ถอดกลยุทธ์ เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ซีนเนอร์ยี จีเอ็มเอ็ม25 ก่อนเข้าตลท.
เปิดโครงสร้าง กลยุทธ์ใหม่ "เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์" หลังเดินเกมซื้อกิจการจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ควบธุรกิจคอนเทนท์เสริมแกร่งทีวีดิทัล แต่งตัวก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
เป็นดีลที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อตระกูล “ปราสาททองโอสถ” ขยายการลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะล่าสุด บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่มีรายนามของ “ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ” ถือหุ้นใหญ่ พร้อมด้วย “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” แม่ทัพใหญ่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และ “ถกลเกียรติ วีรวรรณ” เข้าซื้อหุ้นบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ผู้บริหารทีวีดิจิทัลช่อง 25
การเข้าซื้อกิจการดังกล่าว มีที่มาที่ไปอย่างไร และจะต่อยอดธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ขาลงให้เติบโตได้อย่างไร “ถกลเกียรติ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์” เล่าว่า การซื้อกิจการครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลุ่มเดอะ วันฯ และสิริดำรงธรรม ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิม 50% ในจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง โดยมูลค่าซื้อขายรวม 2,200 ล้านบาท ครอบคลุมกิจการที่เป็น “ผู้ผลิตคอนเทนท์” ส่วนทีวีดิจิทัลช่อง จีเอ็มเอ็ม 25 ยังคงเป็นของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เหมือนเดิม
“เราเป็นพันธมิตรกันอยู่แล้ว หลังการซื้อขายกิจการทุกฝ่ายยังคงทำงานร่วมกันหลายส่วน”
ทั้งนี้ โครงสร้างใหม่ที่ได้หลังซื้อกิจการ บริษัทที่รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ ไม่ว่าจะเป็น จีเอ็มเอ็ม ทีวี , จีเอ็มเอ็ม มีเดีย, เช้นจ์ 2561 และจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชันแนล จะผนวกเข้ามาอยู่ใต้การบริหารของกลุ่มเดอะ วันฯ โดยทุกรายล้วนมีความแข็งแกร่งในด้านการผลิตเนื้อหารายการโทรทัศน์ ซีรีส์วาย ซีรี่ส์ระดับภูมิภาค และระดับเอเชีย ละครที่มีเนื้อหาดราม่า แซ่บ ตลอดจนรายการวิทยุยอดนิยม เป็นต้น
สำหรับบทบาทของกลุ่มวันจากนี้ไปจะรับหน้าที่ทำการตลาดและช่วยหาลูกค้า รวมถึงการร่วมผลิตรายการป้อนให้แก่ช่องจีเอ็มเอ็ม25 ซึ่งจีเอ็มเอ็ม25ยังคงดำเนินการออกอากาศปกติและมีจีเอ็มเอ็มแกรมมี่เป็นเจ้าของ
ขณะที่ผลลัพธ์ของการซื้อกิจการจากจีเอ็มเอ็ม แชนแนลฯ จะช่วยให้กลุ่มเดอะ วันฯ สามารถเดินกลยุทธ์ผสานพลังหรือ Synergy กันด้านคอนเทนท์แข็งแกร่งมากขึ้น และตอบโจทย์คนดูให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างกว่าเดิม เนื่องจากผู้ผลิตแต่ละรายมีจุดแข็งด้านเนื้อหาแตกต่างกันไป รวมถึงช่องจีเอ็มเอ็ม25 สร้างสรรค์รายการตอบกลุ่มเป้าหมายคนดูแตกต่างกันด้วย โดยช่องวัน31 เน้นคนดูทันสมัยในวงกว้างหรือ Modern Mass ส่วนจีเอ็มเอ็ม25เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือเทรนดี้
นอกจากนี้ เกมการซีนเนอร์ยีจากนี้ไป จะเห็นผังรายการใหม่ของทั้ง 2 ช่องที่เปลี่ยนจากเดิมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเห็นคอนเทนท์ละคร ซีรี่ส์ ที่เคยออกอากาศทางช่องจีเอ็มเอ็ม25 จะโยกไปอยู่ช่องวัน31 แทน เช่น คลับฟรายเดย์ เดอะซีรี่ส์ จะออกอากาศวันศุกร์ เวลา 21.30 น. เช้นจ์ 2561 จะผลิตละครให้ช่องวัน31 จำนวน 4 เรื่อง เน้นละครดราม่า แซ่บ เป็นต้น ส่วนช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จะเพิ่มซีรี่ส์วาย 6 เรื่อง เพื่อออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ 7 วัน จากเดิมจีเอ็มเอ็ม ทีวีผลิตปีละ 3 เรื่อง มีการเพิ่มรายการแฉข่าวเช้า รวมถึงการผลิตข่าวเที่ยง ข่าวค่ำ และรายการบันเทิงป้อนคนดูให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันคอนเทนท์เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก และไม่จำกัดผู้ชมแค่จอแก้วอีกต่อไป เพราะสามารถต่อยอดธุรกิจ และนำเสนอคอนเทนท์ขยายไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นโอทีที(Over The Top) โซเชียลมีเดีย เป็นต้น
“จีเอ็มเอ็ม25กับกลุ่มเดอะ วันฯ ถือเป็นพี่น้องกันอยู่แล้ว การรวมตัวกันจะเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจ มีความคล่องตัวมากขึ้น และนำคอนเทนท์ไปต่อยอดแพลตฟอร์มให้มากหลายจากออนแอร์สู่ออนไลน์”
อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้วยเม็ดเงิน “พันล้านบาท” ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่สูง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ยังอยู่ อีกทั้งธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลค่อนข้างเป็น “ขาลง” แต่ ถกลเกียรติ ย้ำว่านี่คือการลงทุนระยะยาว และบรรดาแม่ทัพนายกองของธุรกิจต่างๆจะไม่ยอมจำนนให้กับอุปสรรคนานัปการที่ถาโถมเข้ามาแน่นอน
นอกจากนี้ ที่ต้องจับตาคือการเขย่าโครงสร้างผู้ถือหุ้น โครงสร้างธุรกิจของทั้งจีเอ็มเอ็มแชนแนลฯ และกลุ่มเดอะ วันฯ คือการแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ในอนาคตด้วย
“ดีลนี้มีการเจรจากันหลายเดือน โดยเรามองหาโอกาสในการรวมธุรกิจกัน ทำอย่างไรให้ 1+1 เท่ากับ 3 จากกระแสจีเอ็มเอ็ม25 ไม่อยู่จะปิด ไม่จริง! เพราะหลังการซีนเนอร์ยีครั้งนี้เราจะแข็งแกร่งขึ้น ส่วนการจะผลักดันให้จีเอ็มเอ็ม25 ติดท็อปของช่องทีวีดิจิทัล ไม่ใช่ประเด็น และไทม์ไลน์การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังพิจารณาอยู่”