เทอร์ร่า แนะอสังหาฯสร้างแบรนด์ อัพราคาขายได้20-30%
เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง เผยสำรวจผู้บริโภคหาสุดยอดสตรองแบรนด์ในธุรกิจอสังหาฯ ระบุ แสนสิริรั้งแชมป์ 3ปีซ้อน แนะผู้ประกอบการอสังหาฯสร้างความน่าเชื่่อถือ ส่งผลให้ลูกค้ายอมจ่ายเพิ่ม20-30%เหตุมองเป็นการลงทุนพร้อมขายต่อ
สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการบริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า แสนสิริ ได้ Brand Powerful Score อันดับที่ 1 คิดเป็น 66% จากผู้ตอบแบบสอบถาม ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 90% รู้จักแบรนด์แสนสิริเป็นอย่างดี และมองว่าเป็นผู้นำในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานงานก่อสร้าง, บริการหลังการขาย, มีคุณภาพ, การออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์, ออกแบบเพื่อผู้สูงวัย และนวัตกรรมสำหรับการอยู่อาศัย รวมถึงยังเห็นว่าเป็นแบรนด์ที่เข้าใจความต้องการของผู้อยู่อาศัย-นักลงทุน, สะท้อนตัวตนเจ้าของ และภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ
รองลงมาเป็น “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” แต่ว่าปีนี้ การสำรวจด้านบริการหลังการขายถูกแสนสิริ แซงขึ้นไป สะท้อนให้เห็นว่า ช่วงวิกฤติแสนสิริ ไม่ได้หยุดนิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ยังมีคะแนนที่ดีในเรื่องของมาตรฐานคุณภาพที่ยังครองอันดับ 1
“การสร้างแบรนด์มีความสำคัญ ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤติ แบรนด์มีคุณค่ามากขึ้น ยกตัวอย่างช่วงโควิดที่ผ่านมาอสังหาฯรายกลาง รายเล็กแทบปิดโครงการเพราะขายไม่ได้ แต่แสนสิริ เอสซีแอสเสท เอพี ยังขายได้ สะท้อนให้เห็นว่าแบรนด์มีความสำคัญ เพราะแบรนด์เป็นมากกว่าโปรดักท์"
สุมิตรา ระบุว่าในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาแสนสิริ ออกมาบอกว่า ลดราคา และออกโปรโมชั่นอยู่ฟรี 2 ปี ขณะที่แลนด์แอนด์เฮ้าส์บอกว่า ไม่ลดราคาเพราะบ้านคุณภาพ ซึ่งสวนทางกับอารมณ์ซื้อของคนที่จำเปนต้องซื้อบ้านในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี
“จากประสบการณ์ในการสำรวจและทำวิจัยแบรนด์อสังหาฯมา 3 ปี พบว่าความรู้สึกของ ลูกค้ามองว่า แบรนด์อสังหาฯมีส่วนช่วยยกระดับและฐานะทางสังคม ถ้าได้อยู่บ้านของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ,แสนสิริจะทำให้ดูดี ดูเท่ ดูเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ และจากผลการทำโฟกัสกรุ๊ปพบว่า กลุ่มคนที่สนใจซื้ออสังหาฯ ทั้งบ้านและคอนโดภายใน 6 เดือนถึง1 ปี ถ้าทุกอย่างเมือนกัน ไม่ว่า โลเคชั่น หรือราคาจะเลือกซื้อแบรนด์รายใหญ่ เพราะมองว่า แบรนด์ใหญ่มีคุณค่าและมูลค่าในอนาคตมากกว่าแบรนด์เล็ก”
ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิมมากขึ้น จากอดีตที่ส่วนใหญ่คนซื้อที่อยู่อาศัยมีความคิดว่าซื้อเพื่ออยู่ในระยะยาว แต่ปัจจุบันเริ่มคิดใหม่ว่าการซื้อที่อยู่อาศัยต้องคำนึงถึงการซื้อขายในอนาคตที่สามารถเปลี่ยนมือได้เหมือนกับรถยนต์ สะท้อนให้เห็นความรู้สึกของคนไทยที่มีกับที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป เป็นการตอกย้ำความเชื่ออย่างหนึ่งคือ อสังหาฯ เป็นสินทรัพย์ที่ดี เพราะในวันที่มีปัญหา สามารถขายต่อเพื่อหาเงินก้อนใหญ่มาชำระหนี้ และยังมีเงินเหลือ ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถอยู่อาศัยและทำกำไรได้
“ปัจจุบันลูกค้าเริ่มคิดเทียบมากขึ้น เหมือนกับที่บริษัทได้เปรียบเทียบแบรนด์รถยนต์กับแบรนด์บ้าน เพราะการซื้อบ้านก็เหมือนการซื้อรถยนต์ จากสมัยก่อนที่คนไทยไม่เคยนำบ้านมาเทียบกับรถยนต์ เพราะซื้อเพื่ออยู่ยาว แต่ปัจจุบันมองว่าบ้านเป็นเรื่องการลงทุน สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ไม่ต่างจากรถยนต์”
สุมิตรา กล่าวว่า ในมุมมองของผู้ตอบแบบสอบถามเมื่อเปรียบเทียบแบรนด์อสังหาฯ กับแบรนด์รถยนต์ ในช่วง3 ปีที่ผ่านมาอันดับเปลี่ยนไป จากผลสำรวจในปี 2563 ภาพลักษณ์ของ “แสนสิริ” ยังคงเป็นรถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู เหมือนเดิม 34% ขณะที่ “แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์” มีภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปส่วนใหญ่รู้สึกคือความเป็นผู้ใหญ่ ดูน่าเชื่อถือและไว้วางใจใน มีคุณภาพเทียบกับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เหมือนดิม 53% ส่วน “เอสซี แอสเสท” ปีนี้มีภาพลักษณ์ขยับเท่ากับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ 26% จากปีก่อนเป็น บีเอ็มดับเบิลยู “อนันดา” ปีนี้ภาพลักษณ์ เสมือนกับรถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู 25%จากเดิมที่เป็น มินิ คูเปอร์ “เอพี ไทยแลนด์” ยังคงมีภาพลักษณ์เป็น ฮอนด้า 27% ติดต่อกัน 3 ปี “‘คิวเฮ้าส์” ภาพลักษณ์เปลี่ยนไปเป็นโตโยต้า 23% จากปีก่อนเป็นบีเอ็มดับเบิลยู และก่อนหน้านี้เป็น วอลโว่
“ศุภาลัย” ยังคงเป็นโตโยต้า 28% เหมือนผลสำรวจในปีที่ผ่านมา “ออริจิ้น” มีภาพลักษณ์เป็นเอ็มจี 23% จากเดิมเป็นมาสด้า “แอลพีเอ็น” ปีนี้ยังคงเป็นโตโยต้า 33% ติดต่อกัน 3 ปี “พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค” มีภาพลักษณเป็นโตโยต้า 20% จากเดิมเป็นฮอนด้า “พฤกษา” ยังคงเป็นโตโยต้า 38% ติดต่อกัน 3 ปี “เสนาฯ” มีภาพลักษณ์เป็นอีซูซุ 23% จากปีก่อนเป็นโตโยต้า และ “โกลเด้นแลนด์” มีภาพลักษณ์เป็นโตโยต้า 23% ติดต่อกัน 2 ปี
“หลังจากการทำงานวิจัยมา3 ปีพบว่า แบรนด์อสังหาฯ มีค่ามากสำหรับลูกค้าเพราะอสังหาฯ คือทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าและราคาไม่มีวันตก ซึ่งลูกค้าก็เริ่มเชื่อและเข้าใจ ฉะนั้นแบรนด์ผูกกับคำว่าราคาไม่ตก อย่างโครงการแลนด์แอนด์เฮ้าส์จะขายแพงกว่าโครงการอื่นได้กำไรมากว่าคนอื่น ขณะที่ต้นทุนที่ดิน การก่อสร้างเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน"
ทั้งนี้เนื่องจากลูกค้ายอมจ่ายค่าแบรนด์ได้มากกว่าโครงการที่ไม่มีแบรนด์ถึง 20-30% ผู้ประกอบการจึงต้องให้บริการที่ดี สร้างความมั่นใจกับลูกค้าไม่ใช่แค่การโฆษณาอย่างเดียว เพราะในอนาคตผู้ประกอบการที่ไม่สร้างแบรนด์จะอยู่ยากขึ้น