ลุ้น ครม.เคาะมาตรการเยียวยา อัดสภาพคล่อง-ลดค่าครองชีพ
นายกฯ หารือ “คลัง-สศช.-สำนักงบฯ-พลังงาน” ออกมาตรการเยียวยาโควิด ชง ครม.วันนี้ เคาะเติมสภาพคล่องผู้ประกอบการ-ประชาชน ดึงแบงก์รัฐอัด 2 แสนล้านบาท “อาคม” ชี้มีมาตรการจ่ายเงินเยียวยา “พลังงาน” ลดค่าไฟลดช่วยประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (11 ม.ค.) โดยมีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ,นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ,นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายกุลลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน
หลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวข้อความว่า “เช้านี้มีการประชุมติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจ หารือมาตรการช่วยเหลือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งในเรื่องของค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ด้วยครับ”
นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลกำลังหาข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือ ส่วนจะแจกเงินหรือไม่ขอดูรายละเอียดก่อน แต่ไม่อยากให้ใช้คำว่าแจกเงิน เรียกว่าเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งวงเงินที่นำมาใช้อยู่ใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีงบประมาณเหลืออยู่จึงไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม
"กรณีที่เอกชนขอให้คลังแจกเงินโครงการคนละครึ่ง 4,000 บาท จำนวน 2 เดือนนั้น ไม่ทราบว่าคิดจากฐานอะไร แต่ไม่ใช่ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ต้องไปถามเขา ในส่วนรัฐบาลเตรียมไว้แล้ว ส่วนโครงการใหม่ที่ออกมาจะเป็นการแจกเงินเป็นก้อนทีเดียวเหมือนโครงการคนละครึ่ง หรือโครงการเราไม่ทิ้งกันที่แจกเงิน 5,000 บาท 3 เดือนหรือไม่นั้น เรื่องนี้กำลังดูรายละเอียด”
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (12 ม.ค.) กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการดูแลผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่ง คือ
ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอ็สเอ็มอีแบงก์) อาทิ การเพิ่มสภาพคล่อง การพักหนี้ การลดดอกเบี้ยและการดูแลลูกหนี้กลุ่มต่างๆ โดยรายละเอียดจะแถลงภายหลังการประชุม ครม.
ส่วนสภาพคล่องนั้นมีวงเงินรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ที่จะอัดฉีดไปช่วยประชาชนและผู้ประกอบการ ในจำนวนนี้มีวงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่เป็นสภาพคล่องคงเหลือจากมาตรการช่วยเหลือโควิด-19 ระยะแรก และเป็นวงใหม่รวม 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ สศช.จะเสนอมาตรการลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่อาจเป็นการลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ในขณะที่มาตรการเยียวยาประชาชนในด้านต่างๆ ยังไม่นำเสนอที่ประชุมครั้งนี้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า สศช.จะหารือรายละเอียดกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การประปานครหลวง (กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถึงมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟฟ้า โดยมีการสรุปผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทของ กฟน.และ กฟภ.รวม 24.5 ล้านครัวเรือน กรณีลดค่าไฟฟ้าให้ 3 เดือน ในอัตรา 3% จะใช้งบ 5,004 ล้านบาท หากลดค่าไฟฟ้า 5% จะใช้งบ 8,340 ล้านบาท และถ้าลดค่าไฟฟ้า 10% จะใช้งบ 16,680 ล้านบาท
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่ากระทรวงพลังงานเตรียมมาตรการเยียวยาผลกระทบตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีจะแถลงรายละเอียดมาตรการที่ ครม.เห็นชอบ
รวมทั้งกระทรวงพลังงานจะรายงานสถานการณ์การใช้พลังงานเดือน ธ.ค.2563 ยอดการใช้ไม่ได้ลดลง แต่เดือน ม.ค.2564 กำลังติดตามผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ถึงผลการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันหลังจากประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด และและเข้มงวดอีก 5 จังหวัด และหลายหน่วยงานได้มีมาตรการ Work From Home