สนพ.เผยการใช้พลังงานของประเทศยังต้องรอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สนพ.เผยการใช้พลังงานของประเทศยังต้องรอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สนพ .เผยโควิด-19 ฉุดยอดการใช้พลังงานขั้นต้น ช่วง 9 เดือนปี 63 ลดลง 8% ขณะที่การผลิต และนำเข้า ชะลอตาม พร้อมจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นลดลง 8% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การผลิตพลังงานขั้นต้นลดลงตามความต้องการใช้พลังงาน ลดลง 10.2% ขณะที่ไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้น 10.3% เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของประเทศลาวเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงปลายปี 2562 จำนวน 3 โรง มีกำลังการผลิตรวม 1,843 เมกะวัตต์

โดยสถานการณ์ การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 12.4% และการใช้น้ำมันดีเซล ลดลง 2.9% เป็นผลจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้มีการขนส่งสินค้าลดลง การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ลดลง 2.3% โดยการใช้ในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และการสนับสนุนการท่องเที่ยวผ่านมาตรการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาล ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น การใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 57.7% เนื่องจากข้อจำกัดของการอนุญาตให้ทำการบินในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินลดลงอย่างต่อเนื่อง

160827459817

ขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะการใช้ในภาคขนส่ง ลดลง 27.6% จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันส่งผลให้ผู้ใช้รถยนต์ LPG บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน

ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ลดลง 7.4% โดยลดลงทุกสาขาเศรษฐกิจ ทั้งการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า การใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ด้านการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลง 29.5% จากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนเปลี่ยนมาใช้น้ำมัน เนื่องจากราคาอยู่ในระดับไม่สูงมากนักและมีสถานีบริการทั่วถึงมากกว่า

160827463536

ด้านการใช้ไฟฟ้า ลดลง 3.1% เป็นการลดลงในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ โรงแรม ลดลง 36.5% และห้างสรรพสินค้า 16.8% ที่มีการใช้ไฟฟ้า ส่วนภาคครัวเรือนมีการใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง 9.5% ผลจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งหลายหน่วยงานยังคงมีมาตรการ Work from home

อย่างไรก็ตาม สนพ. ยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก มาตรการในการป้องกัน โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคต และเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการใช้พลังงานในสภาวะที่ผันผวนเช่นนี้