“ไบโอแบงค์” ลุย “จีโนมิกส์” หนุน “บีซีจี” ยกระดับประเทศ
ประเทศไทยมีศักยภาพในการนำทรัพยากรชีวภาพมาใช้ประโยชน์สร้างรายได้ให้กับประเทศเนื่องจากจุดแข็งในด้านที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศรองรับการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน
เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการแพทย์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และสนับสนุนวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมบีซีจี
ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) หรือ ไบโอแบงค์ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยของไทย เพื่อยกระดับความขีดความสามารถของประเทศ จึงได้อนุมัติงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท ในการตั้ง ไบโอแบงค์ ที่ได้ดำเนินการมากว่า 1 ปี แล้ว
ทั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยพัฒนาที่สำคัญของอุตสาหกรรม บีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ที่เป็นการนำศักยภาพของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพติด 1 ใน 10 ของโลกมาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรมยา วัคซีน อุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจการแพทย์ชั้นสูง โดยภารกิจหลักของ ไบโอแบงค์ จะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแบบระยะยาวของประเทศ เพื่อรักษาทรัพยากรชีวภาพของไทยให้อยู่รอดได้จากภาวะโลกร้อน และการรุกล้ำเขตป่าของชุมชนเมือง ให้นำมาฟื้นฟูในกรณีฉุกเฉิน
2.บริหารจัดการองค์ความรู้ วิเคราะห์ และสร้างเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ คุณลักษณะพิเศษของสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงข้อมูลระดับโมเลกุลหรือจีโนม เป็นสารสนเทศที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งด้านวิจัยและการประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม
สำหรับโครวการที่สำคัญในขณะนี้ คือ "โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย" เป็นโครงการวิจัยด้านสุขภาพ เพื่อรวบรวมและสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ของคนไทย ให้นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการศึกษาวิจัยในอนาคตที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนไทย
รวมทั้งทำให้ประชาชนได้รับการวินิจฉัย การรักษาอย่างจำเพาะและมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการตายหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเกิดความต้องการของการพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ผลักดันให้เกิดความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนด้านเทคโนโลยีการแพทย์แบบจีโนมิกส์ในประเทศไทย
โครงการนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบ 4,470 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีแรก (2563-2567) จะมีการดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั่วจีโนมของประชากรไทยจำนวน 50,000 ราย โดยไบโอแบงค์จะเป็นผู้วิเคราะห์และจัดการข้อมูลที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั่วจีโนมของประชากรไทย เพื่อสร้างธนาคารข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ โดยการถอดรหัสพันธุกรรมในดีเอ็นเอ และอาร์เอ็นเอ ภายในเซลล์ต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ มีผลให้แต่ละคนเกิดเจ็บป่วยเป็นโรค มีความเสี่ยงต่อโรค มีการตอบสนองต่อการรักษา รวมถึงผลข้างเคียงต่อยาที่ใช้รักษาต่างกัน
ข้อมูลเหล่านนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยาของไทยในการผลิตยาที่เหมาะสมกับประชากรในภูมิภาคอาเซียนที่มีความคล้ายคลึงกับของไทย ที่มีความแตกต่างจากประชากรในยุโรปหรือภูมิภาคอื่นของโลก
รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อบริษัทยาต่างชาติในการนำยาที่เหมาะสมกับพันธุกรรมของประชากรในแต่ละกลุ่มคน โดยหากฐานข้อมูลนี้แล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยแต่ละคนที่เข้ามารับการรักษา เพราะประชากรแต่ละคนในภูมิภาคนี้จะข้อมูลทางนักธุกรรมต่างกันเพียงเล็กน้อยทำให้ค่าตรวจดีเอ็นเอในแต่ละคนมีราคาถูก แล้วนำมาเทียบกับฐานข้อมูลใหญ่ที่ไทยมี ก็จะสามารถออกแบบการรักษา การให้ยา อย่างเฉพาะเจาะจงแต่ละบุคคล ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงมาก
นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอดไปสู่ธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่หลากหลาย เช่น การผลิตอาหารเสริม หรืออาหารทางการแพทย์ที่เหมาะกับคนไทยและภูมิภาคนี้ หรือลงลึกรายบุคคล ธุรกิจดูแลสุขภาพโดยการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ การรักษาโรคที่มีความยาก เช่น มะเร็งในอวัยวะต่างๆ โดยใช้ยาและการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละคน เป็นต้น
โดยจะช่วยให้ไทยยกระดับไปสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคนี้อย่างสมบูรณ์แบบและครบวงจร รวมทั้งยังนำข้อมูลนี้ประสานงานกับศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมในประเทศอื่นๆ เพื่อร่วมกันวิจัยรักษา และผลิตยา วัคซีน ร่วมกับนานาชาติ เป็นต้น
“ปัจจัยการเกิดโรคต่างๆ เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งมาจากพันธุกรรม ซึ่งการที่ไทยมีฐานข้อมูลทางพันธุกรรมก็จะทำให้ไทยยกระดับการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ลงทุนจักทำฐานข้อมูลพันธุกรรมนี้ และมีความได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่นที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมของคนในประเทศในแต่ละภาคมากกว่าประเทศสิงคโปรที่แม้จะมีเทคโนโลยีสูงก็ทำเรื่องนี้ไม่ได้เพราะมีประชากรน้อย ซึ่งจะทำให้ไทยยกระดับไปสู่การวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์ และการรักษาพยาบาลไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคนี้ได้
นอกจากนี้ ไบโอแบงค์ ยังได้จัดเก็บพันธุกรรมพืช สัตว์ จุลลินทรีย์ทุกชนิดของไทย โดยแต่ละชนิดจะวิจัยจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรม ระบุจุดเด่น สารออกฤทธิ์ ของแต่ละชนิด เพื่อให้ภาคเอกชนนำไปใช้ในการวิจัย โดยเฉพาะพืชสมุนไพร และจุลลินทรีย์ ที่สามารถนำไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้มาก เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องการพัฒนาจุลลินทรีย์เพิ่มประสิทธิภาพในการหมัก หรือแปรรูปอาหาร การใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในอาหารเสริม การผลิตยาที่มาจากสมุนไพร การปรับปรุงพันธุกรรมพืชเศรษฐกิจทุกชนิด
รวมไปถึงใช้ข้อมูลชีวภาพในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นต้นทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมบีซีจี ของไทยมีมูลค่าเพิ่มสูง และยั่งยืนในอนาคต
ขณะนี้ได้มีบริษัทรายใหญ่ของไทยกว่า 10 ราย มาทำงานร่วมกับเรา เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อาหารเสริม เวชสำอาง เป็นต้น รวมทั้งยังได้บริการโรงพยาบาลเอกชนในการบริหารจัดการข้อมูลทางพันธุกรรมของผู้ป่วย ที่ถือได้ว่าเป็นความลับชั้นสูงของแต่ละบุคคล ทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการรักษาเพิ่มขึ้น
โดยในอนาคตมีแผนที่จะร่วมมือกับเอกชนในการนำองค์ความรู้ นำซอฟต์แวร์ที่ได้พัฒนา และเทคโนโลยีการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงนำข้อมูลชีวภาพมาก่อให้เกิดมูลค่าเชิงพาณิชย์ เพื่อให้มีเม็ดเงินไหลกลับมาเพื่อพัฒนาการวิจัยด้านชีวภาพต่อไป