'เอสพีซีจี' ดันโซลาร์ฟาร์ม ฟื้นเชื่อมั่นลงทุนไทยปี64
ธุรกิจผลิตไฟฟ้า เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี2563 ทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ต้องปรับแผนการดำเนินงาน เพื่อรับมือและประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ควบคู่กับการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าได้อย่างมีเสถียรภาพ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงต้นปี 2563 จนนำไปสู่ยอดการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) หรือ SPCG ผู้บุกเบิกและพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)เชิงพาณิชย์ของประเทศ ได้ปรับแผนธุรกิจตั้งรับ จนสามารถนำพาบริษัทก้าวผ่านวิกฤตในรอบนี้ ภายใต้การรักษาผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง
วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เล่าว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกค้าของบริษัทประมาณ 50% หยุดดำเนินงานหรือหยุดกระบวนการผลิตตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค.เป็นต้นมา ดังนั้นเมื่อเห็นถึงปัญหาหรือวิกฤติที่เกิดขึ้น บริษัทได้ตั้งรับเหมือนกับทุกๆบริษัทในโลกนี้ คือพยายามรักษารายได้และลดค่าใช้จ่าย เพื่อเสริมสภาพคล่อง
โดยเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการโซลาร์ฟาร์มในระบบรวมศูนย์การควบคุมและติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดมากขึ้น ส่งผลให้การดำเนินงานในปี 2563 บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ประมาณ 300 ล้านบาท
ส่วนในปี 2564 ยังดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวต่อเนื่อง ซึ่งตั้งเป้าประหยัดค่าใช้จ่ายลง 200-300 ล้านบาท และไม่ได้มีการปรับลดหรือเลิกจ้างพนักงาน ที่มีอยู่ประมาณ 200 คนแต่อย่างใดขณะเดียวกันหากพนักงานลาออกก็ยังไม่พิจารณารับเพิ่มในช่วงนี้ ฉะนั้นในส่วนของรายได้ปี 2563 จะยังเติบโตอยู่ที่ระดับกว่า 5,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปี2563
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อบริษัทในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยอดขายลดลงไม่มากนัก ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังมีประสิทธิภาพสูง ทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลงไม่มาก เพราะภาคอุตสาหกรรมยังเดินเครื่องการผลิตอยู่ เพียงแต่การเติบโตของการใช้ไฟฟ้าไม่ได้สูงเท่าที่บริษัทอยากเห็น หรือคาดหมายว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ GDP จะโตประมาณ 5-6% และเดิมมีการพยากรณ์ว่า หาก GDP โต 3.8% การใช้พลังงานก็จะโต 1% ซึ่งในปี 2563 เป็นที่คาดหมายว่า GDP คงจะติดลบประมาณ 6-8%
ขณะที่ ปี2564 ก็คาดว่า GDP จะยังติดลบอยู่ และภาคธุรกิจก็ยังได้รับผลกระทบทั้งภาคบริการ โรงแรม และนักท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะมาปรับปรุงภายในประเทศ และภายในบ้านของตัวเองให้แข็งแกร่ง รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยเชื่อว่า ปี2564 หากวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะออกมาจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรม การลงทุนต่างๆกลับมาเดินหน้าต่อ แต่การขยายผลการลงทุนในลักษณะของการต่อยอดอุตสาหกรรมนั้นยังจำเป็นต้องทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในประเทศไทย ถึงจะเกิดการตัดสินใจเข้ามาลงทุน และนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับทุกภาคอุตสาหกรรมได้
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม แต่เชื่อว่าทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ประชาชน มีประสบการณ์ที่จะตั้งรับได้ดีขึ้น หากควบคุมได้เร็ว ความรุนแรงต่อเศรษฐกิจคงไม่มาก”
นอกจากนี้ใน ปี 2564 บริษัทให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน โครงการจัดหาพลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด (พลังงานแสงอาทิตย์) และพลังงานสำรอง (ระบบกักเก็บพลังงาน) เพื่อใช้ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัท ได้จับมือกับบริษัทพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) ในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดตั้งบริษัท SET Energy จำกัด เพื่อเข้าไปดำเนินการ ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์ม ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2564-2569 กระจายติดตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเตรียมจัดหาที่ดินและก่อสร้างภายในปีหน้า และจะติดตั้งเสร็จเฟสแรก 300 เมกะวัตต์ในไตรมาส 3 ปี 2564 และครบ 500 เมกะวัตต์ในปี 2564
ดังนั้น ในปี 2564 บริษัท จะมีรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด อยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ต่อเนื่องไปยังปี 2565 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตในมือ 500 เมกะวัตต์ จะเพิ่มขึ้นเป็น 800 เมกะวัตต์ในปี2564 และบรรลุเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ในปี 2569
“ตอนนี้การลงทุนแค่ชะงัก ปี2564 ถ้า Gap ต่อกลับคืนมาประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกๆของโลกที่มีนักลงทุนเข้ามา ฉะนั้นเราต้องสร้างบรรยากาศให้ดี บริษัทจึงขออยากให้การลงทุนในอีอีซีครั้งนี้เป็นการสร้างความเชื่อมั่น”
สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2564-68) บริษัท ตั้งงบประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับโครงการด้านพลังงานของบริษัทในอนาคต โดยในปี 2564 จะใช้งบลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท ไม่รวมการศึกษาโอกาสเข้าซื้อกิจการ(M&A) โซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ขนาดประมาณ 100 เมกะวัตต์
ส่วนธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนในรูปแบบ Private PPA ปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมอยู่ที่ 35-40 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นภายใต้การดำเนินการของบริษัทโซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR ซึ่งเน้นโซลาร์รูฟบนที่พักอาศัยและตลาดเชิงพาณิชย์ เช่น โฮมโปร เป็นต้น
และภายใต้ดำเนินการของ บริษัท MSEK Power โดยมี Mitsubishi UFJ Lease & Finance Company Limited (MUL) บริษัทการเงินใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 58% โดย MSEK จะรุกตลาดกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมนั้น เดิมมีเป้าหมายจะติดตั้ง 100 เมกะวัตต์ แต่คงปรับลดลงเหลือประมาณ 50 เมกะวัตต์ก่อน ตามสภาพเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19