กฟผ. ทุ่ม1ล้านล้านบาท เพิ่มผลิตไฟ-นำเข้าแอลเอ็นจี

กฟผ. ทุ่ม1ล้านล้านบาท เพิ่มผลิตไฟ-นำเข้าแอลเอ็นจี

กฟผ.ทุ่มลงทุน 1 ล้านล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 8,875 เมกะวัตต์ พัฒนาระบบส่ง เชื่อมโยงซื้อ -ขายไฟฟ้าเพื่อนบ้าน เล็งโอกาส 3-5 ปี ตั้งบริษัทเข้าลงทุนในแหล่งผลิตแอลเอ็นจี จ่อเสนอครม.ไตรมาส1ปี64 หาผู้รับเหมาสร้างเอฟเอสอาร์ยู อ่าวไทย 5 ล้านตันต่อปี

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย ทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ.ว่า กฟผ.ยังเดินเหน้าลงทุนผลิตไฟฟ้าและระบบส่ง คิดเป็นวงเงินลงทุน 1 ล้านล้านบาท หรือ ปีละ 5.6 หมื่นล้านบาท รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1)

 

โดย กฟผ.จะดำเนินการใน 3 แนวทางหลัก คือ 1. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและระบบส่งไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ ซึ่งตาม PDP 2018 Rev.1 กฟผ.ได้รับมอบหมายให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า กำลังผลิตรวม 8,875 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าใหม่  8 โครงการ กำลังผลิตรวม 6,150 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าน้ำพอง กำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ปี2568,โรงไฟฟ้าแม่เมาะ(ถ่านหิน) ขนาด 600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2569,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2569 และอีก 1,400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2570,โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2570 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2572,โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ขนาด 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2571 และอีก 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 2578

 

“ในปี2564 กฟผ.เตรียมออกทีโออาร์เปิดประมูลรับเหลาก่อสร้าง โรงไฟฟ้าน้ำพอง โรงไฟฟ้าแม่เหมาะ และโรงไฟฟ้าพระนครใต้”

รวมถึง โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) หรือ โซลาร์ลอยน้ำ ในเขื่อนของ กฟผ. จำนวน 9 แห่ง 16 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 2,725 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธร กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ จะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้าของประเทศในอนาคต ซึ่งภายในปี 2580 สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จะอยู่ที่ระดับ 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ

 

ขณะที่การพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า กฟผ.จะจัดทำโรงไฟฟ้าดิจิตัล พัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบผสมผสาน รวมถึงพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า โดยขยายระบบส่งทั้ง 230 kV และ 500 kV พร้อมรองรับการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

 

2.เพิ่มส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจเดิม โดยในส่วนของการซื้อขายไฟฟ้าต่างประเทศ กฟผ.ได้เจรจากับกัมพูชา คาดหวังจะซื้อไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ สิงคโปร์ จะซื้อไฟฟ้าจากลาวผ่านไทยไปมาเลเซีย ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และมาเลเซีย จะซื้อไฟฟ้าเพิ่มจาก 100 เมกะวัตต์เป็น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องปรับปรุงระบบสายส่งต่างๆ ให้พร้อมรองรับการซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต

 

ขณะที่ธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) กฟผ. ยังมีแผนนำเข้าใน 3 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นปี 64 ปริมาณ 1.9 ล้านตัน ปี 65-66 ปีละ 1.8 ล้านตัน ขณะที่การลงทุนโครงการคลังรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ลอยน้ำ(FSRU) ในอ่าวไทย ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ของ กฟผ.เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไตรมาส 1 ปี64 เพื่อเปิดประมูลก่อสร้างต่อไป

 

และในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า กฟผ.ยังมองถึงโอกาสจัดตั้งบริษัทเข้าไปลงทุนธุรกิจต้นน้ำในแหล่งผลิต LNG เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน รวมถึง ธุรกิจบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ยังดำเนินการต่อเนื่องและจะครอบคลุมไปถึงโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนด้วย และขยายเข้าไปยังต่างประเทศ เช่น ลาว เป็นต้น

 

“ส่วนความร่วมมือกับ ปตท.ในการศึกษาโครงการก่อสร้างคลังรับ-จ่ายLNG ลอยน้ำ หรือ FSRU พื้นที่ภาคใต้ ได้ศึกษาเบื้องต้นเสร็จแล้ว และมีความเห็นร่วมกับ ปตท.เพื่อเสนอกระทรวงพลังงาน ขอดำเนินโครงการนี้เพื่อจัดหา LNG ป้อนโรงไฟ้ฟาสุราษฏร์ธานี ที่จะเข้าระบบในปี 2569”

3.การเติบโตในธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจ Electric Vehicle (EV) โดยจัดทำสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ซึ่งปี 64 มีเป้าหมายจะก่อสร้างให้ครบ 31 แห่ง และจะเดินหน้าขยายการติดตั้งเพิ่มเติมต่อไป เป็นต้น

 

นายบุญญนิตย์ กล่าวอีกว่า การเติบโตทางธุรกิจของ กฟผ.ในอนาคต จะดำเนินการไปกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะมุ่งมั่นวางรากฐานให้ กฟผ.พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยหลักการบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์” และดูแลพนักงาน 18,000 คน ให้สู่มืออาชีพด้านพลังงาน

 

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 2564 คาดว่า จะเติบโตขึ้น 4% จากปี2563 ที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า จะลดลง 3% เมื่อเทียบกับปี 2562 จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง 40-50% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่ง กฟผ.อยู่ระหว่างจัดทำแผนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ให้เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน