สมาคมอสังหาฯแนะรายเล็ก ใช้ดาต้าเทคโนโลยีลดเสี่ยง
สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุ ภาพรวมปี 64 ดีขึ้น หลังผ่านจุดต่ำสุดปีนี้ เตือนผู้ประกอบการขนาดกลาง-เล็กปรับตัว ใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ระบุหมดยุคการก็อบปี้รายใหญ่ ด้านสมาคมอสังหาฯ ภูเก็ต แนะให้ความสำคัญแคชโฟลว์
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี2564 จะดีขึ้นจากปีนี้ที่ถือเป็นจุดต่ำสุด โดยเฉพาะคอนโดที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ส่วนแนวราบยังประคองตัวได้ สังเกตได้จากผู้ประกอบการที่มีพอร์ตแนวราบ ผลการดำเนินการในไตรมาส 3 ค่อนข้างดี ส่วนผู้ที่มีแต่แนวสูงได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากพฤติกรรมคนซื้อหันไปซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบมากขึ้น เพราะต้องการพื้นที่ในการอยู่อาศัย ทำงานและเว้นระยะห่างทางสังคม
ฉะนั้นทิศทางปีหน้า ตลาดแนวรายไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์จะได้รับความนิยมต่อเนื่อง ขณะที่คอนโดต้องรอให้โควิดคลี่คลาย และเปิดประเทศซึ่งจะมีกลุ่มลูกค้าต่างชาติเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาด รวมทั้งผู้คนที่มีความมั่นใจในการใช้พื้นที่ร่วมกันมากขึ้น
“อย่างไรก็ตามคอนโดคงจะไม่ปรับลดราคาลงไปกว่านี้ ราคาต่อจากนี้ไปจะเป็นราคาที่ผู้ประกอบการอยากขาย เพราะที่ผ่านมาลดราคากันเยอะแล้ว”
นายพรนริศกล่าวว่าตลาดที่ปรับตัวดีขึ้นปีหน้า แต่จะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิม ดังนั้นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีทุนจำกัดจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการใช้ข้อมูล เทคโนโลยี หรือแพลตฟอร์มต่างๆ เข้ามาช่วยในการตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกทำเล ออกแบบสินค้าให้ตอบกลุ่มเป้าหมาย เพราะหมดยุคที่จะทำตามรายใหญ่อีกต่อไป
นายบุญ ยงสกุล อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จ.ภูเก็ต และประธานบริษัท โบ๊ทพัฒนา จำกัด กล่าวว่า อสังหาฯ ในภูเก็ตได้รับผลกระทบรุนแรงหลังจากปิดเมือง วิกฤตที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของภูเก็ตมากที่สุดในรอบหลายปี เปรียบเป็นสึนามิทางธุรกิจ ทำให้ธุรกิจต่างๆ ประสบปัญหา เนื่องจากโดยปกติรายได้ 90-95 % มาจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อเกิดโควิด-19 กลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ รวมทั้งชาวจีนมาเที่ยวภูเก็ตหายไป ตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 แม้ว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยนั้นจะมีอยู่ แต่ด้วยกำลังซื้อที่มีไม่เพียงพอเพราะรายได้จากการท่องเที่ยวหายไป
จากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการขายโครงการอสังหาฯ ในภูเก็ตรุนแรง สังเกตได้จากโครงการที่โบ๊ทพัฒนาพัฒนาอยู่ เช่น โครงการทาวน์เฮ้าส์ที่ต้องทำตลาดหนักขึ้น โดยกว่าจะสามารถขายได้ต้องขายถึง 4 ครั้ง ถือเป็นค่าเฉลี่ยใหม่ในภูเก็ต เพราะกลุ่มลูกค้าติดปัญหากู้ธนาคารไม่ผ่านทำให้บริษัทต้องใช้เวลาในการขายกับลูกค้าเพิ่มขึ้น จากเิดมที่่ใช้แค่ 2 ครั้ง สำหรับกลุ่มลูกค้าอสังหาฯ ในภูเก็ตแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่เองและกลุ่มที่สองเป็นการซื้อเพื่อลงทุน
ในฐานะเป็นผู้ประกอบการอสังหาฯขนาดกลาง จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติและความไม่นอนที่เกิดขึ้นด้วยการระมัดระวังเนื่องกระแสเงินสดมาเป็นอันดับแรก โดยจะมีการรีวิวและปรับแผนการทำงานเร็วขึ้นจากเดิมเป็นรายได้ไตรมาสมาเป็นรายเดือนแทน เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
"ต่อจากนี้ไปการทำงานจำเป็นต้องอาศัยข้อมูล เทคโนโลยีเข้ามาช่วยประกอบการตัดสินใจมากขึ้นจากเดิมอาศัยประสบการณ์ ความรู้สึกคงไม่ได้ เพราะการแข่งขัน เงินลงทุนมีจำกัด ฉะนั้นการทำงานต้องแม่นยำเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ” นายบุญกล่าว