คาราบาวลั่นกลองรบเขย่ายักษ์ ‘ค้าปลีก-น้ำเมา’
คาราบาวกรุ๊ป เดินเครื่องลงทุนโชห่วยยุคใหม่ “ถูกดี” ปูพรม 3 หมื่นสาขาใน 5 ปี เร่งสร้างช่องทางขายตัวเองรับทัพสินค้าในเครือ-ซัพพลายเออร์ท้องถิ่น บุก "ตลาดเหล้า" เต็มสูบปีหน้า ชูโรง วิสกี้ไทยแบรนด์แรก ด้าน “ชูกำลังคาราบาวแดง” มั่นใจทะยานผู้นำอาเซียน
แม้ภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และสถานการณ์ โควิด-19 จะไม่เอื้ออำนวยต่อภาพรวมการลงทุนมากนัก แต่กลุ่มทุนไทย คาราบาวกรุ๊ป ที่มีแบรนด์เรือธง “คาราบาวแดง” กลับเดินหน้าบุกธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่องภายใต้ความเชื่อ “วิกฤติ” สร้าง “โอกาส”
นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBGกล่าวถึงทิศทางธุรกิจในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าว่า มุ่งขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกภายใต้โมเดลต่างๆ โดยจะมีแบรนด์ “ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นเรือธงของกลุ่ม ต่อยอดและเสริมความแข็งแกร่งของร้าค้าปลีกภายใต้แบรนด์ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต และ ซีเจ มอร์ สานยุทธศาสตร์เร่งสร้างช่องทางจำหน่ายของตนเอง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในสมรภูมิการค้าแห่งอนาคต
“ถูกดี” จะเข้ามาเปลี่ยนร้านโชห่วยชาวบ้านให้เป็นโมเดิร์นเทรด นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตู้แช่ การบริหารจัดการสินค้า ฯลฯ มาใช้ โดยบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เป็นผู้ลงทุน และแบ่งผลกำไรร้านค้า 85% ทีดีตะวันแดง 15%
ปัจจุบันมีร้านถูกดีให้บริการราว 200 ร้านค้าทั่วประเทศยกเว้นเขตกรุงเทพฯ จากการทดลองตลาด 2 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้พร้อมแล้วในการเร่งสร้างเครือข่ายโดยเปิดให้ผู้สนใจติดต่อเข้ามาจากนั้นจะมีการศึกษาแนวทางการปรับปรุงร่วมกัน คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีเครือข่ายร้านถูกดี 300 สาขา ตั้งเป้าหมายไตรมาสแรกปี 2564 มีสาขาอย่างน้อย 1,000 สาขา ก่อนก้าวกระโดด 5,000 สาขาในสิ้นปี และ 10,000 สาขาภายในปี 2565 ซึ่งภายใน 5 ปีจะมีเครือข่ายถูกดี ไม่ต่ำกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ
"แนวคิดร้านถูกดี จะอยู่ได้ต้องมียอดขาย 15,000 บาทต่อวัน ทำให้คอนเซปต์ โลว์คอสท์ คอนวีเนียนสโตร์ ที่มีอยู่มากในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งตลาดเหล่านี้โลคัลแบรนด์มีความแข็งแกร่งมากกว่าเชนสโตร์ต่างชาติ"
ร้านถูกดี มีขนาดตั้งแต่ 50 ตารางเมตร และ 100-120 ตารางเมตร ลงทุนราว 1 ล้านบาท มีสินค้าจำหน่าย 1,500 เอสเคยู โดยร้านโชห่วยที่เข้ามาอยู่ภายใต้ร่ม “ถูกดี” ต้องมีสัญญาใจต่อกัน หากไม่สามารถทำยอดขายได้ 10,000 บาทต่อวัน ติดต่อกัน 6 เดือน จะถูกบอกเลิกสัญญา เพื่อเป็นแรงกระตุ้นและขับเคลื่อนธุรกิจเดินหน้าไปพร้อมๆ กันได้ประโยชน์ทั้งโชห่วยและทีดี ตะวันแดง ซึ่งกรณีร้านที่ทำยอดขายได้ดีพบว่าสามารถสร้างผลกำไรตอบแทนได้ถึง 50,000-60,000 บาทต่อเดือนทีเดียว
ต่อยอดขายสินค้าในเครือ-ท้องถิ่น
นายเสถียร ย้ำว่า “ถูกดี” เป็นการลงทุนให้ชาวบ้าน พร้อมแก้ปัญหาโครงสร้างทางการค้าจากอุปสรรค และความเสียเปรียบทั้งด้านเงินทุน ความรู้ การเข้าถึงสินค้า รวมทั้งการเปิดรับโอกาสใหม่จากสินค้าท้องถิ่น เป็นการร่วมกันสร้างพลังแห่งเครือข่ายของความเป็นร้านชุมชนที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์จากชุมชนต่างๆ หรือ ซัพพลายเออร์ท้องถิ่นที่มีสินค้าที่น่าสนใจให้มีช่องทางขายมากขึ้น
ขณะที่ คาราบาว กรุ๊ป ได้ประโยชน์แบบ WIN WIN กล่าวคือ ยิ่งเครือข่ายยิ่งมากนั่นหมายถึงช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมตลาด และลงลึกถึงระดับชุมชน ชาวบ้าน สร้างเครือข่ายระดับหมู่บ้านที่สามารถต่อยอดได้ต่อเนื่องในอนาคต ทั้งยังทำการตลาด โปรโมชั่นในพื้นที่ขายได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบการขายผ่านร้านค้าปลีกอื่นๆ
"ร้านโชห่วยกว่า 2 แสนรายทั่วประเทศลดลงเรื่อยๆ แม้จะมีร้านเปิดใหม่ต่อเนื่องก็จริง แต่ร้านที่เผชิญภาวะลำบากมีมากกว่า และอยู่ยากขึ้น เรื่องใหญ่สุดของธุรกิจ คือ ความรู้ จะซื้ออะไรมาขาย ร้านโชห่วยในหมู่บ้านขายทุกอย่างเหมือนกันหมดจึงไม่แตกต่าง เรื่องนี้ท้าทายสำหรับเรามกว่าจะทำธุรกิจช่วยชาวบ้านได้อย่างไร แน่นอนว่า เราก็ได้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจ ยิ่งหากเรามี 30,000 สาขา จะทำให้เราลงลึกถึงชาวบ้าน และมีแต้มต่อเหนือคู่แข่งมหาศาล"
จะเห็นว่า ยุทธศาสตร์ของคาราบาว คือ การ “ยึดตู้แช่” หากย้อนกลับไปพิจารณาการทำตลาดร้านสะดวกซื้อต่างๆ สินค้าใน “ตู้แช่” คือโปรดักท์หัวหอกที่สร้างยอดขายเกินกว่า 30% ต่อวัน เช่น เบียร์ เครื่องดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เรียกว่า เป็นของที่กินแล้วต้องกลับมาซื้อใหม่ เทียบ สินค้าอุปโภค อย่าง “ทิชชู” ซื้อแล้วอีกหลายวันกว่าจะกลับมาซื้อซ้ำ แต่ “ตู้แช่” ซื้อได้ทุกวัน ดังนั้น หลักการง่ายๆ ของร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ หรือคอนวีเนียนสโตร์ ต้องหาของที่ใช้ไม่เกิน 1 เดือน เพื่อที่จะมาซื้อใหม่
เมื่อเรามี 30000 สาขา จะทำให้เราลงลึกถึงชาวบ้าน มีแต้มต่อเหนือคู่แข่ง
ดัน "ซีเจ" เข้าตลาดระดมทุนบุกค้าปลีก
นอกจากแบรนด์ถูกดี ในพอร์ตค้าปลีกของ คาราบาวกรุ๊ป ยังมีแบรนด์ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต และซีเจ มอร์ ในคอนเซปต์ศูนย์การค้าชุมชน ที่มีแผนขยายสาขาในอัตราเร่งเช่นกัน โดยวางเป้าหมายเปิดบริการ ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต 580 แห่ง และซีเจ มอร์ 50 แห่ง ภายในสิ้นปี 2563
ซีเจ เป็นโมเดลเจาะตลาดต่างจังหวัด ขณะที่ ซีเจ มอร์ ถูกวางตัวแทรกตลาดเมืองกรุงด้วยคอนเซปต์ More Than Anyone, More Than Supermarket นั่นคือการเป็นมากกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อทั่วไป รองรับทุกความต้องการของลูกค้าและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันอย่างชัดเจน
ร้าน“ซีเจ มอร์”ประกอบด้วยซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต แบรนด์ค้าปลีกดั้งเดิมเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค จุดเด่นคือการมีสินค้า ครบ คุ้ม ราคาประหยัดเทียบเท่ากับไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่สะดวกมากกว่าด้วยสาขาใกล้บ้าน
ภายใน ซีเจ มอร์ จะมีองค์ประกอบของแบรนด์ค้าปลีกเฉพาะที่เป็นแม่เหล็กสำคัญได้แก่นายน์ บิวตี้(Nine Beauty)โซนเครื่องสำอาง และความงามมัลติแบรนด์ เจาะกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากขึ้นบาว คาเฟ่(BaoCafé)ร้านกาแฟสดใกล้บ้าน ภายใต้แนวคิด “รสชาติถูกปาก ราคาถูกใจ” แฝงกลิ่นอายความเป็นกาแฟของคนไทย ในราคาเป็นมิตรกับลูกค้าทุกเพศทุกวัย และยังมีเมนูเครื่องดื่มอื่นๆ ที่หลากหลายอูโนะ(UNO) โซนสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น เครื่องเขียน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เน้นดีไซน์ทันสมัย ในคอนเซปต์ Your Innovation รองรับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและวัยทำงานที่มองหาของใช้ในชีวิตประจำวันเอ-โฮม(A-Home) โซนสำหรับคนรักบ้านกับคอนเซปต์ “เรื่องบ้าน เรื่องง่าย” ครบครันด้วยสินค้า D.I.Y.อุปกรณ์เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ทำสวน อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ประปา อุปกรณ์ดูแลรถ อุปกรณ์ของใช้ในครัว ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เจาะกลุ่มเจ้าของบ้านและวัยทำงาน
ภายใต้แผน 3 ปี (2564-2566) จะเร่งขยายเครือข่ายเพิ่มกว่าเท่าตัว มีสาขาไม่ต่ำกว่า 1,500 แห่ง ภายในปี 2566 โดยแต่ละปีลงทุนราว 2,350 ล้านบาท สำหรับการเปิดสาขาใหม่ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดพื้นที่ 200 ตร.ม. งบลงทุนเฉลี่ย 8 ล้านบาทซีเจ มอร์ขนาดพื้นที่ 600-700 ตร.ม. หรือที่ดินขนาด 2 ไร่ ลงทุนเฉลี่ย 15 ล้านบาท ดังนั้น 3 ปีข้างหน้าใช้เม็ดเงินลงทุนร่วม 7,000 ล้านบาท
พร้อมแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใน 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนั้นจะมีจำนวนสาขาทะลุ 1,500 แห่ง สร้างรายได้แตะ 30,000 ล้านบาท เพื่อระดมทุนขยายอาณาจักรค้าปลีกทั่วประเทศต่อไป
บุกตลาดเหล้าเต็มสูบปีหน้า
อีกธุรกิจที่อยู่ในความสนใจและเป็นการลงทุนในนามส่วนตัว ของ นายเสถียร ซึ่งมองว่า ตลาดมีศักยภาพและโอกาสอย่างมากคือ "ธุรกิจเหล้า“ ภายใต้คำถามว่ ”เป็นไปได้อย่างไรที่จะมีคนทำเหล้าอยู่คนเดียว แค่คิดก็มันแล้ว! โดยนับจากวันแรกใช้เวลา 10 ปี หลังรัฐเปิดให้มีใบอนุญาตทำเหล้า มีเราคนเดียวที่มี ผมพร้อมจะทำเหล้าดีๆ ให้ดู ทำไมต้องกินเหล้าเดิมๆ อยู่เจ้าเดียว"
ปัจจุบัน ในพอร์ตเหล้า มีการทำตลาด เหล้าข้าวหอม ขายเดือนละ 3-4 แสนลัง บรั่นดี “กาแลคซี” ซึ่งขณะนี้ประสบปัญหากำลังการผลิตไม่ทันป้อนตลาด โดยได้ลงทุนเครื่องจักรใหม่ราว 200 ล้านบาท คาดว่าจะพร้อมกลับมาจำหน่ายได้ราวเดือน ต.ค.ปีหน้า ทั้งนี้โรงงานผลิตเหล้า อยู่ใน อ.หันคา จ.ชัยนาท บนที่ดิน 1,000 ไร่
“ปีหน้าเราจะบุกตลาดเหล้าเต็มสูบ จะมี วิสกี้แบรนด์แรกของเมืองไทยออกสู่ตลาด!”
เบอร์1เมืองไทย-อาเซียน
บิ๊กสเต็ปของการบุกตลาดต่อยอดขยายอาณาจักร คาราบาว กรุ๊ป ตั้งเป้าหมาย 2-3 ปีข้างหน้าจะขยับสถานะขึ้นเบอร์ 1 เครื่องดื่มชูกำลังในเมืองไทย และมองโอกาสใหญ่ คือ ผู้นำในตลาดอาเซียน เทียบยุโรป ที่คาราบาว มีฐานใหญ่ในอังกฤษ แต่ผู้นำตลาดมีความแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ ในภูมิภาค ประเทศจีนคือตลาดใหญ่แห่งอนาคต แม้การเข้าทำตลาดร่วม 4 ปีทีผ่านมา ขาดทุนไปแล้ว 2,000-3,000 ล้านบาท แต่เป็นการเรียนรู้ตลาด ปรับเปลี่ยน และจัดทัพใหม่รองรับแผนการขยายตลาดที่ขณะนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยวางเป้าหมายเบื้องต้น 3 ปีข้างหน้าจะมียอดขายอย่างน้อย 300 ล้านกระป๋อง ซึ่งในเวลานั้นจะสามารถสร้างการเติบโตได้ในอัตราเกินกว่า 50% ในแต่ละปี
หากไม่ถอดใจ จีนจะยังเป็นตลาดที่เติบโตได้อีกมาก ซึ่งเราค่อนข้างได้เปรียบในการเจาะตลาดด้วยราคาต่ำกว่าแบรนด์ผู้นำ และเมื่อการขายถึงระดับหนึ่งจะต้องมีการจ้างผลิต (โออีเอ็ม) จะส่งเสริมการทำตลาดของเราให้ดียิ่งขึ้น