เกษตร เล็งใช้พื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกพืชพังงานป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล
กระทรวงเกษตรฯ ขานรับปลูกพืชพลังงาน ในเขตพื้นที่ไม่เหมาะสม ป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล หวังสร้างรายได้ที่ยั่งยืนกับเกษตรกร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล ว่า เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้และเป็นทางเลือกใหม่ในการปลูกพืชของเกษตรกร ตามนโยบายสำคัญของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้หลักตลาดนำการผลิต
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำแนวทางส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานชีวมวล ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม พร้อมทั้งพิจารณากรอบแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนทางรายได้ของเกษตรกร
โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ เป็นต้น
นอกจากนี้การปลูกพืชพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ยังเป็นการแก้ไขปัญหาการปลูกพืชที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนต่ำ ไปสู่พืชทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และมีตลาดรองรับที่แน่นอน เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลของชุมชน ซึ่งในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็ว สามารถใช้เป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าชีวมวลตามนโยบายของกระทรวงพลังงานได้
ก่อนหน้านี้ นาย ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า “ไผ่” เหมาะสมที่จะใช้เป็นพืชพลังงานชีวมวล และกระทรวงพลังงาน สนใจจะนำไปพิจารณาเพื่อไปสู่การจัดตั้งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยให้สภาเกษตรกรแห่งชาติจะช่วยวิเคราะห์พื้นที่ศักยภาพ
ส่วนความห่วงใยและความกังวลเรื่องการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนกรณีมลภาวะ นั้นปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่แพร่หลายในการเผาไหม้สมบูรณ์จนแทบไม่ปล่อยมลภาวะเลย สิ่งที่น่าห่วงคือภาครัฐมีความจริงจังแค่ไหน เช่น พื้นที่ปลูก เกษตรกรปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็ต้องอนุญาตให้นำมาใช้ประโยชน์หรือเอามาขายได้ด้วย
ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงานต้องหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรมีความพร้อมมากที่จะนำศักยภาพอื่นๆมาพัฒนาเป็นเศรษฐกิจของตนเอง เพียงภาครัฐต้องเข้าใจและมีนโยบายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปัญหาของเกษตรกร