‘เทคโนโลยี’ กับ ‘โควิด-19’ ในแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
เมื่อการแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’ ระลอกใหม่ กระจายตัวไปหลายจังหวัด การใช้เทคโนโลยีติดตามจึงสำคัญ ข้อถกเถียงเรื่องความมั่นคงของชาติ และข้อมูลส่วนบุคคลจึงเกิดขึ้น
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ สร้างความตระหนกให้กับทุกคนในประเทศเป็นอย่างมาก ตระหนกทั้งในด้านสุขภาพที่ต้องกลับมาตั้งการ์ดกันอีกครั้ง และเรื่องปากท้องของคนจำนวนมาก เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอย ร้านอาหาร สถานบันเทิง หลายคน หลายอาชีพ พอจะฝันถึงสตางค์ที่จะมาเพิ่มในกระเป๋าได้ ก็เป็นอันว่าล่มสลายไปกับการระบาดใหม่ในครั้งนี้ด้วย อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าจุดเริ่มต้นของการระบาดในรอบนี้มาจาก ‘แรงงานต่างด้าว’ ที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฏหมาย นำเชื้อเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านและใช้ตลาดกลางกุ้งที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นที่ระบาดของเชื้อ ผู้ที่ติดเชื้อที่ตรวจพบในช่วงแรกล้วนมีส่วนเชื่องโยงกับจังหวัดสมุทรสาครทั้งสิ้น
- นำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามเส้นทางการแพร่กระจายของเชื้อ
หลังจากประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีจำนวนกว่า 500 คน ในวันเดียว และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รัฐบาลตลอดจนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องระดมมาตรการต่างๆ มาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน มีการประกาศพื้นที่เสี่ยงและสถานที่ๆ เกิดการระบาดของเชื้อโควิด 19 พร้อมกับข่าวที่มีมาตลอดเวลาว่าผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ หรือแม้แต่นายจ้างหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีการปิดบังข้อมูลเนื่องจากเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
ในฐานะที่ผมเขียนบทความที่เกี่ยวกับ Digital และติดตามข่าวสารเรื่องนี้มาตลอด ในมุมของผมคิดว่า Digital สามารถนำมาใช้ในการติดตาม วิเคราะห์ทิศทางหรือความเชื่อมโยงของผู้ติดเชื้อได้สบายๆ เพราะแรงงานต่างด้าวทุกคนล้วนมีโทรศัพท์มือถือติดตัวกันทั้งนั้น และเท่าที่ทราบผู้ประกอบการค่ายมือถือก็ล้วนแต่มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับชาวต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศ ถ้าใครทำงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจากต่างด้าวจำนวนมากคงจะเคยเห็นบู๊ทของค่ายมือถือต่างๆ ที่ไปเปิดขายซิมที่แถมการโทรกลับประเทศบ้านเกิดแบบเป็นเรื่องเป็นราวตามนิคมหรือแหล่งร่วมโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับที่หลายๆ คนเห็นแม่บ้าน คนสวนที่เป็นแรงงานต่างด้าวใช้โทรศัพท์มือถือกันอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นในทางเทคนิคจึงเป็นเรื่องง่ายที่จะตรวจสอบว่าผู้ที่ติดเชื้อเดินทางผ่านจุดไหนไปที่ไหน เวลาอะไร และใช้เวลาอยู่ในสถานที่นั้นๆ นานแค่ไหน เรื่องนี้เช็คได้จากตัวโทรศัพท์เองได้ หรือตรวจสอบเลขหมายจาก Cell Site ต่างๆ และถ้าจะนำไปใช้ในเชิงรุกก็เพียงตรวจสอบหมายเลขมือถือต่างๆ ที่อยู่บริเวณเดียวกันกับผู้ติดเชื้อถ้าอยู่ด้วยกันตลอดเวลาก็เป็นอันว่าแน่นอนมาด้วยกันติดด้วยกัน ส่วนกลุ่มที่มีบังเอิญผ่านไปในจุดเดียวกันกับผู้ติดเชื้อก็แสดงว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อได้ ถ้าจะทำงานเชิงรุกขึ้นอีกระดับก็คือออกตามตัวผู้ที่คาดว่าจะเดินทางมาด้วยกันมาตรวจเชื้อทันที ส่วนผู้ผ่านไปในจุดเสี่ยงเวลาใกล้เคียงกับผู้ติดเชื้อนั้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถส่ง sms ไปแจ้งเตือนให้กักตัวเองไว้ในบ้านหรือสามารถพาตัวเองมาตรวจเชื้อเพื่อความปลอดภัยได้เลย
เทคโนโลยีทำได้ง่ายครับแค่นำหมายเลขโทรศัพท์ใส่เข้าไปในระบบ ระบบก็จะประมวลออกมาให้อย่างรวดเร็ว เรื่องที่ยากไม่ใช่เทคโนโลยี
แต่เป็นคนและกฎระเบียบที่จะละเอียดอ่อนในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล ที่อาจจะมีประเด็นน่าอึดอัดอยู่บ้าง เรื่องนี้ผู้มีอำนาจ ภาครัฐ และส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องมาลองคิดเองครับว่า ‘ความเป็นส่วนตัว’ กับ ‘ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ’ ชีวิตคนไทย เศรษฐกิจไทย อะไรสำคัญกว่ากันครับ
- ความมั่นคงของชาติกับความเป็นส่วนตัว
ในยุค Digital เรื่องที่เป็นประเด็นกันอยู่เสมอๆ ก็คือเรื่องความเป็นส่วนตัว เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เพราะยุค Digital คนกับอุปกรณ์สื่อสารถูกนับรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และหลายๆ อย่างที่คนปฏิเสธจะถูกพิสูจน์ได้ด้วยอุปกรณ์สื่อสาร ในการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องแบบนี้ต้องใช้คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของผู้มีอำนาจในการสั่งการและการนำไปใช้ครับ เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในต่างประเทศมากมาย เรื่องที่หลายๆ คนพอจะทราบ ก็เรื่องรัฐสภาของสหรัฐอเมริกามีคำถามกับ Facebook ในการนำข้อมูลของผู้ใช้งานไปใช้ในการวิเคราะห์วิจัย ซึ่งทางรัฐสภาสหรัฐฯ มองว่าเป็นการนำข้อมูลไปแสวงประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล ซึ่ง
เรื่องนี้ถ้าว่ากันจริงๆ แล้ว ผมก็สงสาร Facebook และทีมงานอยู่เหมือนกัน ในระหว่างที่เข้าให้การหรือชี้แจงต่อตัวแทนของรัฐสภาสหรัฐฯ เพราะเห็นได้ชัดว่ามุมมองของนักเทคโนโลยี นักพัฒนา ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กับมุมมองของนักการเมือง ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจคำถามคำตอบซึ่งกันและกัน ซึ่งเรื่องนี้เอาจริงๆ ก็เป็นเรื่องปกตินะครับ เพราะความรู้พื้นฐานและเส้นทางชีวิตมากันคนละแบบ ต้องเปิดใจคุยกันเพื่อแสวงประโยชน์ร่วมกัน
ขอกลับมาที่ประเด็นในบ้านเรานะครับ สรุปว่าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นผู้นำการระบาดครั้งใหม่ และรุนแรงกว่ารอบแรกหลายเท่า ดังนั้น การตรวจสอบเส้นทางการเดินทางผ่านระบบสื่อสารที่ใช้ เป็นเรื่องควรจะกระทำ และผมเชื่อว่าหากรัฐประกาศที่จะขอแจ้งให้ผู้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวในเวลาใกล้เคียงกับผู้ติดเชื้อ ผ่านทางเครื่องมือสื่อสารที่ทุกๆ คนถืออยู่ ก็ไม่น่าจะมีใครขัดข้อง เพราะเป็นเรื่องของชีวิตและสุขภาพของตัวเขาเอง และครอบครัว รวมทั้งประเทศชาติโดยรวมอีกด้วย
รัฐน่าจะเพิ่มความมั่นใจไปเลยครับว่าการขอข้อมูลครั้งนี้ออกเอกสารโดยใคร ไปที่เครือข่ายเอกชนไหน ใครรับผิดชอบ สมัยนี้กฎหมายแรงครับ เอกชนเองไม่กล้าให้ข้อมูลใครง่ายๆ เพราะนอกจากผิดกฎหมายแล้วความน่าเชื่อถือทางการตลาดยังพินาศไปด้วย ถ้านำ Digital มาเช็คไม่นานก็น่าจะตามตัวมาตรวจเชื้อและป้องกันการแพร่ระบาดได้ครับ
เพราะ Digital เก็บข้อมูลไว้หมดและติดต่อถึงตัวกลุ่มเสี่ยงแน่นอน ส่วนกลุ่มผู้ร่วมกระทำความผิดนั้นก็น่าจะพอติดร่างแหมาด้วย แต่ในส่วนขอคอลัมน์นี้ขออนุญาตเขียนเรื่องการติดตามกลุ่มเสี่ยงของโรคโควิด 19 เท่านั้นครับ