“สกพอ.” ยกชั้นโรงงาน 3 พันแห่งใช้หุ่นยนต์

“สกพอ.” ยกชั้นโรงงาน 3 พันแห่งใช้หุ่นยนต์

หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ คือหัวใจของความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการผลิต ที่สามารถลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับมาตรฐานทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยระหว่างการสัมมนาในเรื่องสถานการณ์และแนวโน้มของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศไทย จัดร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ว่า  ปีที่ผ่านมาในประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 14 ประเทศที่มีการปรับใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก ยังถือว่าต้องทำงานเพิ่มอีกมากเพื่อผลักดันให้ไทยก้าวไปอยู่ 1 ใน 10 หรือ 1 ใน 5 ของโลกให้ได้ 

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตถือเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เขตพัฒนาพิเศษภาคคะวันออก (อีอีซี) ได้ดำเนินการผลักดันอย่างต่อเนื่อง และยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศไทยให้ก้าวสู่ในเวทีระดับโลก

ใน 2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใน อีอีซี ที่มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปีโตรเคมี และอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสอีกมาก เพราะมีโรงงานเพียง 15% เท่านั้นที่มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีส่วนผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยเฉพาะการบริการด้านสาธารณสุขก็มีความต้องการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง

“อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเป็นฐานในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงให้การส่งเสริมเป็นอย่างมาก รวมถึงสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสำคัญในปีหน้า คือการพัฒนาระบบ 5 จี ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สำคัญ เพื่อรองรับจากใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งใน อีอีซี จะมีสัญญาณเครือข่าย 5จี ครอบคลุม 50% ของพื้นที่ ดังนั้น พื้นที่ อีอีซี จึงเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย โดย อีอีซี จะทำแคมเปญใหญ่เพื่อให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมใน อีอีซี ประมาณ 10,000 โรง ได้มาใช้ระบบ 5จี เพื่อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งพร้อมที่จะร่วมมือกับทางญี่ปุ่นในการทำงานครั้งนี้

160812148085

ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่าสกพอ.ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในการส่งเสริมเอสเอ็มอีในพื้นที่ อีอีซี นำร่องใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จำนวน 50 ราย โดยจะให้เงินช่วยเหลือในการเปลี่ยนมาใช้ระบบหุ่นยนต์รายละ 2.5 แสนบาท และเอสเอ็มอีจ่ายสมทบเองอีก 2.5 แสนบาท หรือจะจ่ายมากกว่านี้ โดยจะเริมโครงการนี้ได้ภายในเดือนม.ค. 2564

“โรงงานเอสเอ็มอีที่เข้าโครงการทั้ง 50 ราย จะใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ประมาณ 3 เดือน จากนั้นจะใช้เวลาทดสอบระบบอีก 3 เดือน เพื่อตรวจสอบการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนได้ตามเป้าหมายที่วางแผนไว้หรือไม่”

โดย อีอีซี มีเป้าหมายที่จะปรับให้โรงงานในพื้นที่่ที่มีประมาณ 10,000 ราย แบ่งเป็น โรงงานขนาดใหญ่ 1,000 โรง ขนาดกลาง 2,000 โรง และขนาดเล็กอีก 7,000 โรง มาใช้หุ่นยนต์ทั้งหมด ซึ่งในปี 2564 ตั้งเป้าให้โรงงานขนาดใหญ่ และกลางรวมทั้งหมดอย่างน้อย 3,000 โรง หันมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการผลิต เป็นกลุ่มแรก เพราะมีความพร้อมมากกว่ากลุ่มเอสเอ็มอี

นอกจากนี้ อีอีซี จะประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการเอสไอ (พัฒนาด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) ของไทย และญี่ปุ่นมาร่วมกันทำงานเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ โดย อีอีซี จะเป็นผู้แนะนำบริษัทใน อีอีซี ที่ต้องการปรับมาใช้หุ่นยนต์ เพื่อให้บริษัทเอสไอ ของไทยและญี่ปุ่น เข้าไปเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการเหล่านี้ต่อไป

ในส่วนของการสร้างบุคลากร อีอีซี มีแผนที่จะผลิตบุคลากรในด้านนี้เป็นจำนวน 50,000 คน ภายใน 5 ปี ในจำนวนนี้จะสร้าง เอสไอ ของไทย เพิ่มขึ้นอีก 2,000 ราย รวมทั้งจะจัดทำมาตรฐานธุรกิจเอสไอ เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบการด้านเอสไอในไทยให้ได้ตามที่กำหนด

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ทำให้ขาดแคลนแรงงานสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งยังมีปัญหาต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นโดยตลอด และตลาดโลกต่างต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานสูง เที่ยงตรงและแม่นยำ 

"ความต้องการใช้หุ่นยนต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาคการผลิตไทยไม่อาจจะหลีกเลี่ยงในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมการรับมือตั้งแต่ตอนนี้”

นรากร ราชพลสิทธิ์ รองนายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) กล่าวว่า ในขณะนี้มีโรงงานเข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการขอรับเงินสนับสนุนจาก อีอีซีและสสว. แล้วเกือบ 100 ราย ทาง TARA จะลงไปสำรวจและคัดเลือกให้เหลือ 50 ราย โดยจะเป็นโรงงานระดับ 2.8 ยกระดับเป็น 3 จำนวน 25 โรง และโรงงานระดับ 3 จะยกเป็นระดับ 3.5 อีก 25 โรง โดย โครงการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ของ อีอีซี นี้ จะเน้นใช้หุ่นยนต์ที่ผลิตโดยคนไทยก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งในปัจจุบันมีโรงงานผลิตหุ่นยนต์ของไทยประมาณ 4-5 ราย

จากสถิติเฉลี่ยของโรงงานที่ปรับมาใช้หุ่นยนต์จะคืนทุนได้ภายใน 4-7 ปี ซึ่งสูงกว่าสิงคโปร์ที่คืนทุนได้ภายใน 1 ปี เนื่องจากค่าแรงของไทยยังต่ำกว่าสิงคโปร์มาก ซึ่งปัจจัยค่าแรงต่ำนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เอสเอ็มอียังลังเลใจที่จะปรับมาใช้หุ่นยนต์ ซึ่งมองว่าหากค่าแรงไทยขึ้นไปแตะที่ 500 บาทต่อวัน ก็จะทำให้ความต้องการหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นอีกมาก มาก ซึ่งในขณะนี้ค่าแรงของคนไทยส่วนใหญ่ก็เกิน 500 บาทต่อวันแล้ว มีเพียงแรงงานต่างด้าวที่ยังใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงาน จะเข้ามาทดแทนแรงงานต่างด้านที่หายไป ทำให้กระทบต่อแรงงานไทยน้อยมาก แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้มาก