'สมาคมโรงพยาบาลเอกชน' เปิดสาเหตุ ‘ยา-เวชภัณฑ์’ ราคาสูงกว่าตลาด

'สมาคมโรงพยาบาลเอกชน' เปิดสาเหตุ ‘ยา-เวชภัณฑ์’ ราคาสูงกว่าตลาด

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแจงราคายา-เวชภัณฑ์สูงกว่าท้องตลาด ระบุ อัตราต้นทุนแฝง-ค่าดำเนินการ-เก็บรักษาต่างกัน ย้ำกำไรสุทธิ 10 %  พาณิชย์กำหนดราคาเดียวทำได้ยาก

KEY

POINTS

  • "นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน" แจงยา-เวชภัณฑ์ ราคาสูงกว่าท้องตลาด เพราะอัตราต้นทุนแฝง-ค่าดำเนินการ-เก็บรักษาต่างกัน ขณะที่รพ.ในตลาดหลักทรัพย์กำไรสุทธิ 10 %บวกลบ 
  • "นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน" ระบุพาณิชย์คุมค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว ต้องแจ้ง-ห้ามขายเกินที่แจ้ง ส่วนจะให้กำหนดเป็นราคาเดียวเท่ากันทุกรพ. ทำไม่ได้ เพราะต้นทุนไม่เหมือนกัน
  • "นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน" มอง “ร่วมจ่าย Co-payment ประกันสุขภาพเอกชน” อาจดันยอดเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกมากขึ้น จากถูกจำกัดนอนรพ.

จากที่ “กรุงเทพธุรกิจ” ติดตามต่อเนื่องประเด็น “ร่วมจ่าย Co-payment ประกันสุขภาพเอกชน” ที่มีหลักเกณฑ์ให้ผู้ทำประกันร่วมจ่าย 30-50 % ภายใต้เงื่อนไข 3 กรณีที่กำหนด จนไปสู่ประเด็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเปิดเผยเรื่อง “ค่ารักษาพยาบาลในรพ.เอกชนแพง”โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ ซึ่งพบราคารายการที่สูงกว่าท้องตลาดมากสุดถึง 6,900 %ในรพ.เอกชนแห่งหนึ่งนั้น

ต้นทุนแฝงต่างเหตุราคาต่าง

ล่าสุด นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ต้องพิจารณาเรื่องการเก็บรักษายาหรือเวชภัณฑ์ดีมากน้อยแค่ไหน เช่น เปิดแอร์ 24 ชั่วโมง หรือเครื่องดูดความชื้น เป็นต้น  ไม่ได้หมายความใครดีไม่ดี แต่สิ่งที่รพ.ต้องดำเนินการ คือ ต้องมีการควบคุมทุกอย่างในการเก็บรักษา รวมถึง ต้องมีเภสัชกรในการจัดซื้อ ตรวจสอบ  ควบคุมไม่ให้หมดอายุ  ซึ่งไม่ได้หมายความร้านขายยาในท้องตลาดไม่ดำเนินการสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่ต้นทุนดำเนินการไม่เท่ากัน

“หากเทียบโรงแรม 1-6 ดาวจะมีความแตกต่างกัน ถ้ามีต้นทุนที่สูงก็คิดราคาแพง กรณีรพ.ที่มีบริการทางการแพทย์ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าแพงมโหฬารคงไม่ถึงขนาดนั้น ทุกอย่างมีต้นทุนแฝงประกอบ”

กรณียา สมาคมฯเคยทำวิจัยต้นทุนยาของรพ.นอกเหนือจากส่วนที่เป็นค่าตัวยา มีค่าเฉลี่ยต้นทุนยาแต่ละเม็ด มากกว่า 1 บาทขึ้นกับแต่ละโรงพยาบาล บางแห่งอาจจะ 2-3 บาทต่อเม็ด ถามว่าทำไมราคาในรพ.เอกชนต่างกัน ก็ต้องไปดูว่าเป็นรพ.ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ด้วย
กรณีเวชภัณฑ์ ก็ลักษณะเดียวกัน เนื่องจากทุกอย่างที่ใช้ทางการแพทย์ต้องมีการควบคุม มีวันหมดอายุ  อาจจะซื้อสำลี แอลกอฮอล์ พลาสเตอร์ไว้ที่บ้านแล้วเก็บไว้ 4-5 ปี แต่รพ.ส่วนใหญ่อายุที่กำหนดจะไม่เกิน 2 ปี และเมื่อใกล้หมดอายุ 6 เดือนต้องอนำไปเปลี่ยน นำไปดำเนินการ ไม่ยอมให้หมดอายุ

กรณีเครื่องมือแพทย์ อาทิ การตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ(MRI) รพ.บางแห่งใช้MRI 1.5  ขณะที่บางแห่งใช้ MRI 3 ราคาค่าบริการก็ย่อมแตกต่างกัน แม้จะเป็นการตรวจวินิจฉัยด้วยMRIเช่นกัน

กำหนดราคาเดียวกันหมดไม่ได้

ข้อเสนอที่จะให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมค่ารักษาพยาบาลในรพ.เอกชน นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า  ปัจจุบันกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ควบคุมอยู่แล้ว โดยทุกรพ.เอกชนจะต้องกำหนดราคาและแจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ และห้ามขายเกินราคาที่กำหนดแจ้งไว้ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีต้นทุนไม่เท่ากัน  ทำให้ราคาแตกต่างกัน

ทั้งนี้ จะระบุภาพรวมว่ารพ.เอกชนมีการบวกเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะแต่ละรพ.มีต้นทุนต่างกัน และมีการเฉลี่ยระหว่างรายการของแพง ของถูกด้วย โดยหากเป็นรายการที่แพงก็จะบวกเพิ่มเฉพาะค่าดำเนินการไม่เป็นเปอร์เซ็นต์  ส่วนของที่ราคาต่ำถึงจะเฉลี่ยเป็นเปอร์เซ็นต์ซึ่งแต่ละแห่งก็จะบวกเพิ่มไม่เท่ากัน  

หรือหากดูจากรพ.รัฐ กรณีที่ให้บริการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ที่กำหนดอัตราราคาไว้ถูก ทำให้รพ.รัฐขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูงกว่ารพ.รัฐขนาดเล็ก เผชิญภาวะขาดทุนจนต้องมีการรับบริจาคต่างๆ  เป็นข้อเท็จจริงที่เห็นอยู่ในสื่อสังคม

“จะให้พาณิชย์เข้ามาควบคุมราคาโดยกำหนดเป็นราคาเดียวไม่ได้ เพราะรพ.แต่ละแห่งมีต้นทุนต่างกัน แต่ก็สามารถเรียกดูราคาต้นทุนต่างๆได้หมด ที่ผ่านมารพ.เอกชนก็มีการเฉลี่ยราคาแต่ละชนิด บางรายการราคาแพงมากจะบวกมากไม่ได้ บวกให้แค่พออยู่ได้ ไม่ได้กำไรอะไรมาก ซึ่งรพ.เอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องกำไรอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน เมื่อดูกำไรสุทธิจะอยู่ที่ 10 % บวกลบเท่านั้น ยิ่งปีที่ผ่านมาย่ำแย่ไปหมด”

นพ.ไพบูลย์ ย้ำว่า รพ.เอกชนเป็นรพ.ทางเลือก ถ้าคิดว่าราคาสูง ไม่เหมาะสม  คนไทยทุกคนก็สามารถพิจารณาเลือกการรักษาที่ไม่ต้องเสียเงินเลยได้ อย่างหากไม่ได้เป็นข้าราชการหรือคนทำงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม แล้วใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองก็จะให้ดูแลรักษาตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต

“เท่ากับคนไทยเลือกรักษาพยาบาลได้ตั้งแต่ไม่เสียเงินเลย จนถึงไปซื้อแบบแพงขึ้นเล็กน้อย แพงขึ้นมาก แพงมากที่สุด ”

ร่วมจ่าย Co-payment ดันยอดผู้ป่วยนอกเพิ่ม

สำหรับร่วมจ่าย Co-payment ประกันสุขภาพเอกชนนั้น นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า จากการได้รับฟังจากนายกสมาคมประกันวินาศภัย แจ้งว่าผู้ทำประกันด้วยวงเงินการรักษาต่อปี 50,000 บาท หากรับบริการเกินจากวงเงินก็จะต้องจ่ายเอง  ส่วนกรณีผู้ป่วยที่เป็นเล็กเป็นน้อยแล้วนอนรพ.บ่อยๆ อาจจะต้องรวมจ่าย Co-payment สำหรับกรมธรรม์ครั้งต่อไปที่จะต่อ โดยในปี 2568 ก็จะเป็นการเก็บข้อมูล

“ในหลักการไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรพ.เอกชนมากนัก แต่จะเป็นลักษณะรูปแบบการเข้ารับบริการที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกรณีของคนที่ป่วยไม่มากแต่ไม่สบายใจ ก็จะนอนรพ.ได้น้อย อาจจะต้องมารับบริการในส่วนของผู้ป่วยนอกบ่อยขึ้น ก็มีการเตรียมความพร้อมรองรับดูแลส่วนนี้ สำหรับรายได้รพ .ถ้าผมประเมินก็จะเปลี่ยนไปจากผู้ป่วยในเป็นผู้ป่วยนอก อย่างไรก็ตาม เมื่อปฏิบัติจริงก็คงเห็นตัวเลข”

เงินเฟ้อทางการแพทย์เกิดจากค่าของแพงขึ้น

กรณีอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ นพ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีคนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองที่ผู้ป่วยไม่ต้องเสียเงิน หรือประกันสังคมหรือสวัสดิการข้าราชการแล้วเห็นว่าอาจจะไม่เพียงพอ จึงไปใช้ทางเลือกเพิ่มเติมในการรับบริการรักษาพยาบาล ในรูปแบบเงินสดด้วยการจ่ายเงินเอง หรือมีประกันสุขภาพเอกชนร่วมด้วย

ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ เป็นส่วนของค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ค่าบุคลากรทางการแพทย์ ค่าเวชภัณฑ์ ค่ายา ค่าเทคโนโลยี ค่าเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์เพิ่มขึ้น

ร่วมจ่าย Co-payment มุ่งแก้รับบริการมากเกิน

ขณะที่การดำเนินการร่วมจ่าย Co-payment ประกันสุขภาพเอกชน เป็นการป้องกันเรื่องเข้ารับบริการมากเกินไป  คือการเข้ามาพบแพทย์ นอนรักษาในรพ.โดยไม่จำเป็น ที่เป็นคนพูดถึงโรคง่ายแต่ทำไมต้องนอนรพ. ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดยากในทางการแพทย์ สมมติ เด็กหรือผู้สูงอายุท้องเสีย อาจจะรักษาด้วยการรับประทานอาหารอ่อนและดื่มน้ำเกลืออยู่ที่บ้านได้

แต่ขณะเดียวกันถ่าย อาเจียนมาก ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ปกครองไม่มั่นใจ ก็ต้องการให้เข้ารับการรักษานอนรพ. ลักษณะเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่ตอบได้ยากแม้เป็นโรคเดียวกันว่ากรณีนี้เป็นโรคเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple Disease) หรือไม่ เพราะหากมีอาการท้องเสียหนักเป็นอหิวาตกโรคก็ไม่ได้เป็นโรคทั่วไป แต่หากองเสียไม่หนักก็เป็นโรคทั่วไป ส่วนใหญ่แพทย์จะพิจารณาความเหมาะในการรับผู้ป่วย