือน พ.ย.2563-ก.พ.2564 หลังสายการบินต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการเที่ยวบินในประเทศมากขึ้น โดย ททท.จะร่วมกับสายการบินเสนอขายแพ็คเกจท่องเที่ยวกระตุ้นท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาวให้กระจายไปทางภาคอีสานบ้าง จากปกตินักท่องเที่ยวไทยจะกระจุกตัวที่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่
“แม้ภาพรวมไฮซีซั่นของตลาดไทยเที่ยวไทยปีนี้จะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังวิกฤติโควิด-19 ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และความมั่นใจในการออกเดินทาง แต่ก็มองว่าน่าจะยังมีกระแสการเดินทางมากกว่าช่วงโลว์ซีซั่นในปีปกติ เพราะมีปัจจัยหนุนเรื่องรัฐบาลประกาศวันหยุดยาวพิเศษในเดือน พ.ย.และ ธ.ค.นี้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว”
สำหรับกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของตลาดไทยเที่ยวไทยปี 2564 ททท.จะเน้นการทำ Content Marketing ให้ตรงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย และออกแบบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ตรงจุดและเข้าถึงแต่ละกลุ่ม เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นเรื่องของงบค่าใช้จ่าย (Budget) และวิถีการใช้ชีวิต (Lifestyle) ไม่เกี่ยวกับช่วงวัย (Generation) อีกต่อไป และยิ่งวิกฤติโควิดฉุดค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวของกลุ่มระดับกลางและล่างด้วยแล้ว ยิ่งต้องหารูปแบบหรือเส้นทางการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ เช่น อาจต้องร่วมกับค่ายรถจักรยานยนต์เพื่อทำแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวร่วมกัน ให้ตรงกับงบค่าใช้จ่ายที่ถูกจำกัด
ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มระดับบน เป็นกลุ่มที่ไม่กังวลเรื่องงบค่าใช้จ่าย ขอแค่ได้ท่องเที่ยวอย่างสะดวกสบายและแตกต่าง (Unique) จากกระแสหลัก โดยต้องเน้นสื่อสารและหาสินค้าท่องเที่ยวในไทยที่ตอบโจทย์ เพราะทันทีที่วิกฤติโควิดทั่วโลกคลี่คลายและสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวไทยกลุ่มนี้พร้อมเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศทันที
สำหรับแผนควิกวิน (Quick Win) จะใช้ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร สร้างกระแสและกระตุ้นความถี่ทางการเดินทางด้วยโครงการเดอะ เบสต์ เซลฟี่ อิน ไทยแลนด์ ดึงบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์เดินทางร่วมทริปและเซลฟี่ในจุดหมายที่ ททท.ต้องการโปรโมท พร้อมผนึกความร่วมมือกับสายการบินจัดแพ็คเกจตั๋วเครื่องบินราคาพิเศษ และจัดทริปพาบริษัทนำเที่ยวศึกษาเส้นทางด้วย คาดเริ่มดำเนินโครงการกลางเดือน ธ.ค.2563
นอกจากนี้จะใช้กลยุทธ์ User Generated Content สร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยววันธรรมดา ผ่านโครงการไทย ฟิล์ม เฟสติวัล ร่วมกับค่ายโรงภาพยนตร์เดินสายจัดเทศกาลภาพยนตร์ในภาคต่างๆ และจัดโครงการชอร์ต ฟิล์ม คอนเทส จัดประกวดภาพยนตร์สั้นภายใต้แนวคิดเที่ยวตามสไตล์ วันธรรมดา ให้เยาวชนที่เข้าร่วมประกวดเดินทางข้ามภาคเพื่อผลิตคอนเทนต์ โดยทาง ททท.จะนำคอนเทนต์เหล่านี้มาใช้โปรโมทเส้นทางท่องเที่ยววันธรรมดาต่อไป
ขณะเดียวกันเตรียมทำโครงการโร้ด ทริป อิน ไทยแลนด์ เพื่อโปรโมทเส้นทางขับรถท่องเที่ยว เน้นชูเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่น ทั้งอาหาร วัฒนธรรม และประเพณีในช่วงกลางเดือน ม.ค.2564 โดยจะร่วมมือกับค่ายรถยนต์ 2-3 ค่ายจัดคาราวานท่องเที่ยวตามเส้นทางข้ามภาค เช่น เชียงใหม่-เลย และเชียงใหม่-อุดรธานี ให้สำนักงาน ททท.ในแต่ละพื้นที่ชี้เป้าสินค้าท่องเที่ยวว่าต้องแวะจุดหมายใดบ้างระหว่างทาง
นายกฤษณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกจุดของมิติการสื่อสารที่ด้านตลาดในประเทศต้องปรับคือสำนักงาน ททท.ในแต่ละภูมิภาคต้องคิดข้อความโฆษณา Tagline ให้เชื่อมโยงกับสโลแกนหลัก “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์” ซึ่งเป็นที่รู้จักและจดจำอย่างดีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันต้องมุ่งเสนอขายสินค้าท่องเที่ยวเลย ไม่ต้องขายนิยามหรือแนวคิดการท่องเที่ยว เพื่อลดความสับสนของคีย์เวิร์ดด้านการสื่อสารโฆษณาท่องเที่ยวไทย