กฟผ.ฟูมฟักนวัตกรรมปั้นธุรกิจใหม่ รับมือดิสรัปชั่นกิจการไฟฟ้า

กฟผ.ฟูมฟักนวัตกรรมปั้นธุรกิจใหม่ รับมือดิสรัปชั่นกิจการไฟฟ้า

Disruptive Technologyหรือ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology)และการเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า กลายเป็นประเด็นหลักกระทบต่อการดำเนินกิจการไฟฟ้าของประเทศไทย

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นยักษ์ใหญ่ดูแลความมั่นคงการผลิตและจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ จึงต้องส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานรูปแบบใหม่ๆ พร้อมปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ที่นอกจากจะดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าแล้ว ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศด้วย เพราะอัตราค่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม 

นายสมชาย โชคมาวิโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแบะนวัตกรรม กฟผ. ระบุว่า กฟผ.ได้ปรับกลยุทธ์การทำงานด้วยการนำนวัตกรรมและระบบอัจฉริยะมาช่วยเสริมศักยภาพระบบผลิต-ส่งไฟฟ้าให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยส่งเสริมการคิดค้นผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมพลังงานใหม่เพิ่มกว่า30ผลงาน และนำมาจัดแสดงภายในงาน EGAT INNOVATION SHOWCASE 2020 เมื่อวันที่ 8-9 ธ.ค.2563

160751072526

“การพัฒนานวัตกรรมของ กฟผ. แม้ว่าจะยังไม่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ เพราะกฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่ยังติดขัดด้านข้อกฎหมาย นวัตกรรมส่วนใหญ่จึงเป็นการผลิตเพื่อให้งานในกิจการต่างๆของ กฟผ.ที่นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณ บางผลงาน ประหยัดได้เป็นหลักร้อยล้านบาทแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบต่างๆด้วย”

สำหรับนวัตกรรมใหม่ของ กฟผ.ที่นำมาจัดแสดง งาน EGAT INNOVATION SHOWCASE2020 ได้แก่ 

นวัตกรรมเครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียดสู่การใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของชุมชน จะช่วยกำจัดผักตบชวาและวัชพืชกีดขวางทางน้ำ เริ่มตั้งแต่กระบวนการกำจัดจนถึงปลายทาง โดยติดตั้งเครื่องบด และฉีดพ่นน้ำยาEMบนเรือกำจัดวัชพืช ทดลองที่เขื่อนภูมิพล ก่อนนำไปสู่การผลิตเพื่อใช้ในแหล่งน้ำต่างๆ ต่อไป ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยประเทศผลิตเรือกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียดได้ภายในประเทส ด้วยต้นทุน2-25ล้านบาท ประหยัดนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาอยู่ที่28ล้านบาท และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานในการกำจัดวัชพืชลอยน้ำและการสูญเสียรายได้จากการผลิตกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากวัชพืชกีดขวางทางน้ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น

160751070082

โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ เป็นการพัฒนารถโมบายรับขยะที่ กฟผ.โดยทีมโรงไฟฟ้าน้ำพองได้ร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ศึกษาวิจัยและพัฒนาขึ้นโดยเป็นการติดตั้งโรงไฟฟ้าขยะเคลื่อนที่ ใกล้ๆโรงไฟฟ้าน้ำพอง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง ที่มองว่า หากโครงการนี้สำร็จก็จะขยายผลไปสู่ชุมชนต่างๆ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้

160751077311

โครงการศึกษาการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า กฟผ. เนื่องจากในอนาคตจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบมากขึ้นและยังมีความผันผวน โดยเฉพาะพลังงานลม และโซลาร์ กฟผ.จึงมีแผนติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานเพื่อรองรับ และต้องการข้อมูลพยากรณ์ที่แม่นยำของพลังงานไฟฟ้า เพื่อที่จะวางแผนและปรับเปลี่ยนกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าดั้งเดิมให้เป็นไปอย่างเหมาะสม จึงนำปัญญาประดิษฐ์วิธีโครงข่ายงานระบบประสาท ซึ่งเลียนแบบการทำงานของสมองมนุษย์มาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางด้านระบบไฟฟ้าโดยใช้โปรแกรมNostradamusโดยนวัตกรรมนี้ เพิ่มความถูกต้องของข้อมูลราว90%ปัจจุบัน กฟผ.นำไปใช้ประโยชน์ที่ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ(NCC) พร้อมทดสอบประสิทธิภาพผ่านแบบจำลองใหม่ๆอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความแม่นยำ

160751078521

นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมหุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่องานบำรุงรักษาสายส่ง เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถไต่บนสายดินล่อฟ้า (Overhead Ground Wire : OHGW)ที่พาดอยู่บนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งมาพร้อมกับแขนกลสำหรับดึงหรือลากอุปกรณ์ลดแรงสั่นสะเทือน (Vibration Damper)ที่ติดตั้งอยู่บนสายOHGWให้กลับเข้าสู่ตำแหน่งปกติ โดยไม่ต้องดับไฟระหว่างปฏิบัติงาน แก้ปัญหาสายOHGWหลุดลงมาพาดสายส่งไฟฟ้าจนทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง

โครงการวิจัย20C Discharge C-Rate & Pole Solid State Batteryเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการนำระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะที่เหมาะสมมาใช้กับประเทศไทย เพื่อช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น แสงแดด และลมมีเสถียรภาพมากขึ้น

การพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ตรวจสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่นที่2 สำหรับตรวจสภาพภายในเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ หุ่นยนต์มีแรงเคลื่อนที่มากขึ้น กล้องคมชัดยิ่งขึ้น มีอุปกรณ์เสริมสามารถหยิบวัตถุแปลกปลอมที่ตกค้างภายในเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออกได้ รวมถึงรองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น เทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality : AR)เป็นต้น

ทั้งนี้ กฟผ.คาดหวังว่า การพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ จะเป็นการปูพื้นฐานองค์ความรู้ของ กฟผ.และต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ ตามแนวทางสู่EGAT Smart Energy Solutionในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะตอบโจทย์ 5 มิติพลังงานรูปแบบใหม่ คือ 1. ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า 2. ระบบส่งไฟฟ้า 3.ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ 4. พลังงานหมุนเวียน และ 5. ระบบรถไฟฟ้า(EV)และระบบกักเก็บพลังงาน ที่จะสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจควบคู่การดูแลความมั่นคงทางพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของประเทศสู่ระดับสากล