‘เราชนะ’ คำต่อคำ อย่างละเอียด! ขุนคลังตอบเอง ใครมีสิทธิรับ 7,000 บาทบ้าง?
เคลียร์ชัด มาตรการเยียวยาโควิดรอบ 2ทั้ง "เราชนะ" และ "คนละครึ่ง" รอบเก็บตก โดย รมว.คลัง ตอบทุกข้อสงสัย ใครได้บ้าง ใช้เกณฑ์อะไร บัตรคนจนเข้าร่วมด้วยได้ไหม แล้วตกลงต้องลงทะเบียนหรือไม่? ที่นี่มีคำตอบ
เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาโควิดรอบสองที่รัฐบาลเตรียมกระตุ้นการใช้จ่ายอีกรอบ ผ่านโครงการ "เราชนะ" แจกเงิน 7,000 บาท เดือนละ 3,500 บาท 2 เดือน รวมถึงการเปิดรอบเก็บตก โครงการ "คนละครึ่ง" อีก 1 ล้านสิทธิ์ ที่จะได้รับเงินใช้จ่าย 3,500 บาท
ระหว่างที่ทั้งสองโครงการจะนำรายละเอียดเข้า ครม. อีกครั้งในวันที่ 19 ม.ค. นั้น ได้มีคำถามคาใจจากประชาชนมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเกณฑ์การคัดเลือก ว่า ใครจะเป็นผู้ได้รับสิทธื์ รวมถึง วิธีการลงทะเบียน ตกลงต้องลงทะเบียนใหม่หรือใช้ฐานข้อมูลเก่า ฯลฯ
ล่าสุด วันที่ 13 ม.ค.64 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการ “รวมไทย สร้างชาติ ร่วมต้านโควิด 19” ทางช่อง NBT เกี่ยวกับ มาตรการทางการคลัง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ระลอกใหม่ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เกี่ยวกับคำถามคาใจเหล่านี้ ซึ่ง "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ตัดสรุปมาให้เป็นประเด็นสำคัญๆ แล้วในบทความนี้!
- ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินคนละ 7,000 บาท ราว 30-35 ล้านคน
นายอาคม เผยถึงมาตรการ "เราชนะ" ที่ออกมาในรอบนี้ที่จะให้เงินคนละ3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวมเป็น 7,000 บาทโดยยืนยันว่า นี่คือมาตรการเพื่อดูแลอย่างครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มซึ่งได้รับผลกระทบ
"เราแยกไม่ได้ว่า จุดที่เป็นจุดเริ่มต้นในการแพร่กระจาย สู่กี่จังหวัด ถึงแม้บางจังหวัดอาจไมได้รับผลกระทบ แต่มันมีผลกระทบทางอ้อม มาตรการนี้ก็จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม เราก็มีเกณฑ์การช่วยเหลือให้ตรงจุด เช่น บางกลุ่มอาจจะมีระบบเงินเดือนอยู่แล้วที่รองรับความเดือดร้อนตรงนี้ เช่น ขรก รัฐวิสาหกิจ และแรงงานในระบบ ที่ลงทะเบียนกับประกันสังคม ก็มีมาตรการดูแลอยู่แล้ว
"หลักการ คือ เราก็ต้องดูคนที่ได้รับการดูแลแล้ว มีเท่าไหร่ และหักออกมา เป็นกลุ่มประชาชนที่เราจะให้การช่วยเหลือ ซึ่งตัวเลขน่าจะตกอยู่ที่ 30 – 35 ล้านคน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 'เราไม่ทิ้งกัน' สรุป! 5 มาตรการ 'เยียวยาโควิด' รอบใหม่ ล่าสุด! มีอะไรบ้าง
- สรุปครบ มาตรการช่วยลูกหนี้ 7 สถาบันการเงิน ‘เยียวยาโควิด’ รอบใหม่
- ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ต่างกันยังไง 'โควิดรอบใหม่' ได้ 'เยียวยา' อะไรบ้าง?
- เกณฑ์คัดเลือกเป็นอย่างไร ใครมีสิทธิบ้าง?
สำหรับเกณฑ์ว่า ใครบ้างที่จะเข้าเกณฑ์นั้น นายอาคม เผยถึงหลักการทำงานว่า จะเริ่มจากตัดคนที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว
และย้ำว่า อย่างไรก็ตาม ต้องมีการลงทะเบียน โดยอาจจะใช้แพลทฟอร์มที่มีอยู่แล้ว หรือ ใครที่ไม่ได้อยู่ในแพลทฟอร์มเหล่านี้ ก็อาจจะต้องมาลงทะเบียนกันใหม่ และใช้ระบบการจ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์
- ใครบ้างที่ คุณสมบัติ เข้าเกณฑ์- ไม่เข้าเกณฑ์ ?
"เราพยายามดูให้ครบหมด ประมาณการว่า จะมี 30-35 ล้านคน ถ้าเราคิดแบบปีที่แล้ว กลุ่มนี้..กลุ่มนี้ พอรวมกัน มันก็มาก แต่คราวนี้ เราดูกลุ่มคนที่มีสิทธิในโครงการอื่นอยู่แล้ว ก็ตัดออกไป
"ถามว่า แล้วใครบ้าง มีอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ขาย ก็จะเข้าเกณฑ์ โดยต้องมาลงทะเบียนอีกครั้ง แล้วเราก็จ่ายเงินเข้า "เป๋าตัง" ของเขา แรงงานนอกระบบ วินมอเตอร์ไซค์ คนส่งอาหารเดลิเวอรี่ แท็กซี่ ก็มีสิทธิได้หมด เพียงแต่ ต้องแจงรายละเอียดนิดนึง"
"ทีนี้ถามว่า แล้วใครบ้าง มีอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ขาย ก็จะเข้าเกณฑ์ด้วย โดยต้องมาลงทะเบียนอีกครั้ง เราก็จ่ายเงินเข้าเป๋าตังของเขา แรงงานนอกระบบ วินมอเตอร์ไซค์ คนส่งอาหารเดลิเวอรี่ แท็กซี่ ก็มีสิทธิได้หมด เพียงแต่ ต้องแจงรายละเอียดนิดนึง"
ส่วน วิธีการลงทะเบียน นายอาคม ยืนยันว่า รอบนี้ จะทำให้ง่ายกว่าเก่า อาจจะแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียว
- ได้คนละครึ่งแล้ว รับ "เราชนะ" ด้วยได้ไหม?
นายอาคม เผยว่า สำหรับคนที่อยู่ในมาตรการ คนละครึ่ง แล้ว ก็จะถูกนำรายชื่อมาคัดกรองด้วย โดยยึดตามวัตถุประสงค์หลักของ เราชนะ คือ ต้องการให้คนที่มีรายได้น้อย โดยหากคนที่ได้คนละครึ่งแล้ว และได้รับการตรวจว่าเข้าเกณฑ์เราชนะด้วย ก็จะได้รับเงินผ่านแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ได้เลย
- เงินเข้าเป๋าตัง แล้วจะนำออกมาเป็น "เงินสด" ได้ไหม ?
ในส่วนของการเบิกจ่ายนั้น หลายคนมีความสงสัยว่า หากโอนเงินเข้าแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" แล้วจำเป็นต้องใช้จ่ายผ่านแอพฯ เท่านั้นหรือไม่.. สามารถเบิกออกมาเป็นเงินสดได้ไหม? เรื่องนี้ นายอาคม เผยว่า ต้องรอความชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งโครงการดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จึงจะทราบรายละเอียดส่วนนี้
อังคารหน้าจะมีความชัดเจนว่า จะสามารถเบิกเป็นเงินสดออกมา หรือจะนำมาใช้ต่อในโครงการคนละครึ่งก็ได้
- ผู้ถือ "บัตรคนจน" มีสิทธิรับ 7,000 บาท ด้วยหรือไม่ ?
อีกหนึ่งข้อสงสัยเรื่องผู้มีสิทธิได้รับเงินตามโครงการ "เราชนะ" ว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน จะมีสิทธิรับเงิน 7 พันด้วยได้หรือไม่ เพราะในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" รอบปีที่แล้ว ผู้ถือบัตรคนจนไม่มีสิทธิรับเงินในส่วนนี้ ในการเปิดมาตรการ "เราชนะ" จึงมีผู้ถามกันมากว่า ตกลงบัตรคนจน จะถูกตัดสิทธิหรือเปล่า?
ในประเด็นนี้ นายอาคม ตอบชัดว่า กลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยหลักการแล้ว น่าจะได้หมด โดยรัฐจะเติมเงินเข้าไปให้ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยอัตโนมัติ
- ทำไมให้แค่ 2 เดือน ?
สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมรอบนี้ ภาครัฐไม่เปิดโครงการ 3 เดือนเหมือนที่เคยเปิดมาก่อน เรื่องนี้ นายอาคม มีคำตอบว่า
"เราเองก็พยายามจะประหยัดตังค์ให้ได้มากที่สุด ใช้เงินให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเมื่อมาดู 3,500 บาท 2 เดือน สำหรับคนที่เข้าโครงการคนละครึ่ง ได้ไปแล้ว 3,500 ถ้ารวมกัน ก็เท่ากับ 3,500 คูณ 3 แล้วยังมีส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟอีกด้วย" นายอาคม กล่าวอธิบาย
- คนละครึ่ง เพิ่มวงเงินอีกได้ไหม ?
ย้ายมาที่มาตรการ "คนละครึ่ง" รอบเก็บตก ซึ่งจะเปิดลงทะเบียนวันที่ 20 ม.ค.นี้ หลายคน มีคำถามว่า เพิ่มวงเงินให้มากกว่านี้ได้ไหม ? นายอาคม กล่าวตอบว่า..
"เรายึดเกณฑ์ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท แล้วรัฐบาลก็ช่วยออกครึ่งหนึ่ง จึงออกมาที่ตัวเลข 3,500 บาท"
- ทำไมให้แค่ 3 เดือน ?
ส่วนคำถามว่า ทำไมให้แค่ 3 เดือนนั้น นายอาคม กล่าวอธิบายดังนี้
"ไม่เคยบอกว่า จะไม่ทำต่อ เราจะดูไตรมาสต่อไตรมาส ต้องดูว่ากำลังซื้อของประเทศดีขึ้นไหม ประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ เราก็จะพิจารณาในส่วนนี้"
- มีข่าวว่า รัฐบาลถังแตก!?
"ยืนยันว่า เงินน่ะมีครับ เราใช้เงินกู้ ที่ออก พรก.กู้เงินมา 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเราแบ่งเป็น 3 ก้อน ใช้เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข , ใช้เพื่อเยียวยาซึ่งเราใช้ไปแล้ว รอบที่แล้ว เราใช้ไป 395,000 ล้านบาท อันที่สาม คือ การฟื้นฟู เมื่อโควิดคลี่คลายแล้ว เราก็จำเป็นต้องฟื้นฟู
เราจะไม่แตะเงินก้อนแรก คือ เพื่อสาธารณสุข มีก้อนที่สอง ก้อนที่สาม ซึ่งตังค์ยังมีอยู่ครับ เพราะเราใช้ไปในแผนที่สามนั้น เรามีอยู่ทั้งหมดประมาณ 4 แสนล้าน เราใช้ไปประมาณ 120,000 ล้าน ก็ยังมีเหลือ ฉะนั้น เงิน 1 ล้านล้าน ถือว่า ยังพอ"