ททท.ชะลอแผนไทยเที่ยวไทย เข้มปลอดภัยเล็งหั่นเป้าหลังโควิดทุบซ้ำ
วิกฤติแพร่ระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิดลุกลามอย่างรวดเร็ว กระทบภาคการท่องเที่ยวไทยเดจาวู! ต้องปาดเหงื่อกันอีกรอบ เพราะแนวโน้มการเดินทางต้องหยุดนิ่ง ตัดโอกาสปั้นยอด “ไทยเที่ยวไทย” โดยเฉพาะไฮซีซั่นไตรมาสแรกนี้
ส่งผลต่อเป้าหมายตลาดในประเทศปี 2564 จากเดิมคาดการณ์ไว้ 120 ล้านคน-ครั้ง อาจต้องปรับลด!
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศซึ่งขณะนี้พบผู้ติดเชื้อหลายจังหวัด จนรัฐบาลต้องออกประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดง แม้จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางและท่องเที่ยว เหมือนกำลังย้อนกลับไปในช่วงการระบาดรอบแรกเมื่อปี 2563 แต่สิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญคือการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศก่อน
“ความรู้สึกตอนนี้คล้ายๆ เดจาวูเมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรก แม้รอบใหม่จะยังไม่มีการระบาดในทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังร่วมกันอย่างดีที่สุด เพราะตอนนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าโรคโควิด-19 จะระบาดอีกนานเท่าใด ต้องรอจนกว่าจะถึงวันที่มีการยืนยันว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ และต้องนับไปอีก 28 วันซึ่งเป็นระยะปลอดภัยตามหลักการสากล สามารถมั่นใจได้ว่าเชื้อจะหยุดแพร่ออกไป รัฐถึงจะออกมาตรการผ่อนคลายได้”
ด้านมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว นอกเหนือจากการเร่งหาแนวทางช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน เช่น ค่าไฟ เป็นต้น ททท.อยู่ระหว่างเร่งรัดหาแหล่งปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อช่วยเหลือต่อเนื่องจากการระบาดรอบแรก เพราะการช่วยเหลือในด้านแหล่งเงินทุนถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องการมากที่สุด โดย ททท.จะประชุมหารือร่วมกับธนาคารออมสินเพิ่มว่าต้องเตรียมแพ็คเกจมาตรการความช่วยเหลือใหม่ๆ ใดออกมาบ้าง ด้วยการประเมินระดับความรุนแรงของการระบาดรอบใหม่ควบคู่ไปด้วย
ส่วนการจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาภาคการท่องเที่ยวนั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังพิจารณา เพราะเมื่อเกิดการระบาดซ้ำในขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในภาพรวมยังสะบักสะบอมจากการระบาดรอบแรก จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำแนวคิดจัดตั้งกองทุนฯมาหารือกันอีกรอบ
“แผนกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศที่วางไว้ขณะนี้ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เน้นย้ำมาว่าต้องให้ความสำคัญกับมาตรการควบคุมการระบาด ลดความสำคัญในการกระตุ้นการเดินทางลง เพื่อให้คนอยู่บ้าน หยุดการแพร่ระบาดของเชื้อให้ได้ก่อน”
จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะรีสตาร์ทภาคท่องเที่ยวไทยได้ในช่วงต้นปี 2564 แต่พอเจอสถานการณ์นี้เข้าไป ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดนิ่งไปอีกระยะ ตามมาตรการรัฐที่ออกมาเพื่อควบคุมการระบาดซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจำกัดการเดินทาง และจำกัดการรวมตัวกันของคนหมู่มาก ทำให้ตลาดการเดินทางและท่องเที่ยวชะงักไป
“ยอมรับว่าการระบาดรอบใหม่ส่งผลกระทบต่อแผนกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศของ ททท. เพราะเดิมประเมินว่าในไตรมาสแรกปีนี้จะเป็นช่วงฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวซึ่งอยู่ในช่วงไฮซีซั่น ทำให้เป้าหมายตลาดไทยเที่ยวไทยปี 2564 ที่ ททท.ตั้งไว้ 120 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 7 แสนล้านบาท มีแนวโน้มสูงที่อาจต้องปรับเป้าอีกครั้ง เนื่องจากจำนวนตลาดไทยเที่ยวไทยตลอดปี 2563 เบื้องต้นน่าจะปิดที่ตัวเลข 90-95 ล้านคน-ครั้ง และต้องประเมินผลกระทบจากโควิดที่มีต่อสถานการณ์ท่องเที่ยว 2 เดือนแรกของปีนี้ด้วย”
ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถือว่ายังไม่ได้กระทบกับแผนงานที่วางไว้ เพราะหากควบคุมการระบาดในประเทศได้ดี จากที่ประเมินไว้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาท่องเที่ยวไทยในช่วงไตรมาส 3 ปี2564 น่าจะยังมีความเป็นไปได้อยู่
อย่างไรก็ดี วานนี้ (4 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ยกเลิกคำสั่งกรุงเทพมหานครที่จะห้ามการนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร จากเวลา 19.00-06.00 น. เปลี่ยนมาเป็นเวลา 21.00-06.00 น.
ก่อนหน้านี้ ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งเห็นชอบให้ร้านอาหารทุกประเภทเปิดให้มีการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ในช่วงเวลา 06.00-19.00 น. และหลังจากนั้นก็ให้บริการแบบซื้อกลับในช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-06.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.เป็นต้นไปนั้น สมาคมฯ เห็นว่า แม้จะเป็นเรื่องดีที่รัฐผ่อนปรนให้มีคนมานั่งรับประทานอาหารในร้านได้ แต่เวลาที่จำกัดให้นั่งถึง 19.00 น.นั้น ไม่น่าจะสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ทำให้ร้านอาหารขายอาหารมื้อเย็นได้ยาก เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่เข้าไปรับประทานอาหารเย็นจะเริ่มตั้งแต่ 18.00 น. กว่าจะรออาหารเสร็จก็มีเวลาเหลืออย่างมากแค่ครึ่งชั่วโมงในการรับประทานเท่านั้น
การขยายเวลาเป็น 21.00 น.จึงเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการได้