'กรมส่งเสริมสหกรณ์' ปรับกฎเข้มป้องเสี่ยงทุจริต ลงโทษคนทำผิด

'กรมส่งเสริมสหกรณ์' ปรับกฎเข้มป้องเสี่ยงทุจริต ลงโทษคนทำผิด

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งออกมาตรการ สกัดทุจริต ส่งหน่วยตรวจสอบ พบเสี่ยงแจ้งเตือน จี้เอาผิด ล่าสุดประสานลับดีเอสไอจับกุมอดีตกรรมการสหกรณ์สโมสรรถไฟ สร้างความเสียหายกว่า 2.2 พันล้น

สหกรณ์ออมทรัพย์ และเครดิตยูเนี่ยน เป็นกลุ่มที่มีเงินหมุนเวียนในระบบสูงมาก ถึง 2.1-2.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 70% ของเงินหมุนเวียนในระบบสหกรณ์ขณะนี้ 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีเงินหมุนเวียนอยู่ 2.5 ล้านล้านบาท ดังนั้นหากระบบสหกรณ์ไม่เข้มแข็งมากพอ ความเสี่ยงของสหกรณ์2 ประเภทนี้จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างแรง

และด้วยความที่สหกรณ์เป็นนิติบุคคล บริหารสินทรัพย์โดยคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก  แม้จะมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ดูแลอยู่ แต่อำนาจอธิบดีที่เป็นนายทะเบียนโดยตำแหน่งก็ไม่สามารถลงโทษกรณี คณะกรรมการเหล่านี้กระทำความผิด ทุจริตหรือยักยอกทรัพย์  ซึ่งจะเห็นได้จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และสหกรณ์สโมสรรถไฟ  จำกัด ที่มีมูลค่าความเสียหายรวมๆแล้วกว่า  2 หมื่นล้านบาท

 

      นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น และป้องกันความเสี่ยง กรมส่งเสริมสหกรณ์อยู่ระหว่างการปรับแก้พระราชบัญญัติ(พรบ.)สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ปัจจุบันได้ทยอยออกร่างกฎกระทรวงและผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว

การปรับแก้ พ.ร.บ. กฎกระทรวงและมาตรการทั้งหมด มีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบสหกรณ์อย่างเข้มข้น สามารถเอาผิดกับคณะกรรมการ บุคคลอื่นที่สร้างความเสียหายให้กับสหกรณ์ได้  รวมทั้งกำกับการใช้เงิน ซึ่งจะป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น การทุจริตจะน้อยลง   แต่สิ่งที่จะฝ้าระวังและตรวจสอบความเสี่ยงได้ดีที่สุดคือตัวของสมาชิกเอง  ดังนั้นสมาชิกต้องทำหน้าที่ติดตามและตรวจสอบกิจการของสหกรณ์นั้นๆ ด้วย  160648712454

กรมส่งเสริมสหกรณ์จะมีหน่วยให้คำแนะนำ ตรวจตราสหกรณ์ โดยเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เมื่อพบสิ่งผิดปกติมีความเสี่ยง ต้องรายงาน แจ้งเตือน พร้อมทั้งให้คำแนะนำส่งเสริมสหกรณ์ กรณีที่พบคณะกรรมการทำไม่ถูกต้อง ก็จะเร่งรัด แก้ไข หาตัวผู้รับผิดชอบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”  

อย่างกรณีสหกรณ์สโมสรรถไฟ ที่อดีตคณะกรรมการทุจริตทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหายกว่า 2,285  ล้านบาท นั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประสานกับสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  เป็นการลับเพื่อให้มีการเร่งดำเนินคดีกับอดีตกรรมการ และนำมาสู่การจับกุมได้แล้ว  

 โดยนำข้อมูลที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ส่งก็คือชุดเดิมที่ร้องไว้กับพนักงานสอบสวนที่ สน.นพวงศ์  และสน.ปทุมวัน  มาก่อนหน้านี้  ทำให้ดีเอสไอ ไม่ต้องเสียเวลาในการสอบสวนข้อมูลเพิ่มเติม และด้วยอำนาจสอบสวนตามกฎหมายของดีเอสไอ กรมจึงเห็นว่าการให้ดีเอสไอมาช่วยทำคดีจะเป็นผลดีต่อสมาชิกในขบวนการสหกรณ์แห่งนี้

 

ซึ่งกรณีการทุจริตของอดีตกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ ได้ตรวจพบว่า มีการอนุมัติเงินกู้พิเศษไม่เป็นไปตามระเบียบให้แก่สมาชิก 6 รายในช่วงปี 2556-59 รวม 199  สัญญายอดเงินกู้คงเหลือ  2,285 ล้านบาท  หลังพบเหตุ 21 พ.ย. 59 อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ในขณะนั้นในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำสั่งให้ตรวจสอบเรื่องและกรมได้มีการตรวจพบว่ามีการทุจริตจริง   จากนั้นกรมได้มีการดำเนินการตามกฎหมายของพรบ.สหกรณ์ มาต่อเนื่อง

สำหรับ ร่างกฎกระทรวง เพื่อควบคุมสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ที่ผ่านความเห็นชอบจากครม. แล้วมี 5 ฉบับ ประกอบด้วย

1.ร่างกฎกระทรวงการให้กู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้และให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น กำหนดให้สหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ 3 ประเภทคือ เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน จะกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 12 งวด, เงินกู้สามัญเป็นการให้เงินกู้แก่สมาชิกเพื่อใช้จ่าย หรือการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 150 งวด และ เงินกู้พิเศษ มีวัตถุประสงค์ของการกู้เพื่อประกอบอาชีพหรือการเคหะ หรือประโยชน์ในความมั่นคงหรือพัฒนาคุณภาพชีวิต กำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 360 งวด อายุสูงสุดของผู้กู้ชำระหนี้แล้วเสร็จไม่เกินอายุ 75 ปี เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน การกู้ยืมเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป กำหนดให้สมาชิกต้องส่งข้อมูลเครดิตบูโร เป็นต้น

2.ร่างกฎกระทรวงการรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ก่อหนี้ และสร้างภาระผูกพัน รวมถึงการกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกันของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เช่น สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่เกิน3 ปี กำหนดให้สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์จะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์ ส่วนสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจะก่อหนี้และภาระผูกพันได้ไม่เกิน 5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์

 

3.ร่างกฎกระทรวงการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญคือการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้ทั้ง 2 สหกรณ์ มีสภาพคล่องเพียงพอและดำรงสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วโดยที่มูลค่าไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การกำหนดให้สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่ปราศจากภาระผูกพัน อาทิ เงินสด เงินฝากธนาคาร โดยเฉลี่ยรายเดือนไม่น้อยกว่า 3% ของยอดเงินรับฝากทุกประเภท ส่วนชุมนุมสหกรณ์กำหนดไว้ที่6%

4.ร่างกฎกระทรวงการจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรองของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการจัดชั้นสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้สามารถจัดชั้นการให้เงินกู้และการให้สินเชื่อหรือสินทรัพย์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริงและการกันเงินสำรอง เช่น กำหนดให้สหกรณ์ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากต้นเงินคงเหลือสำหรับลูกหนี้จัดชั้นดังนี้ ลูกหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ 2%, ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน 20%, ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย 50%, ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญและลูกหนี้จัดชั้นสูญ 100%

5.ร่างกฎกระทรวงการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจำกัดปริมาณการทำธุรกรรมกับลูกหนี้และเจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งเพื่อเป็นการป้องกันการกระจุกตัวความเสี่ยงไม่ให้สูงจนเกินไป เช่น สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์จะฝากเงินหรือให้กู้แก่สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกิน10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ผู้ฝากเงินหรือให้กู้เงิน แต่ไม่นับรวมถึงการฝากเงินในชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิก และกำหนดด้วยว่า สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับสหกรณ์ทุกประเภทหรือชุมนุมสหกรณ์ทุกประเภทรวมกันแล้วแต่ละแห่งได้ไม่เกิน 25% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง ยกเว้นกรณีสหกรณ์ก่อหนี้และภาระผูกพันกับชุมนุมสหกรณ์ที่สหกรณ์นั้นเป็นสมาชิกรวมกันแล้ว ให้ทำได้ไม่เกิน 50%