'สุวรรณภูมิ' ผุดเทอร์มินัลหลังใหม่ รับผู้โดยสาร 150 ล้านคน
แผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป้าหมายสูงสุด คือการเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี
ซึ่งตามแผนจะมีการพัฒนาอาคานผู้โดยสารหลังที่ 3 ด้านทิศใต้ และรันเวย์ 4 คาดการณ์ว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573 นั่นหมายความว่าอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เกตเวย์ทางการบินของประเทศไทย จะมีศักยภาพเต็มที่ในการรองรับนักท่องเที่ยว
โดยแผนแม่บทดังกล่าว วันนี้เริ่มสตาร์ทนับ 1 แล้ว ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธาน พร้อมด้วยประธานสภาพัฒน์าการเศรษฐกิจเเละสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และ ทอท. ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นพร้อมต้องกัน ไฟเขียวให้ ทอท.ดำเนินการพัฒนา 3 โครงการ วงเงินลงทุนราว 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารจาก 60 ล้านคนต่อปี เป็น 120 ล้านคนต่อปี ในปี 2567
โดยโครงการเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร 120 ล้านคนต่อปีนั้น เป็นการก่อสร้างและขยายอาคารผู้โดยสารหลัก คือ
1.อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expqnsion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร
2. อาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (West Expantion) รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 7,830 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 66,000 ตารางเมตร
3. โครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expantion) รองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปีและขยายได้ถึง 40 ล้านคนต่อปี งบประมาณลงทุน 41,260 ล้านบาทเพิ่มพื้นที่ 348,000 ตารางเมตร
เมื่อคำนวณรวมกับขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารหลัก หรืออาคารหลังปัจจุบัน ที่รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี บวกกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในปีหน้า รองรับผู้โดยสารอีก 15 ล้านคนต่อปี ก็จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 120 ล้านคนต่อปี
ประกอบกับแผนพัฒนาระยะสุดท้ายของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะมีการพัฒนาโครงข่ายถนน ทางเชื่อมอาคาร ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ทางด้านทิศใต้ มีพื้นที่ใช้สอย 5 แสนตารางเมตร รองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี และรันเวย์ที่ 4 ก็จะผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแห่งนี้ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 150 ล้านคนต่อปี
และเพราะเหตุใด ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นพร้อมต้องกันให้ ทอท. เร่งเครื่องลงทุน เพิ่มขีดความสามารถ ซึ่งอาจมีคำถามว่า ในช่วงโควิด -19 อุตสาหกรรมการบินซบเซา และปริมาณผู้โดยสารก็ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ การลงทุนมีความเสี่ยงเกินไปหรือไม่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต้องเผชิญกับความแออัด เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารสูงถึง 60 ล้านคนต่อปี ในขณะที่ขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารหลัก สามารถรองรับได้เพียง 45 ล้านคนต่อปีเท่านั้น ซึ่งเราเล็งเห็นแล้วว่า ทอท. มีความจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถ เพราะแม้ว่าตอนนี้ผู้โดยสารยังน้อย แต่รัฐบาลก็ส่งสัญญาณเสมอว่าวัคซีนจะมีการฉีดอย่างแน่นอนในปีนี้ และทั้งโลกก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นโควิด-19 จะคลี่คลาย และเชื่อว่าในปี 2565 สถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ
ดังนั้น ทอท.ต้องใช้โอกาสนี้ ในการเพิ่มขีดความสามารถให้พร้อม เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศ เนื่องจากรายได้ของไทยมาจากการท่องเที่ยว โดย 80% มาจากทางอากาศ หากเตรียมให้พร้อม ก็จะเป็นโอกาสสำคัญ อีกทั้งการลงทุนเม็ดเงินสูงเกือบ 6 หมื่นล้านนี้ แม้จะเป็นการทยอยลงทุน แต่ถือเป็นการผลักดันเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจอย่างมาก อีกทั้งประเด็นสำคัญ คือการปรับตัวในยุคปกติใหม่ หรือ New normal ที่จำเป็นต้องมีระยะห่าง ทำให้อาคารผู้โดยสารจำเป็นต้องมีช่องว่างของการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพียงพอ ไม่ให้เกิดความแออัด
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ ทอท. เร่งทบทวนแผน ประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต สอบถามความคิดเห็นจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ถึงแผนพัฒนาในครั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ก่อนรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน มี.ค.นี้
โดยในการประชุมครั้งนี้ ยังตอกย้ำด้วยว่า ที่ประชุม ไม่ได้มองเพียงว่าวันนี้และปีหน้า แต่สิ่งที่มองคืออนาคต การพัฒนาทั้ง 3 โครงการจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับผู้โดยสารจาก 60 ล้านคนต่อปี เป็น 120 ล้านคนต่อปี และเมื่อปีการก่อสร้างเทอร์มินัล 3 รวมถึงรันเวย์ 4 ในอนาคต ก็จะสอดคล้องไปกับแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม ในเป้าหมายรองรับผู้โดยสารทางอากาศ 150 ล้านคนต่อปี