“เถ้าแก่น้อย” ตีโจทย์ธุรกิจใหม่ ลุยเครื่องดื่ม ลดเสี่ยงสแน็คสาหร่าย
16 ปี เป็นก้าวย่างของขนมขบเคี้ยว(สแน็ค)สาหร่ายแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” จากเด็กวัยรุ่นติดเกม ผันตัวเองมาสวมบทนักธุรกิจวัยกระเตาะ และใช้เงินทุน 1 ล้านบาท สร้างกิจการจนเติบใหญ่มีรายได้หลักพันล้านบาท
ทว่า ธุรกิจที่เคยเติบโตเป็นดาวรุ่ง ต้องเจออุปสรรคเป็นบททดสอบบ้าง แต่ปี 2563 ข้อสอบใหญ่คือการฝ่าวิกฤติโควิด-19 หนักสุดในรอบ 16 ปีของการตั้งบริษัทมา
“ปีนี้หนักกว่าตอนตั้งบริษัทใหม่ๆ เพราะตอนนั้นผมเริ่มต้นทำธุรกิจสแน็คสาหร่ายคนเดียว แต่ปัจจุบันผมมีทีมงาน พนักงานที่ต้องดูแล คู่ค้า พันธมิตร มีคนเกี่ยวข้องในองค์กรธุรกิจจำนวนมาก” อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ฉายผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้ยอดขายสินค้าหดตัวรุนแรง เพราะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็น “ขุมทรัพย์” สำคัญหายไป
ผลกระทบเถ้าแก่น้อย ช่วงโควิด-19 ระบาดเดือน มี.ค.2563
เมื่ออำนาจซื้อจากชาติมังกรหายทั้งในไทยและตลาดส่งออก ทำให้บริษัทต้องแก้เกมเพื่อให้อยู่รอดอย่างรวดเร็ว ทั้งลดต้นทุน และหาแนวทางใหม่ในการเคลื่อนธุรกิจให้พ้นปากเหว เนื่องจากพอร์ตโฟลิโอสินค้า พึ่งพา “สแน็คสาหร่าย” มากถึง 90% และปี 2563 ตลาดสแน็คมูลค่า 30,000 ล้านบาท ปีนี้ติดลบประมาณ 3% แม้สินค้าบางหมวด เช่น มันฝรั่ง อาจจะเติบโต แต่สาหร่ายที่มีมูลค่าตลาดรวมราว 3,000 ล้านบาท กลับตกอยู่ใน “แดนลบ” ถึงอัตรา 2 หลัก จากปกติสามารถสร้างการเติบโตได้ 5%
“เราต้องการขยายธุรกิจใหม่ อะไรที่ทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างยังยืน ต้องทำหมด และเรามีกลยุทธ์ที่วางไว้ 3 Go”
3 Go ประกอบด้วย Go firm การฟิตองค์กรให้พร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ อย่างแรกที่บริษัททำ ได้แก่ การปิดร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ จาก 19 สาขา เหลือเพียง 5 สาขาเท่านั้น แต่บริษัทยังพิจารณา “ปิดร้านเพิ่ม” แต่ได้หารือกับคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)เพื่อจะ “กัดฟัน” เปิดต่อไปอีกระยะ รอสถานการณ์ดีขึ้น และมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาจับจ่ายใช้สอย สร้างรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจ และมี 20 โปรเจคที่เตรียมจะเดินหน้าตั้งแต่ซื้อวัตถุดิบ จนผลิต เพื่อลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพผลิต เป็นต้น
“ตอนนี้เราลีน(Lean)ในระดับหนึ่ง ก่อนหน้าโควิดเรายังเป็นเต่าที่อ้วน”
Go Broad การขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านให้กว้างขึ้น ปิดท้ายด้วย Go Global เป้าหมายการสร้างแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” ให้เป็นแบรนด์ระดับโลก จากปัจจุบันส่งออกสาหร่ายไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มี ”จีน” เป็นหมุดหมายสำคัญ ตามด้วยสหรัฐฯ ที่มีโรงงาน “อิทธิพัทธ์” อยากปั้นตลาดให้เป็นเหมือน “จีน2” ด้วย ทั้งนี้การบุกตลาดโลกถือเป็นภารกิจโหดหินสุด จะไปอยู่จุดนั้นได้ 2 Go แรกต้องสำเร็จและแข็งแรงก่อน
ยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นการเดินเกมกระจายความเสี่ยงให้ธุรกิจในระยะยาว แต่ระยะสั้นคือภารกิจ “กอบกู้” สถานการณ์ที่ย่ำแย่ให้ยืนหยัดอยู่รอดได้ ซึ่ง “อิทธิพัทธ์” เลือกลุยตลาดเครื่องดื่ม ที่ไม่ใช่คร้้งแรกในการกระโดดสู่วงการดังกล่าว แต่ระลอกนี้ ประกาศบุกตลาด “ชานม” แบบพาสเจอร์ไรส์ ที่มีมูลค่าตลาด 16,000 ล้านบาท จากตลาดนมพร้อมดื่มกว่า 60,000 ล้านบาท
"จัสท์ดริ้งค์" ชานม TOP 3 จากไต้หวัน ความหวังใหม่!ของ "เถ้าแก่น้อย"
แบรนด์ชานม “จัสท์ดริ้งค์”(JUSTDRINK) หรือ ฉุน ชุ่ย เฮอ เป็นความมร่วมมือที่เถ้าแก่น้อยผนึก ไต้หวัน บิฟิโด ฟู้ด ยักษ์ใหญ่ด้านอาหารและเครื่องดื่มของไต้หวัน ให้สิทธิ์ผลิตสินค้าชานมนอกไต้หวันเป็นชาติแรก มี “โทฟุซัง” รับจ้างผลิต ประเดิมกำลังผลิตเบื้องต้น 15,000 ขวดต่อวัน และจะเพิ่มกำลังผลิตให้แตะ 2 แสนขวดต่อวัน ส่วนช่องทางจำหน่ายมีร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” 6,000 สาขา เสิร์ฟกลุ่มเป้าหมาย
รายงานจากนีลเส็น ระบุว่า ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อเครื่องดื่มลำดับแรกๆ คือ “ผลิตภัณฑ์นม” จึงเป็นโอกาสของ “จัสท์ดริ้งค์” ในการชิงแชร์นักดื่ม(Share of Throat) สร้างการเติบโต(Share of Growth) จาก 2 ตลาด ทั้้งตลาดชานม 3,000 ล้านบาท และตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์ 19,000 ล้านบาท
การเลือกทำตลาดชานมฟื้นธุรกิจ เพราะมองเป็นสินค้าที่อยู่ในกระแส หลายปีที่ผ่านมายังเติบโตต่อเนื่อง 2 หลัก จึงคาดว่าจะ “ขี่คลื่น” ดังกล่าวสร้างการเติบโตได้ ยิ่งกว่านั้นหากสินค้าจุดตลาดติด บวกกับนักท่องเที่ยวจีนกลับมา “จัสท์ดริ้งค์” จะเป็นฮีโร่ของเถ้าแก่น้อย เพราะแค่การออกสตาร์ท บริษัทยังตั้งเป้ายอดขาย 200-300 ล้านบาท
“วิกฤติโควิดทำให้เราต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่(Invent) พาธุรกิจตัวเองออกจากสแน็คสาหร่าย เพราะโอกาสและขอบเขตเล็กเกินไป เราจะต้องหาสินค้าหมวดใหม่ๆ ลูกค้า ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ประกอบกับเราต้องการจะไประดับโลกด้วย จึงต้องคิด วางวิชั่นระดับโลก มองตลาดโลก การทำตลาดประเทศเดียวไม่ใช่เกม Long term เพราะอาจมีประเทศอื่นที่มีธุรกิจเดียวกัน มาเอาชนะเราได้”