แรงงานไทย กับความท้าทายยุค COVID-19

แรงงานไทย กับความท้าทายยุค COVID-19

เมื่อแรงงานไทยนอกจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากกระแสการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อน !

แรงงานไทยในปัจจุบันเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งเศรษฐกิจที่ผันผวน ส่งผลให้รายได้ลดและไม่แน่นอน ภาวะหนี้ที่มาก เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่แย่งงานมนุษย์ ตลอดจนผลพวงล่าสุดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เศรษฐกิจไทยเสี่ยงมีผู้ว่างงานสูงถึง 3 ล้านคน สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่พบว่าไตรมาส 3 ปีนี้ มีผู้ว่างงานมากขึ้นถึง 7.4 แสนคน ที่น่าสนใจคือ ผู้จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงถึง 3.15% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับแต่ปี 2554 ตามมาด้วย ระดับ ปวช. และ ปวส. ที่ 2.79% และ 2.73% ตามลำดับ ขณะที่เมื่อดูสถิติในเชิงอายุ แรงงานที่อายุระหว่าง 15 ถึง 19 ปี และ 20 ถึง 24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นเช่นกันที่ 9.4% และ 7.9% ตามลำดับ จากข้อมูลของ สศช. จะเห็นว่า ปัจจุบันแรงงานกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ แรงงานที่มีการศึกษาสูง และ อายุน้อย

ทั้งนี้งานศึกษาของ TDRI พบว่าการระบาดของ covid-19 นอกจากทำให้แรงงานตกงาน ยังเสี่ยงสร้างปัญหาแรงงานในอนาคตเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ถูกลดชั่วโมงทำงาน (ทำงานไม่ถึง 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จนถึงน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนถึง 14 ล้านคน โดยถ้าเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2562 พบว่าแรงงานทำงานต่ำกลุ่มนี้เพิ่มมากกว่า 4.12 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 41.7% เทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกระทบต่อรายได้และความสามารถในการดำรงชีวิตของแรงงานและครัวเรือนที่พึ่งพารายได้

นอกจากนี้ จากข้อมูลผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมระหว่างปี 2539-2563 พบว่า สถิติผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเคยทำสถิติสูงสุดที่เดือน มิ.ย. 2552 จำนวน 188,986 คน ทว่านับจากมี COVID-19 สถิติดังกล่าวถูกทำลายเรื่อยมา โดยในเดือน เม.ย. 2563 จำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมเพิ่มเป็น 215,652 คน และเดือน พ.ค. 2563 เพิ่มเป็น 332,060 คน เดือน มิ.ย. 2563 เพิ่มเป็น 395,693 คน เดือน ก.ค. 2563 เพิ่มเป็น 410,061 คน เดือน ส.ค. 2563 เพิ่มเป็น 435,010 คน กระทั่งตัวเลขล่าสุด เดือน ก.ย. 2563 ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มเป็น 487,980 คน นับว่าเป็นสถิติสูงสุด

จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนปัญหาสำคัญสุดของเรื่องแรงงานขณะนี้ คือ เสี่ยงตกงาน !!

และล่าสุด งานวิจัยโครงการ 'คิดใหม่ไทยก้าวต่อ' โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ เปิดเผยผลสำรวจถึงผลกระทบจาก COVID-19 ต่อแรงงงานไทย

พบว่า แรงงานไทยนอกจากได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากกระแสการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่มีอยู่ก่อน แม้จะไม่มี COVID-19 ตัวอย่างกระแสการเปลี่ยนแปลงอื่น เช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งโดยรวมเรียกว่า mega trend

จาก mega trend ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการเปลี่ยนแปลงสถาพภูมิอากาศ ผนวกกับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ในอนาคตแรงงานไทยมีความเสี่ยงตกงานกว่า 18.25 ล้านคน ใน 258 อาชีพ

งานสำรวจดังกล่าวจำแนกแรงงานกลุ่มเสี่ยงเป็น 3 กลุ่มได้แก่

กลุ่มแรก เสี่ยงไม่มาก คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แต่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีไม่มาก กล่าวคืองานที่แรงงานกลุ่มนี้ทำ เสี่ยงน้อยที่จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าจาก COVID-19 ไม่กระทบอาชีพพวกนี้มากนัก เช่น พ่อครัวแม่ครัว ช่างเครื่องยนต์ ครูระดับประถมศึกษา และผู้เลี้ยงปศุสัตว์ กลุ่มนี้ครอบคลุมแรงงาน 12.20 ล้านคน หรือ 32.26% ของจำนวนแรงงานไทย

กลุ่มที่สอง เสี่ยงมาก กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกหุ่นยนต์แย่งงาน และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้า เช่น ผู้ประกอบอาชีพเทคนิค หรือเสมียน ช่างฝีมือด้านการเกษตร กลุ่มนี้ครอบคลุมแรงงาน 4.78 ล้านคน หรือคิดเป็น 12.63% ของกำลังแรงงานไทย

กลุ่มที่สาม เสี่ยงมากที่สุด คือได้รับผลกระทบสูงทั้งจาก COVID-19 และจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตัวอย่างอาชีพในกลุ่มนี้เช่น พนักงานต้อนรับ พนักงานนับสินค้า จากการประเมินกลุ่มนี้ครอบคลุมแรงงาน 1.27 ล้านคน หรือ 3.35% ของกำลังแรงงานไทย

สำหรับกลุ่มสาม มีความเสี่ยงมากสุด แม้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า COVID-19 จะผ่านไป ตำแหน่งงานอาจไม่อยู่แล้ว โดยเฉพาะสำหรับแรงงานที่ประสบการณ์จำกัด ไม่สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อาจปรับตัวรองรับอาชีพในอนาคตได้ยาก

ดังนั้น จากข้อมูลข้างต้นทั้งหมด จะเห็นว่าแรงงานไทยไม่ว่าการศึกษาสูงหรือต่ำ อายุมากหรือน้อย ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือความท้าทายทั้งในขณะนี้ที่มี COVID-19 และยุคหลัง COVID-19 ที่มีความท้าทายอื่นๆ รออีกมาก

ประการสำคัญ รัฐต้องมีมาตรการและแผนที่ชัดเจนในการดูแลแรงงานกลุ่มเสี่ยง ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แรงงานจำนวนมากในหลายอาชีพมีแนวโน้มถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีอย่างแน่นอน รัฐบาลจึงควรกำหนดมาตรการรับมือตั้งแต่วันนี้ เช่น จะส่งเสริมเทคโนโลยีและทักษะใหม่ๆ ให้แก่แรงงงานอย่างไร จะออกแบบกลไกอย่างไรเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนและภาคอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น ภาคการศึกษา มีส่วนรับมือความท้าทายเหล่านี้ด้วย

หากแรงงานไทยเข้มแข็ง ครัวเรือนไทยก็เข้มแข็ง กินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในทางตรงข้าม หากแรงงานส่วนใหญ่อ่อนแรง ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ก็พลอยมีคุณภาพชีวิตแย่ไปด้วย ปัญหาแรงงานไทยในปัจจุบันจึงสำคัญ และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

160856025791

ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล