'บีโอไอ' ชงปรับ 'สมาร์ทวีซ่า' ดึงแรงงานทักษะสูงหนุนยกระดับเศรษฐกิจ
ประเทศไทยมุ่งเน้นกระตุ้นการลงทุนกิจการฐานความรู้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ภาครัฐได้เพิ่มมาตรการเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะทางเทคโนโลยีขั้นสูงมาทำงานและอยู่ระหว่างปรับปรุงเงื่อนไขเพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนกลุ่มนี้เข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าเร็วๆนี้ บีโอไอจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับปรุงเงื่อนไขวีซ่าประเภทพิเศษ “สมาร์ทวีซ่า” ที่กำหนดมาเพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนมาทำงานในไทย ให้มีขอบข่ายกว้างขึ้นและจูงใจมากขึ้น และช่วยเสริมให้เกิดการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยได้มากที่สุด
การปรับปรุงเงื่อนไขสมาร์ทวีซ่าผ่านความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจการผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) แล้ว โดยจะเพิ่มสมาร์ทวีซ่าให้กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในกลุ่มอาชีพที่เรียกว่า ผู้เชี่ยวชาญอิสระ หรือ Technology Digital Freelancer ซึ่งสำรวจพบกลุ่มนี้เข้ามาทำงานในไทยพอสมควร แต่ส่วนใหญ่ใช้วีซ่านักท่องเที่ยว ซึ่งหากมีหลักเกณฑ์และกฎหมายรองรับที่ถูกต้อง คนกลุ่มนี้จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและดิจิทัลในไทยก้าวกระโดด
บีโอไอกำหนดคุณสมบัติที่จะให้สมาร์ทวีซ่ากลุ่มนี้ คือ มีสัญญาการจ้างงานอยู่กับบริษัทในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยรับรองความสามารถและประสบการณ์ทำงานและการศึกษาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งให้หน่วยงานที่เป็นพันธมิตรของบีโอไอช่วยกลั่นกรองก่อนจะอนุมัติสมาร์ทวีซ่า
รวมทั้งเมื่อมีการอนุมัติวีซ่าแล้วบีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมถึงมหาวิทยาลัยติดต่อคนกลุ่มนี้ให้ไปช่วยฝึกอบรม จัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และพัฒนาดิจิทัล
สำหรับข้อดีของการมีคนกลุ่มนี้มาทำงานจำนวนมากจะเกิดชุมชน “Talent Pool” ที่เรียกว่า The best and brightes Tech talent ซึ่งนอกจากจะดึงดูดคนเก่งๆให้เข้ามาทำงานในประเทศยังเป็นจุดแข็งที่นักลงทุนต่างชาติจะมองว่าประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้นจากการที่มีคนกลุ่มนี้ทำงานอยู่ในประเทศมาก
“คนกลุ่มนี้จะมีชุมชนในไทยอยู่แล้วที่เข้ามาทำงานและรวมตัวในหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และตอนหลังไปอยู่ที่เกาะพงัน ซึ่งได้รวมตัวสร้าง Co-working space ทำงานร่วมกัน และเมื่อข้อเสนอปรับปรุงสมาร์ทวีซ่าผ่าน ครม.จะให้กลุ่มดิจิทัล ฟรีแลนด์เซอร์ ที่มีคุณสมบัติครบต้องการสมัครเพื่อออกสมาร์ทวีซ่าให้กับผู้มีคุณสมบัติอย่างถูกต้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะชวนมาทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาคนไทย และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น”
รวมทั้งจะปรับเปลี่ยนขอบเขตกิจการที่จะให้สมาร์ทวีซ่าในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ หรือกลุ่ม “Smart T” รวมถึงกลุ่มผู้บริหาร “Smart E” ที่ครอบคลุมกิจการในสมัยใหม่มากขึ้น และไม่จำกัดที่อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่อนุมัติให้ผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยสร้างระบบนิเวศน์การลงทุนด้วย เช่น กลุ่มที่เกี่ยวข้อง Start up การทำกิจกรรมแคมป์นวัตกรรม (Innovation camp) การบริการ Co-working space รวมทั้งการให้สมาร์ทวีซ่ากับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่เป็นแนวโน้มใหม่ เช่น วัสดุและบรรจุภัณฑ์สมัยใหม่เทคโนโลยี 3D Printing
ส่วนอีกกลุ่มที่จะเปิดให้เข้ามามากขึ้น คือ ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาจารย์จากสถาบันต่างประเทศ ซึ่งมีความรู้มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรม โดยจะเปิดให้อาจารย์จากต่างประเทศที่จบปริญญาเอกและมาสอนในสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งไม่ใช่สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาสอนได้ เพราะช่วงหลังมีบางสาขาที่มีประโยชน์ในการต่อยอดอุตสาหกรรมไทยและเป็นวิทยาการสมัยใหม่ เช่น สาขาการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี สาขาการสร้างผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพิ่มเติมของการให้สมาร์ทวีซ่าบางกลุ่ม เช่น เดิมมีเกณฑ์เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท จึงจะขอสมาร์ทวีซ่าได้ โดยผ่อนปรนให้การจ้างงานของสตาร์ทอัพ และผู้เชี่ยวชาญที่เกษียณอายุแล้ว โดยจะเพิ่มข้อยกเว้นนี้สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอีไทยด้วย ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับการผ่อนปรนเงินเดือนไม่น้อยกว่า 50,000 บาท เพราะเอสเอ็มอีก็ต้องการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำงาน
ขณะที่สมาร์ทวีซ่ากลุ่มผู้บริหารที่เดิมกำหนดมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 10 ปี และจบการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไปจะผ่อนเงื่อนไขให้สอดคล้องสถานการณ์ เพื่อรองรับผู้บริหารในยุคใหม่ที่อาจมีอายุน้อยลง ประสบการณ์ทำงานน้อยลง หรือไม่จบปริญญาตรีก็ผ่อนปรนให้ได้หากมีคุณสมบัติเพียงพอ
ทั้งนี้ บีโอไอได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นหน่วยงานหลักทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกลั่นกรองสมาร์ทวีซ่าสำหรับคนมีคุณสมบัติและขอโดยวีซ่าประเภทนี้มาตั้งแต่เดือนก.พ.2561 ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน พ.ย.2563 มีผู้ได้รับรองสมาร์ทวีซ่าแล้ว 514 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตาร์ทอัพ (SmartS ) คิดเป็น 47% ส่วนอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล 50% รองลงมาอุตสาหกรรมออโตเมชั่นและโรโบติกส์
ปัจจุบันไทยให้สมาร์ทวีซ่า 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ “Smart T” ,กลุ่มผู้บริหาร (SmartE) ,กลุ่มนักลงทุน (SmartI) ,กลุ่มสตาร์ทอัพ (SmartS) รวมถึงให้ครอบคลุมคู่สมรสและบุตรผู้ได้สมาร์ทวีซ่าเรียกว่า “SmartO”
สำหรับผู้ได้อนุมัติสมาร์ทวีซ่าจะได้สิทธิ์อยู่ในไทยสูงสุด 4 ปี และไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน (Work permit) เพราะเป็น Work visa อยู่แล้ว และเดินทางเข้าออกไทยได้ปีละหลายครั้ง โดยไม่ต้องขอ Re-entry visa ซึ่งมีข้อดีกว่าวีซ่าท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางออกภายใน 3 เดือน รวมทั้งได้สิทธิพิเศษฟาสต์แทรกต์ที่สนามบินด้วย