ราคายางยังผันผวน กยท.เร่งแก้"โรคใบยางร่วง"สกัดผลผลิตหด50%

ราคายางยังผันผวน กยท.เร่งแก้"โรคใบยางร่วง"สกัดผลผลิตหด50%

กยท.ระดมผู้เชี่ยวชาญหาทางแก้ปัญหาโรคใบยางร่วงชนิดใหม่ หลังระบาดหนักทำผลผลิตลดกว่า 50%ชี้มาตรการป้องกันและยับยั้งเชื้อราสามารถดำเนินการทันที ส่วนแนวโน้มราคายังผันผวนพบระยะยาวทรงตัวสูงปัจจัยโควิดดันอุตฯการแพทย์

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)เปิดเผยว่า ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา เริ่มระบาดเข้าสู่ประเทศเมื่อปี2562 มีพื้นที่การระบาดประมาณ 800,000 ไร่ ส่งผลให้ใบยางพาราเกิดอาการร่วงอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตยางพาราลดลงถึง 50% เกษตรกรชาวสวนมีรายได้ลดลงตามไปด้วย ซึ่งในปี2563 พื้นที่การระบาดค่อนข้างใกล้เคียงกับ2562 และปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คาดว่าการระบาดจะมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กยท. ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการโรคใบร่วงฯ มีหน้าที่ดำเนินการมาตรการต่างๆ ได้แก่การศึกษาข้อมูลพื้นฐานโรค การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกษตรกรชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการป้องกัน และมาตรการยับยั้ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ การเข้าไปดำเนินการกับต้นยางพาราซึ่งมีขนาดใหญ่ในสภาพแปลงที่มีลักษณะทางภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จึงขาดข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลในเชิงเทคนิคบางประการจำเป็นต้องบูรณาการร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาทิกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตรมหาวิทยาลัยผู้แทนเกษตรชาวสวนยางและสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่โรคระบาดเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา กำหนดมาตรการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

161019413145

เบื้องต้นต้องร่วมกันศึกษาเชื้อสาเหตุให้ได้ผลที่แน่ชัด หาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารและจำนวนครั้งที่ต้องพ่น จัดทำมาตรฐานประเมินความรุนแรงของโรค(Standardize)สำรวจผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง จัดให้มีศูนย์รวบรวมข้อมูลพื้นที่เกิดโรครวมทั้งสภาพสวนยางและสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจุบันที่สุด สำหรับนำมาใช้ในการตัดสินใจบริหารจัดการโรคที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ด้านมาตรการป้องกันและยับยั้งเชื้อราที่ดำเนินการได้โดยเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความพร้อม เช่น การใช้ชีวภัณฑ์ ไตรโคเดอมา ชีวภัณฑ์ของสถาบันราชภัฏยะลา สามารถดำเนินการได้เลย

รายงานจากการยางแห่งประเทศไทย แจ้งว่า จากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทางเทคนิค ราคายางได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตของประเทศ คู่ค้ำยังคงปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจขยายตัว และโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่2 ซึ่งเป็นมาตรการที่ภาครัฐ ให้เกษตรกร มีรายได้ที่แน่นอน     

ปัจจัยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น การร่วมทุน ของภาคเอกชน สร้างโรงงานผลิตถุงมือยางเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายรอบใหม่ของจีนที่จะส่งเสริมให้เมืองชนบทในจีนซื้อรถยนต์และการนำรถเก่าแลกซื้อรถใหม่ และภาคเอกชนของจีนมีแผนดำเนินการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับยอดการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

161019414755

อย่างไรก็ตามจากสัญญาณตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ มีแนวโน้มระยะยาวอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่มีโอกาสย่อตัวลงตามแรงเทขายเพื่อทำกำไรระยะสั้น และสต็อกยางภาพรวมปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในประเทศที่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องและกระจายไปในหลายจังหวัดและต่างประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในอังกฤษ

อีกทั้งการขาดแคลนตู้สินค้า ซึ่งค่าระวางไป Qingdao อาจเพิ่มขึ้น 100 - 250 ดอลลาร์ และจะเพิ่มไปเรื่อยหากไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน อีกทั้งปริมาณยางออกสู่ตลาดมากและผู้ประกอบการชะลอการซื้อขายยางในช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นปัจจัยกดดันราคาในช่วงนี้ จึงคาดว่า ราคายางในเดือนม.ค. 2564 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง

สำหรับราคายาง(วันที่ 8 ม.ค.)ราคากลางเปิดตลาดยางแผ่นดิบอยู่ที่ 57.50 บาทต่อกก. ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 60 บาทต่อกก. ส่วนราคาประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลางยางพาราฯ ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 58.26 บาทต่อกก. ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 61.72 บาทต่อกก.

ราคายางมีแนวโน้ม ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดล่วงหน้ารวมถึงความต้องการ ยางมีมากขึ้นหลังจากช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมาอีกทั้งมีการเปิด ตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าในอินเดียประกอบกับรัสเซียออก มาตรการสนับสนุนยางสังเคราะห์เพื่อผลิตยางล้อและราคาถุงมือยางปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการปิดโรงงาน Top Glove และ Kossan ในมาเลเซียและราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น    

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ ส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจและการหยุดทำการของโรงงานยางพารารวมถึงการ เก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า อีกทั้งเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์ เป็นปัจจัยกดดันราคายางในขณะนี้

161019426587