เอกชนผนึกสู้วิกฤติ 'โควิด' แห่สร้างโรงพยาบาลสนาม
การติดเชื้อจำนวนมากในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และภาคตะวันออก ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงจำนวนเตียงในโรงพยาบาลที่อาจไม่เพียงพอ จึงมีภาคเอกชนให้ความร่วมมือภาครัฐเพื่อสร้างโรงพยาบาลสนามในหลายจังหวัด
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ส.อ.ท.ร่วมกับพันธมิตร เตรียมที่จะเร่งสร้างโรงพยาบาลสนาม 1 แห่ง ใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งรองรับประชาชนได้ 200 เตียง โดยขณะนี้มีเอกชนเสนอพื้นที่รวม 3 รูปแบบ 1.ที่ดินเปล่า 2.อาคาร 3.โกดัง
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนปรับปรุงติดตั้งระบบสาธารณูปโภค 6-10 ล้านบาท ซึ่ง ส.อ.ท. จะเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามการเลือกพื้นที่จะต้องเข้าไปคุยกับชุมชนโดยรอบก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากไม่มีการคัดค้านก็จะลงมือดำเนินการได้ทันที
“ในการสร้างโรงพยาบาลสนามจะต้องได้รับความยินยอมจากพื้นที่โดยรอบ หากได้อาคารเปล่า หรือโกดังเปล่าก็จะพัฒนาเป็นโรงพยาบาลสนามได้เร็วกว่าการทำในที่ดินเปล่า ซึ่ง ส.อ.ท.จะนำร่องพื้นที่ จ.สมุทรสาครก่อน เพราะแรงงานต่างด้าวติดโควิด-19 เป็นจำนวนมาก และแรงงานต่างด้าวอาจเข้าถึงความช่วยเหลือได้ไม่ดีเท่ากับคนไทย จึงได้นำร่องใน จ.สมุทรสาคร ส่วนในพื้นที่อื่นจะพิจารณาตามความต้องการ”นายสุพันธุ์ กล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาโรงพยาบาลสนามของภาคเอกชนได้มอบพื้นที่ให้ภาครัฐดำเนินการ ซึ่งพื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน คือ จ.สมุทรสาคร เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยภาคเอกชนร่วมกับหอการค้าจังหวัดได้มอบพื้นทีเพื่อจัดสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วย และการรับความช่วยเหลืออุปกรณ์การแพทย์
"ล่าสุดได้เชิญชวนร่วมกันบริจาคเงินเพื่อจัดสร้างห้องน้ำสำเร็จรูปในโรงพยาบาลสนาม จ.สมุทรสาคร โดยหอการค้าไทยได้ร่วมกับเครือเอสซีจีดำเนินการก่อสร้าง เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วย"นายกลินท์ กล่าว
นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ขณะนี้ จ.สมุทรสาคร มีโรงพยาบาลสนามที่ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร และบริษัท พัทยา ฟู้ด อินดัสตรี จำกัด รวมทั้งล่าสุดบริษัท วัฒนาฟาร์ม จำกัด ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร มอบ มอบพื้นที่และอาคารโกดังโรงงาน 2 หลังเนื้อที่เกือบ 5 ไร่ ที่ ต.พันท้ายนรสิงห์ เพื่อให้ใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งมีภาคเอกชนมอบพื้นที่อีก 49 ไร่ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับเป็นโรงพยาบาลสนามอีก 1 แห่ง หากจำเป็นจะตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามได้ทันที
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในจ.สมุทรสาครก็ตรวจพบผู้ติดเชื้อทุกวัน ทางสาธารณสุขก็พยายามตรวจสอบเชิงรุก ในส่วนของผลกระทบเศรษฐกิจโดยรวมที่จะกลับมาฟื้นตัวได้นั้นประเมินว่าต้องดูหลังสิ้นเดือนม.ค.นี้ไปก่อนถึงจะประเมินอีกครั้งหนึ่ง
นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า จ.ระยองมีโรงพยาบาลสนามในพื้นที่บ้านหวายกรอง อำเภอบ้านค่าย และรีสอร์ตอีก 1 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลสนาม แบบ Hospitel รวม 2 แห่งรับได้ 170 เตียง รวมกับโรงพยาบาลที่มีอยู่ 200 เตียง เป็นทั้งหมด 370 เตียง ซึ่งเพียงพอที่จะรับผู้ป่วยโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เริ่มน้อยลง
ทั้งนี้ สิ่งที่หอการค้าระยองต้องการมากที่สุดในขณะนี้คือการเยียวยาภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบมาก อย่างภาคท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท เสียหายมากถึง 90 % ภาคค้าปลีกยอดขายหายไป 50-70% ดังนั้นจำเป็นต้องรีบฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยทางหอการค้าระยองคาดหวังว่า สถานการณ์การติดเชื้อจะสถานการณ์คลี่คลายได้ภายในเดือน ม.ค.นี้
“อยากให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดมาบริหารเองในการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจภายในจังหวัด ปลดล็อคพื้นที่สีแดง พักชำหระหนี้ เงินกู้ซอฟโลน มาตรการเยียวยาเหล่านี้ต้องรีบทำ ไม่เช่นนั้นธุรกิจแย่ลงไปมากกว่านี้”นายนพดล กล่าว