สรุป ‘หุ้นเอเชีย’ ปี 2024 ไต้หวันทำผลงานดีสุดเพราะ AI ส่วน ‘หุ้นไทย‘ ยังติดลบ
สรุป ‘หุ้นเอเชีย’ ปี 2024 ไต้หวันทำผลงานดีสุดเพิ่มขึ้น 28% เพราะหุ้นเทคและAI ‘หุ้นไทย‘ ยังติดลบผลตอบแทนรั้งท้าย แต่แย่ที่สุดเป็นของ ’เกาหลีใต้’ ส่วนปี 68 กังวลไทยต้องรับมือกับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและนโยบายการค้าสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานสรุปตลาดหุ้น“เอเชีย” ปี 2024 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยส่วนใหญ่ปิดตลาด ณ วันที่ 23 ธ.ค.อยู่ในแดนบวก หลังจากธนาคารกลางของภูมิภาคผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมทั้งการเติบโตของ AI ก็ส่งผลให้หุ้นเทคโนโลยีปรับตัวสูงขึ้น
อันดับที่ 1 คือ ดัชนีตลาดหุ้นไต้หวัน (TAIEX) ทำผลงานโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยปิดตลาดเพิ่มขึ้น28.85% ส่วนอับดับที่ 2 คือดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng ) ของฮ่องกงเติบโต 16.63%
'ดอกเบี้ยขาลง-AI' หนุนตลาดหุ้นเอเชีย
ไมค์ ชิโอ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียยกเว้นญี่ปุ่นของบริษัทอินเวสโก ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้
ตลาดหุ้นไต้หวัน (Taiex) พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจใน หุ้นเทคโนโลยี เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำอย่าง TSMC ยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตชิป ที่มีราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นถึง 82.12% ในปี 2024 และ Foxconn ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับ Apple ที่เติบโตขึ้นถึง 77.51%
แรงขับเคลื่อนหลัก มาจากความต้องการเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้าน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แม้ว่าความต้องการเซิร์ฟเวอร์ AI อาจชะลอตัวลงบ้างในปีนี้ แต่ธนาคาร DBS คาดว่าความต้องการสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่รองรับ AI จะเพิ่มขึ้นในปี 2568
‘เกาหลีใต้‘ ทำผลงานแย่สุด
แม้ว่าหุ้นเทคโนโลยีจะผลักดันให้ตลาดหุ้นไต้หวันเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่กลับเป็นตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ซึ่งปิดปีด้วยผลตอบแทนติดลบ 8.03% ส่งผลให้ดัชนี KOSPI ร่วงลงและกลายเป็นตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียที่มีผลการดำเนินงานย่ำแย่ที่สุดในปีนี้
ปัจจัยหนึ่งที่น่าสังเกตคือ "โครงการเพิ่มมูลค่าองค์กร" ของเกาหลีใต้ไม่สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวได้อย่างที่คาดหวังไว้ ขณะเดียวกัน ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน หลัง “ยูน ซอกยอล“ ประกาศกฎอัยการศึก 6 ชั่วโมง ก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไปอีก
'หุ้นไทย’ ยังติดลบ
ดูเหมือนว่าไทยจะหายไปจากสายตาของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี “กรุงเทพธุรกิจ” จึงรวบรวมความเคลื่อนไหวสำหรับ ตลาดหุ้นไทย ในปีนี้ ทำผลงานติดลบ -3.34% นับตั้งแต่ต้นปี ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 SET Index ปิดที่ 1,427.54 จุด ลดลง 2.6% จากสิ้นเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 มีเพียงกลุ่มเดียว ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 44,256 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากเดือนพฤศจิกายน 2566ขณะที่ใน 11 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,045 ล้านบาท ลดลง 13.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามเห็นสัญญาณเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายผู้ลงทุนสถาบันในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 10% ของมูลค่าซื้อขายทั้งหมดสองเดือนติดต่อกัน
แนวโน้วตลาดหุ้นปี 2025
จอร์จ มาริส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนและของ Principal Asset Management กล่าวว่า ในปี 2568 สองประเด็นหลักที่นักลงทุนจะต้องติดตามคือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และภาวะเศรษฐกิจของจีน
“นโยบายของรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่มีแนวโน้มที่จะผลักดันแนวโน้มการเติบโตและอัตราเงินเฟ้อในเอเชียในปี 2568”
ส่วน Nomura คาดว่าอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีหน้าและอุปสรรคทางการค้าที่สูงขึ้นจะส่งผลให้การส่งออกจากเอเชียลดลง ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นและอาจทำให้การลงทุนทางธุรกิจในภูมิภาคล่าช้า
ขณะเดียวกัน ฟรีดา เทย์ จาก MFS Investment Management ระบุว่า เศรษฐกิจในเอเชียที่เน้นภาคการผลิตและการค้าจะได้รับผลกระทบหนักจากภาษีศุลกากรที่เพิ่มสูงขึ้น โดยภาษีเหล่านี้จะทำให้อุปสรรคทางการค้ามากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการค้าลดลง และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาค
นอกจากนี้ในปี 2568 เอเชียอาจจะต้องเผชิญกับสภาวะการเงินโลกที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
ในทางกลับกัน ประเทศที่มี “การเติบโตที่แข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อสูง และยังมีเงื่อนไขการเงินที่ผ่อนปรน” จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เช่น ญี่ปุ่นและมาเลเซีย
โดยทั่วไปแล้ว ปี 2568 เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากมาย ตามที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
Nomura ได้ออกมาเตือนว่าภูมิภาคเอเชียกำลังจะเผชิญกับความไม่แน่นอนในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าในไตรมาสแรกจะมีปัจจัยบวกอย่างความต้องการเทคโนโลยี AI ที่สูงขึ้นและการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเข้ามาหนุน แต่คาดการณ์ว่าตั้งแต่ไตรมาสที่สองเป็นต้นไป สถานการณ์จะเริ่มย่ำแย่ลง เนื่องจากปัจจัยภายนอกหลายประการ อาทิ นโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ส่งผลกระทบต่อการค้า การผลิตสินค้าเกินความต้องการของจีน และภาวะชะลอตัวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
อย่างไรก็ตาม Nomura ยังมองว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจภายในประเทศแข็งแกร่ง เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์ น่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น อินเดีย ไทย และเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะเผชิญกับอุปสรรคมากขึ้น