10 กลุ่มหุ้นสู้ –ตั้งรับโควิด หลังไทยเผชิญระบาดรอบใหม่
ผ่านมาแค่ 2 วันทำการหลังเปิดทำการตลาดหุ้นไทยแต่ปัจจัยโควิดรอบใหม่รุนแรงมากกว่ารอบแรก ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นรายวันและมีการคาดการณ์ว่าภายในสัปดาห์นี้อาจจะได้เห็นตัวเลขแตะหลักพันรายได้
สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐที่ทยอยความเข้มงวดมากขึ้น ตั้งแต่การออกพรก. ฉุกเฉิน (3 ม.ค. 2564 ) และได้ต่ออายุไปจนถึง 28 ก.พ. 2564 ซึ่งต้องปฎิบัติ อาทิ ห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่เขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด
ห้ามจัดกิจกรรมที่มาความเสี่ยงต่อการแพร่โรค เช่น ประชุม สัมมนา จัดเลี้ยง ,ปิดสถานบริการ,ร้านอาหารเปิดได้ตามปกติ แต่จัดระเบียบการใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน , งดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด เป็นต้น
มาตรการดังกล่าวเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อ 10 กลุ่มหุ้นทั้งกลุ่มที่ "กระทบ" และสามารถ "ต้าน" โควิด เอาไว้ได้ โดยกลุ่มแรกที่มีผลกระทบ 5 กลุ่มหุ้น หนักสุดยังเป็นกลุ่มท่องเที่ยวที่รวมทั้ง สนามบิน สายการบิน โรงแรม ยังไม่ฟื้นตัวดีหนักจากรอบแรกที่ขาดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา
โดยหลายรายจำเป็นต้องปรับโครงสร้างธุรกิจรับกับบริบทใหม่ในสังคม อย่าง นิวนอมอล ซึ่งหนักสุดคือ ล้มละลายจนต้องเข้าฟื้นฟูกิจการในที่สุด ในกลุ่มมี บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน มองผลกระทบประกอบไปด้วย ERW-MINT-CENTEL-AAV-BA-AOT
ถัดมาหุ้นกลุ่มค้าปลีกและร้านอาหาร ผลพ่วงจากการล็อกดาวน์ใน 28 จังหวัดทั่วประเทศและกรุงเทพฯที่ถือว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์เริ่มดีขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้สามารถนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ถึง 21.00 น. จากเดิมมีประกาศฝั่งกรุงเทพมหานคร ให้ปิดบริการตั้งแต่ 19.00-06.00 น.
กลุ่มนี้มีทั้ง ZEN – AU - M –DOHOME –BJC –CRC –CPN –ILM –CPALL และ HMPRO ซึ่งในกลุ่มนี้ มี DOHOME แจ้งปิดให้บริการชั่วคราว 2 สาขา ได้แก่ สาขาพระราม 2 และสาขาเพชรเกษม โดยปิดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2563 -3 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับกลุ่มอาหาร ที่มี CPF มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ จ. สมุทรสาคร ซึ่งใช้คนงานน้อยมี สัดสวนรายได้จากโรงงานดังกล่าวไม่ถึง 1 % ของรายได้รวม แต่มีผลจากราคากุ้งขาวราคาตกไม่น้อยกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 4-5 % ส่วน TU มีโรงงานผลิตกุ้ง 200 ตัน ต่อวันจาก 2โรงงานในพื้นที่ระบาด ซึ่งบริษัทกระทบรายได้รวม 2 % ปิดท้ายที่หุ้นบันเทิง MAJOR ที่ต้องปิดบริการโรงภาพยนต์ 2 แห่งในมหาชัยเช่นกัน
สวนทางกับอีก 5 กลุ่มที่เป็นหุ้นต้านเชื้อโควิดกลุ่ม ชิ้นส่วนฯ มี KCE-HANA กลุ่มนี้มีทิศทางล้อไปกับความต้องการเครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์ การเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานลูกค้าในต่างประเทศเป็นหลัก
กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางเป็นหุ้นทองคำในช่วงนี้ มีทั้ง STGT-STA-NER การันตรีได้จากยอดขายของแต่ละบริษัททุบสถิตินิวไฮเป็นว่าเล่นตั้งแต่ปี 2563 และบางบริษัทยังมีคำสั่งซื้อรอส่งแบบข้ามปี กลุ่มปิโตรเคมีขั้นกลาง-ปลาย SCGP และ EPG ได้เปรียบจากการผลิตหีบ ห่อ และบรรจุภัณฑ์ จากการ Work from home ทำให้ต้องสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขื้น รวมไปถึงธุรกิจการสื่อสาร จากความจำเป็นในการใช้งาน มีหุ้นหลัก ADVANC และ INTUCH
ปิดท้ายที่หุ้นเครื่องดื่ม และเครื่องปรุง ซึ่งหลายบริษัทปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแต่ที่ยังปรับขึ้นไม่มากและมีส่วนต่างจากราคาเป้าหมาย XO-ICHI
ส่วน บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่าหุ้นที่จะตอบรับเชิงบวกมากได้แก่ STGT จากความต้องการถุงมือยางยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง KEX ตามสั่งสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงกักตัวอยู่บ้าน SYNEX จำหน่ายค้าส่งสินค้าไอทีหลังความต้องการในกลุ่มนี้รองรับ WFH และเรียน ออนไลน์เพิ่มขึ้น และหุ้น MEGA เป็นผู้ผลิตอาหารเสริม ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการบริโภควิตามินมากขึ้นเพื่อเสริมสุขภาพ