แบงค์ชาติแนะใช้ 'โมเดล อีอีซี' 'Sandbox' ยกระดับประเทศ

แบงค์ชาติแนะใช้ 'โมเดล อีอีซี' 'Sandbox' ยกระดับประเทศ

ประเทศไทยต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยการเปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ภายในปี 2580 นั้นจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างเพื่อกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มผลิตภาพการผลิต

ในกลุ่มองค์กรในภาคการผลิตโดยจะต้องรักษาอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยในระยะยาวให้ได้มากกว่า 5% ไปจนถึงปี 2568 แต่ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าต่างๆและการไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันตั้งแต่วันนี้ ความหวังที่จะยกระดับประเทศอาจเป็นแค่การประคองตัวให้อยู่รอดไปได้เท่านั้น

นครินทร์ อมเรศ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการแถลงผลการวิจัยร่วมกับธนาคารโลกในเรื่อง “ผลิตภาพการผลิตขององค์กรในประเทศไทย” ว่า  เพื่อให้การเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนจากในปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 20% ไปถึงระดับ 30% ซึ่งการเพิ่มขึ้นเพียง 3% ก็มีมูลค่า 5-6 แสนล้านบาทต่อปี หากนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนในจุดที่เกิดประโยชน์สูงสุดในเรื่องการสร้างคนทักษะสูง นักวิจัยด้านต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาในด้านดิจิทัล ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้สูงมาก

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบราง สนามบิน ถนน ท่าเรือ และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ไว้มากแล้ว ในอนาคตจะลงทุนเพิ่มเพื่อผลักดันเศรษฐกิจคงทำได้ยาก ดังนั้น รัฐบาลควรมุ่งลงทุนด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากที่ผ่านมา รัฐบาลทำแอพลิเคชั่นเป๋าตัง ,โครงการคนละครึ่ง ทำให้ประชาชนทั่วไปจนถึงรากหญ้า,เอสเอ็มอีไปจนถึงหาบเร่แผงลอยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ โดยใช้งบประมาณพัฒนาดิจิทัลไม่มาก แต่ส่งผลกระทบสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมืองเริ่มใช้ดิจิทัลในเบื้องต้นได้แล้วก็จะต่อยอดไปสู่ดิจิทัลด้านอื่น ๆ ได้ไม่ยาก ทำให้รัฐไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากแต่ส่งผลทางเศรษฐกิจสูง

ในส่วนของการเพิ่มผลิตภาพของไทยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเปิดโอกาสให้ทุน และคนผู้มีความรู้ประสบการณ์ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ซึ่งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะตอบโจทย์นี้ได้อย่างตรงจุด เพราะเป็นพื้นที่พิเศษเหมือน Sandbox ใช้ในการทดสอบนโยบาย กฎระเบียบ และแนวทางใหม่ ๆ ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้มีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยให้ผู้มีความรู้ มีประสบการณ์จากต่างชาติเข้ามาทำงานในพื้นที่ อีอีซี และยังเป็นแหล่งในการดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะในเรื่องนวัตกรรม การวิจัย และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เข้ามาตั้งในพื้นที่นี้ ซึ่งอีอีซี จะช่วยให้เกิดการไหลเข้ามาทั้งทุนและคนในการพัฒนาประเทศ

160865827577

ทั้งนี้ หากรัฐบาลนำผลสำเร็จข้อดีต่าง ๆ ที่ผ่านการทดสอบใน อีอีซี ไปกระจายเป็นดำเนินการทั่วประเทศ ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้พ้นจากกับดัดรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในการนำโมเดล อีอีซี ไปใช้ในพื้นที่อื่นนั้น จะต้องพิจารณาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมสูง และที่สำคัญจะต้องมีมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี หรือมีความโดดเด่นเฉพาะทาง เพื่อต่อยอดกับศักยภาพของพื้นที่ เช่น ใน จ. เชียงใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม และมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของวิศวกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร สามารถถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ ไปจนถึงการแปรรูปเกษตรชั้นสูง และการสร้างบุคลากรเข้ามารองรับ หากนำจุดที่ประสบความสำเร็จของ อีอีซี ไปปรับใช้ ทั้งในเรื่องของการผ่อนคลายกฎระเบียบให้ผู้มีความรู้ชั้นสูงจากต่างชาติเข้ามาในพื้นที่ได้ง่าย มีสิทธิพิเศษดึงดูดการลงทุน รวมทั้งการลงทุนต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับเทคโนโลยีใหม่ ก็จะประสบความสำเร็จเหมือนกับ อีอีซี และหากเกิดโมเดลรูปแบบนี้ไปทั่วประเทศ ก็จะช่วยยกระดับผลิตภาพ และความสามารถในการแข่งขันของไทยให้โตอย่างก้าวกระโดดได้

“ที่อีอีซี ประสบความสำเร็จเพราะมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมีมหาวิทยาลัยที่พร้อมรองรับในการสร้างบุคลากร เมื่อนำนโยบายอีอีซีเข้ามาสวมทับ ก็ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในการนำโมเดลอีอีซี ไปใช้ในพื้นที่อื่น "

โดยการพัฒนาโมเดลอีอีซี ต้องมีกฎหมายพิเศษเข้ามารองรับ แต่ไม่ควรก็อปปี้แบบอีอีซีทั้งหมดคัดเลือกแต่ส่วนที่พิสูจน์ว่าประสบผลสำเร็จไปใช้ เพื่อไม่ให้เกิดความหละหลวมของกฎหมาย และเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น ก็จะเป็นการยกระดับเมืองใหญ่ไปสู่การพัฒนาชั้นสูง เพิ่มผลิตภาพ เพิ่มศักยภาพบุคลากรกระจายไปทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า อีอีซี จะให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างคน แต่มองว่ายังมีมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีศักยภาพสูงไม่เพียงพอ โดยควรจะเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพ เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา และวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น และผลิตคนได้มากขึ้น

แม้ว่าในช่วงโควิดตัวเลขเศรษฐกิจจะติดลบ ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปเติบโตปีละ 5% ได้ยาก แต่หาก อีอีซี ประสบผลสำเร็จ และกระจายไปทั่วประเทศ ก็จะเป็นสปริงบอร์ดให้จีดีพี ไทยโตก้าวกระโดดปีละ 5% ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ ”

โดย อีอีซี เป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่โลกในอนาคตมีปัจจัยเสี่ยงที่ผันผวนอีกมาก ทั้งโรคระบาด และวิกฤติอื่น ๆ ในต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแต่หากไทยทำให้ภายใประเทศเข้มแข็งก็จะฟื้นตัวได้เร็ว แม้บางปีอาจจะไม่ถึงเป้าหมาย แต่ก็จะทำให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้เร็วขึ้น