คุมเข้มกุ้งไทยปลอดสาร ไร้โควิด
กรมประมงลุย ตรวจสอบมาตรฐานการผลิตสินค้ากุ้งทะเลทั้งระบบ คุมเข้ม!! กุ้งไทยให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง หนุนสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในไทยและตลาดโลก
กุ้งถือเป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าจากการส่งออกและนำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่าปีละ หลายหมื่นล้านบาท โดยกรมประมงได้ให้ความสำคัญและเข้มงวดกับกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลเพื่อให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19รอบ2 ที่แหล่งแพร่กระจายโรคมาจากตลาดกุ้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครและได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นๆ สร้างความตระหนก ให้กับผู้บริโภคสินค้าสัตว์น้ำว่าจะปนเปื้อนเชื้อโควิดไปด้วย อีกทั้งยังกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ และกอบอาชีพของเกษตรกรชาวประมงเป็นอย่างมาก
วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคสินค้า กรมประมงได้ออกประกาศมาตรฐานรับรองการปนเปื้อนโควิดในห่วงโซ่สินค้าประมงเพิ่มเติม แยกเป็น 2 ส่วนคือ 1. การรับรองสินค้าตั้งแต่เรือประมง สะพานปลา ระบบการขนส่ง ตลาดค้าปลีก โมเดิร์นเทรด และ 2. การรับรองมาตรฐานตั้งแต่ฟาร์ม การขนส่ง และตลาด โดยจะมีเครื่องหมายรับรองบรรจุภัณฑ์อย่างเด่นชัด
“ ก่อนหน้านี้กรมประมง ได้กำหนดมาตรฐานรับรองสินค้าที่ออกจากโรงงานปลอดภัยจากโควิดแน่นอน ซึ่งเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการกว่า 60 ราย เข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออก ดังนั้นเมื่อโควิดระบาดรอบ 2 ทำให้สินค้าของผู้ประกอบการเหล่านี้ ไม่มีปัญหา เพราะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่ “
ทั้งนี้กรมประมงได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลทั้งระบบ ตั้งแต่การเลี้ยง กระทั่งการแปรรูปเพื่อส่งออก หนุนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลของไทย พร้อมยืนหยัดและเพิ่มโอกาสการแข่งขัน ในตลาดโลก
โดยกระบวนการผลิตกุ้งทะเลในจังหวัดสงขลาครั้งนี้ ครอบคลุมทั้งแหล่งวัตถุดิบ และแหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก โดยในระดับฟาร์มเลี้ยงได้ทำการตรวจฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี หรือ GAP ซึ่งพบว่าเกษตรกรได้ดูแลและบริหารจัดการฟาร์มตามหลักการ
ต่าง ๆ ของ GAP อย่างเข้มงวด เช่น ด้านสถานที่ การเลี้ยง การให้อาหารและปัจจัยการผลิต การจัดการสุขภาพ
สัตว์น้ำ รวมถึงสุขอนามัยฟาร์ม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้มีการตรวจสอบการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งในฟาร์มเลี้ยงและร้านค้า ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของกรมประมงที่มีการควบคุมและเฝ้าระวังการใช้ยารวมทั้งสารเคมีในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งทะเลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ จึงมั่นใจได้ว่าผลผลิตกุ้งทะเลจากมาตรฐาน GAP มีคุณภาพ ถูกหลักสุขอนามัย ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และ ยังได้เยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งทะเลแช่แข็ง ซึ่งเป็นโรงงานที่กรมประมง
เคยส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพร้อมแนะนำขั้นตอนการปฎิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตสินค้า ให้ปลอดภัยอย่างเข้มงวด และในครั้งนี้ทางกรมประมงได้เดินทางมาทานสอบการดำเนินการซ้ำอีกครั้ง โดยผลปรากฏว่าทางโรงงานฯ มีการดำเนินการตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานความปลอดภัยตามข้อแนะนำของ กรมประมงอย่างเคร่งครัด และได้เข้มงวดในเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับมาตรฐานของวัตถุดิบที่รับเข้ามาแปรรูป การขนส่ง การนำวัตถุเข้าโรงงาน ตลอดจนตรวจสอบคุณภาพกุ้ง ความสด สะอาด รวมถึงขั้นตอนในการควบคุมกระบวนการแปรรูป ให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อการส่งออก
ตั้งแต่การรับสินค้าเข้าจนกระทั่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจะส่งออกอีกทั้งยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทางเคมีและจุลชีวะของโรงงานด้วย นอกจากนี้ โรงงาน ยังได้เพิ่มเติมมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของ โรคโควิด- 19 สำหรับการคัดกรองบุคลากรก่อนเข้า - ออกโรงงาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมประมงและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้ดำเนินการสุ่มตัวอย่างสินค้าสัตว์น้ำที่จะส่งออกจากโรงงานแปรรูปเพื่อทวนสอบระบบการควบคุมการผลิต และติดตามคุณภาพสินค้า โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้า ณ โรงงานผลิต เพื่อตรวจวิเคราะห์ คุณภาพทางจุลินทรีย์ เคมี และกายภาพ และเมื่อสินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐานตามข้อกำหนดก็จะออกใบรับรองสุขอนามัยสินค้าสัตว์น้ำ (Health Certificate) เพื่อให้สินค้าสามารถส่งออกได้ต่อไป
“จากการตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลทั้งระบบในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่า “ผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลของไทย” มีความพร้อมและศักยภาพที่จะยืนหยัดอยู่ในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็งต่อไป ด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลก”