Genomics : New S-curve ของวงการแพทย์
วงการแพทย์สมัยใหม่ เริ่มใช้องค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ หรือ Genomic โดยศึกษาลงลึกไปจนถึงหน่วยที่เล็กที่สุดนั่นคือ เซลล์ของสิ่งมีชีวิต มาพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาโรคร้ายแรง
เมื่อเรากล่าวถึง S-Curve ในแวดวงธุรกิจจะหมายถึง วงจรชีวิตของสินค้า (Product life cycle) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ขั้นแนะนำ, เจริญเติบโต, เจริญเติบโตเต็มที่ จนสิ้นสุดที่ ช่วงตกต่ำ หากธุรกิจต้องการให้สินค้ากลับเข้าช่วงเจริญเติบโตอีกครั้งหลังจากเข้าสู่ภาวะเจริญเติบโตเต็มที่ หรือ ช่วงตกต่ำไปแล้วนั้น อาจจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นมีความแตกต่างจากเดิม หากสามารถทำได้เราจะเรียกสินค้าเหล่านั้นว่า New S-Curve ของ Product life cycle
จะขอยกตัวอย่างกรณี New S-Curve ในสินค้าประเภท 'ยารักษาโรค' โดยที่ผ่านมามีคุณลักษณะอย่างหนึ่งคือ ยอดขายสินค้ามักจะเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นข้อดีเรื่องความมั่นคงของรายได้ แต่อัตราการเติบโตของธุรกิจมักจะน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น เนื่องจากสินค้าที่เกี่ยวข้องในกลุ่มนี้มักใช้ในปริมาณที่จำเป็นเพื่อการรักษาโรคภัยต่างๆ เท่านั้น หากใช้ยามากเกินความจำเป็นอาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ายอดขายสินค้าประเภทนี้จะอยู่ในช่วงเติบโตเต็มที่
อย่างไรก็ดี วงการแพทย์สมัยใหม่ เริ่มใช้องค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ หรือ Genomic โดยศึกษาลงลึกไปจนถึงหน่วยที่เล็กที่สุดนั่นคือ 'เซลล์ของสิ่งมีชีวิต' มาพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาโรคร้ายแรงที่รักษาได้ยาก โดย Genomic เริ่มต้นมาจากความสำเร็จของโครงการ Human Genome Project เมื่อปี ค.ศ. 2003 โดยทำการจัดเรียงลำดับพันธุกรรมมนุษย์ หรือ DNA Sequencing กว่า 90% ของเซลล์มนุษย์ได้สำเร็จ ด้วยระยะเวลากว่า 13 ปี นับเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้มนุษย์มีความเข้าใจในร่างกายตนเองมากขึ้น จนนำไปสู่การวินิจฉัยโรคร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือ การกลายพันธุ์ของเซลล์โดยที่ยังไม่มีอาการได้ (Pre-symptomatic diagnosis) ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ที่มีความเสี่ยงหากตรวจพบความผิดปกติได้เร็วเพียงใด จะสามารถวางแผนการรักษาเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายเหล่านั้นได้
นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่สามารถเก็บ Big Data ได้ในปริมาณมาก และมีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยในการประมวลผลข้อมูลอย่างรวดเร็วและมีแบบแผน ช่วยให้ต้นทุนการจัดเรียงที่ลดลงจากเดิมหลัก 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อ 1 จีโนม เหลือเพียงไม่ถึง 1,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อ 1 จีโนมเท่านั้น ทำให้ความนิยมของธุรกิจ DNA Sequencing มีมากขึ้น โดย ARK Investment Management คาดการณ์ว่า จำนวนครั้งในการจัดเรียง DNA จะเพิ่มจาก 2.6 ล้านจีโนมในปี ค.ศ. 2019 สู่ 100 ล้านจีโนม หรือกว่า 40 เท่า ในปี ค.ศ. 2024 โดยเมื่อมีกลุ่มตัวอย่างที่มากพอ จะช่วยให้มนุษย์สามารถศึกษาความผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและสามารถคาดการณ์สุขภาพของประชากรในอนาคตได้อีกด้วย
เมื่อเรามีความเข้าใจเซลล์มนุษย์มากขึ้น จึงเกิดนวัตกรรมการรักษาด้วย Living Drugs ซึ่งเป็นผลิตยารักษาโรคที่สร้างขึ้นจากเซลล์ของมนุษย์ โดยดัดแปลงคุณลักษณะบางอย่างเพื่อให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับโรคร้ายแรงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้ยาภูมิคุ้มกับบำบัด (Immunotheraphy) โดยสร้างจาก T Cell ที่อยู่ภายในเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการและฉีดกลับสู่ผู้ป่วยเพื่อกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวสามารถทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกายได้
นอกจากการตรวจพบโรค หรือการรักษานั้น องค์ความรู้ Genomic ยังสามารถป้องกันการเกิดโรค ด้วยการแก้ไขสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ในรหัสพันธุกรรม ด้วยเทคนิคการตัดแต่งจีโนม หรือ Genome-editing โดยวิธีการอย่าง CRISPR/Cas9 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีโอกาสแก้ไขรหัสพันธุกรรมที่มีความผิดปกติเพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุได้ เช่น การแบ่งตัวของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างโรคมะเร็ง หรือ โรคพันธุกรรมอย่างเบาหวานได้อีกด้วย
จากบทวิเคราะห์ของ ARK Investment Management ยังระบุอีกว่า ตลาดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค (Therapeutic) ที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ปีค.ศ. 2019 หากมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Next Generation DNA Sequencing ข้างต้นจะทำให้มูลค่าตลาด Therapeutic แตะ 9 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือ กว่า 3.5 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่า Genomic เป็นองค์ความรู้ที่นอกจากจะช่วยให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นและน่าสนใจแล้ว ในด้านการลงทุนยังถือว่ามีการเติบโตที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
ดังนั้น จากความก้าวหน้าอุตสาหกรรมการแพทย์ในปัจจุบัน นับได้ว่าองค์ความรู้ Genomic จะเป็น New S-Curve สำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมแนวทางการรักษาจากอดีตที่เป็นการรักษาผู้ป่วยที่ป่วยโรคเดียวกัน รักษาเหมือนกัน ยาตัวเดียวกัน มาสู่การรักษาแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) โดยสามารถพัฒนายารักษาโรคสำหรับผู้ป่วยคนนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งจะตอบสนองต่อยาได้ดีกว่าการรักษาในอดีต รวมทั้งยังสามารถวางแผนในการรักษาผู้ป่วยได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างดีอีกด้วย
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ AFPTTM Wealth Manager