ส่องอาณาจักร ‘บำรุงราษฎร์’ กับการเปลี่ยนผ่านผู้ถือหุ้นใหญ่
ส่องอาณาจักร ‘บำรุงราษฎร์’ โรงพยาบาลเอกชนสุดหรูกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง BDMS เทขายบิ๊กล็อต สู่มือ "สาธิต วิทยากร" ประธานบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอลฯ
กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ของ “หมอเสริฐ” นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เทขายหุ้นบิ๊กล็อต “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือ BH เป็นจำนวน 180,715,806 หุ้น หรือ 22.17% ให้กับผู้ซื้อในราคาหุ้นละ 103 บาท คิดเป็นมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท
สำหรับทุนใหม่ที่จะเข้ามารับซื้อหุ้นบิ๊กล็อตนี้ คือ “สาธิต วิทยากร” ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้าซื้อหุ้น BH จำนวน 180,715,806 หุ้น ในนามส่วนตัว โดยแบ่งเป็นการทำรายการซื้อ 2 ครั้ง
ครั้งแรกวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 90.50 ล้านหุ้น คิดเป็น 11.34% ซึ่งสาธิตระบุว่า ที่ผ่านมาส่วนตัวถือหุ้น BH จำนวน 77,100 หุ้น คิดเป็น 0.0096% ทำให้ภายหลังการซื้อหุ้นครั้งนี้ ตนถือหุ้น BH เพิ่มเป็น 90.57 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 11.38%
ส่วนที่เหลือ อีก 90.21 ล้านหุ้น คาดว่าจะทำการซื้อขายเสร็จภายในสิ้นปีนี้
แน่นอนว่าการขายหุ้นของ BDMS ครั้งนี้จะส่งผลต่อเครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เนื่องจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะพาไปเจาะลึกทำความรู้จักโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทั้งที่มา และข้อมูลเชิงธุรกิจที่น่าสนใจ
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2523 หรือราว 40 ปี “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นบนทำเลใจกลางเมือง บริเวณสุขุมวิท ซอย 3 หลังจากนั้นในปี 2532 โรงพยาบาลได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากวันเริ่มต้นก่อตั้ง โรงพยาบาลมีความสามารถในการรองรับ 200 เตียง ผ่านมาถึงปัจจุบันมีการขยายอาคารและการให้บริการเพื่อรองรับผู้ใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยในได้ 580 เตียง และผู้ป่วยนอก 5,500 คนต่อวัน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ราวๆ 7,000 คน เป็นพนักงาน 4,800 กว่าคน แพทย์และทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 1,200 คน พยาบาลราว 900 กว่าคน
โดยมีกลุ่มลูกค้ากว่า 190 ประเทศเข้ามารักษา เฉลี่ยปีละ 1.1 ล้านคน
ปัจจุบันเครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มี “ชัย โสภณพนิช” เป็นประธานกรรมการ โดยบริษัทได้เข้าไปถือหุ้นโดยตรงใน 10 บริษัทย่อย ดังนี้
1.บริษัท ไวทัลไลฟ์ จำกัด (Vitallife) ดำเนินธุรกิจศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยแบบครบวงจร คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมผิวหนัง และจำหน่ายเครื่องสำอางออร์แกนิก
2.เอเชีย โกลเบิล เฮลท์ ลิมิเต็ด ซึ่งจดทะเบียนในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจการแพทย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค แต่ปัจจุบันหยุดดำเนินการแล้ว
3.บริษัท เอเชีย โกลเบิล รีเสิร์ช จำกัด ดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการการวิจัยทางคลินิก ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรมมะเร็ง และประกอบกิจการร้านขายยา
4.บริษัท รื่นมงคล จำกัด ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินขนาด 3 ไร่ 3 งาน 44.4 ตารางวา บริเวณสุขุมวิท ซอย 1
5.ไลฟ์ แอนด์ ลองจิวิตี้ ลิมิเต็ด จดทะเบียนในฮ่องกง โดยเป็นบริษัทโฮลดิ้งเพื่อการลงทุนในกิจการในต่างประเทศ
6.บริษัท ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมบุคลากร บำรุงราษฎร์ จำกัด
7.บริษัท บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ศูนย์พัฒนาบุคลากร บำรุงราษฎร์ จำกัด) เป็นบริษัทเพื่อการลงทุนในธุรกิจด้านการแพทย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ
8.เฮลท์ ฮอไรซัน เอ็นเตอร์ไพรส์ พีทีอี ลิมิเต็ด เป็นบริษัทโฮลดิ้ง จดทะเบียนในสิงคโปร์ ตั้งขึ้นมาเพื่อสนองนโยบายการลงทุนของบริษัทในกิจการในต่างประเทศที่เกี่ยวกับการแพทย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
9.บริษัท บำรุงราษฎร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้บริการส่งต่อผู้ป่วยทั้งในและนอกประเทศ และให้บริการฝึกอบรมเกี่ยวกับการแพทย์แก่บริษัททั่วไป รวมถึงลงทุนในต่างประเทศ
10.บริษัท ไวทัลไลฟ์ อัลไลอันซ์ จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสถานพยาบาลที่บางกระเจ้า
นอกจากนี้ยังเข้าไปถือหุ้นโดยอ้อมกับบริษัทอีก 3 บริษัท ได้แก่
1.บำรุงราษฎร์ มองโกลเลีย แอลแอลซี ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่จดทะเบียนในประเทศมองโกเลีย
2.โซล ซีเนียร์ส ทาวเวอร์ แอลแอลซี เป็นเจ้าของและผู้ประกอบกิจการโรงพยาบาลฮุลานบาตอร์ ซองโด (Ulaanbaatar Songdo Hospital) ในประเทศมองโกเลีย และ
3.บำรุงราษฎร์ เมียนมา โค ลิมิเต็ด เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการคลินิกในเมียนมา ให้บริการดูแลเบื้องต้นและการตรวจวินิจฉัยโรค
อีกทั้งบริษัทยังมีบริษัทร่วมอีกสองบริษัท คือ 1.บริษัท บำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ 2.อินโนไวทัล อินเตอร์เนชั่นแนล เอจี ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทไวตามิน และบริการหลังการขาย
จากข้อมูล ณ วันที่ 17 มีนาคม 2563 พบว่าทุนจดทะเบียนบริษัทอยู่ที่ 922.70 ล้านบาท แยกเป็นหุ้นสามัญ 921.49 ล้านบาท และหุ้นบุริมสิทธิ 1.21 ล้านบาท
ในส่วนของการจ่ายปันผล ปี2563 จ่ายไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 โดยจ่าย 1.15 บาทต่อหุ้น ขณะที่ปีก่อนหน้ามีการจ่ายทั้งหมดสองครั้ง (เดือน พ.ค. และ ก.ย. 63) รวม 3.20 บาทต่อหุ้น
ขณะที่รายชื่อผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกที่ถือหุ้นรายใหญ่ จากข้อมูลวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ระบุไว้มีดังนี้
ทั้งนี้ในแง่ของรายได้จากการดำเนินงานนั้น เครือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 9,611 ล้านบาท ลดลงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าราว 4,272 ล้านบาท
ขณะที่กำไร 9 เดือนแรกในปีนี้อยู่ที่ 1,031 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 1,831 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 64%
ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้รายได้และกำไรลดลงไป มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าลดลงไป โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งปกติแล้วรายได้จากกิจการโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ นั้นเป็นรายได้หลักของบริษัท คิดเป็นสัดส่วนราว 97% ของรายได้รวมทั้งหมด
ขณะเดียวกันในแง่ของค่าใช้จ่ายก็ลดลงเช่นกัน เหลือ 5,798 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 7,570 ล้านบาท เนื่องจากค่าธรรมเนียมแพทย์ ต้นทุนสินค้า และค่าใช้จ่ายพนักงานที่ลดลง เป็นผลมาจากการบริหารจัดการกำลังคนในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ที่มา : bh.listedcompany, bumrungrad, bangkokbiznews,